ไม่พบผลการค้นหา
หน่วยงานอิสระของรัฐบาลสหรัฐฯ เปิดแพลตฟอร์มใช้ดาวเทียมติดตาม และวิเคราะห์ความเคลื่อนไหวเขื่อนจีนในแม่น้ำโขง ชี้เป็นภัยคุกคามชาติปลายน้ำ

สถาบันวิจัยสติมสันได้เปิดตัว แพลต์ฟอร์มออนไลน์ศูนย์สังเกตการณ์เขื่อนแม่น้ำโขงซึ่งได้รับเงินทุนสนับสนุนจากกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ภายใต้โครงการที่ชื่อว่า The Mekong Dam Monitor เพื่อติดตาม วิเคราะห์ และเผยแพร่ข้อมูลการเปลี่ยนแปลงของระดับในแม่น้ำโขงที่เกิดจากเขื่อนกั้นแม่น้ำของจีน นับเป็นการเปิดแนวรบใหม่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ระหว่างสองชาติมหาอำนาจ

ไบรอัน อีเลอร์ จากสถาบันวิจัยสติมสัน กล่าวว่า โครงการนี้จะตรวจสอบเขื่อนอย่างน้อย 11 แห่งซึ่งมีการบริหารจัดการที่ซับซ้อนเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตกระแสไฟฟ้าพลังน้ำในประเทศจีนเป็นหลัก โดยไม่คำนึงถึงผลกระทบของประชากรกว่า 60 ล้านคนที่อยู่ท้ายเขื่อนซึ่งต้องอาศัยแม่น้ำเป็นแหล่งดำเนินชีวิตด้านการประมงและการเกษตร

สติมสัน ยังใช้ภาพถ่ายดาวเทียมทำข้อมูลที่เป็นตัวชี้วัดความชื้นระดับผิวดิน (surface wetness) ซึ่งแสดงให้เห็นว่าพื้นที่ใดในภูมภาคลุ่มน้ำโขง ชุ่มชื้นหรือแห้งแล้งกว่าปกติ ซึ่งบ่งชี้ว่าการสร้างเขื่อนของจีนกระทบต่อธรรมชาติการไหลของแม่น้ำมากน้อยเพียงใด โดยข้อมูลเหล่านี้เปิดให้สาธารณชนเข้าถึงได้แบบเกือบเรียลไทม์ตั้งแต่วันที่ 15 ธ.ค. นี้เป็นต้นไป

สำหรับแม่น้ำโขงซึ่งมีความยาว 4,350 กิโลเมตร หรือมีอีกชื่อว่า "ล้านช้าง" เริ่มต้นไหลจากจีน ผ่านมายังเขตเมียนมา, ลาว, ไทย, กัมพูชา และออกสู่ทะเลบริเวณประเทศเวียดนาม แม่น้ำโขงนับเป็นเส้นเลือดหลักที่หล่อเลี้ยงชีวิตของผู้คนในอุษาคเนย์มายาวนาน แต่ปัจจุบันแม่น้ำสายนี้กลายเป็นแนวรบใหม่ในภูมิภาคระหว่างจีน-สหรัฐฯ

ก่อนหน้านี้ เมื่อ 4 ธ.ค. สถาบันวิศวกรรมพลังงานหมุนเวียนของจีน (China Renewable Energy Engineering Institute) ปฏิเสธงานวิจัยของสหรัฐฯ ที่ระบุว่า การสร้างเขื่อนของจีนส่งผลต่อระดับน้ำในแม่น้ำ ทำให้เมื่อปี 2562 แม่น้ำโขงตอนล่างมีระดับน้ำลดต่ำสุดในรอบหลายสิบปี กระทบวิถีชีวิตของประชากรหลายสิบล้านคน 

สถาบันวิจัยของจีนอ้างว่า เขื่อนผลิตไฟฟ้าในแม่น้ำโขงสร้างคุณประโยชน์ต่อประเทศเพื่อนบ้านที่อยู่ตลอดริมแม่น้ำอย่างชัดเจน อาทิ การกักเก็บน้ำในฤดูแล้ง หรือการป้องกันน้ำท่วมช่วงฤดูน้ำหลากให้แก่ประเทศปลายน้ำ

ทั้งนี้ จีนและสหรัฐต่างมีโครงการความร่วมมือกับชาติในลุ่มแม่น้ำโขงของตัวเอง โดยจีนมีโครงการความร่วมมือล้านช้าง-แม่โขง ส่วนสหรัฐมีโครงการแม่โขง-สหรัฐ ทั้งสองโครงการมีจุดมุ่งหมายเดียวกันคือการแสวงหาพันธมิตรเพื่อขยายอิทธิพลทางการเมืองและปกป้องผลประโยชน์ในลุ่มน้ำโขง


ข่าวที่เกี่ยวข้อง :

ที่มา : CNA