กลุ่มรัฐอิสลามหรือไอเอสออกมาอ้างความรับผิดชอบและโพสต์วิดีโอระบุ พวกเขาเป็นผู้อยู่เบื้องหลังการก่อเหตุโจมตีศาลาว่าการโครคัส เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา (22 มี.ค.) อย่างไรก็ดี เจ้าหน้าที่ของทางการรัสเซียอ้างโดยไม่มีหลักฐานว่า ยูเครนมีส่วนเกี่ยวข้องกับการก่อการร้ายในครั้งนี้ ในขณะที่ทางการยูเครนออกมาโจมตีคำกล่าวอ้างของรัสเซียว่า "ไร้สาระ"
ทางการรัสเซียระบุชื่อจำเลยทั้ง 4 คน ได้แก่ ดาเลร์ดซอน เมียร์โซเยฟ, ไซดากรามี มูโรดาลี ราชาบาลิโซดา, ชัมซิดิน ฟาริดูนี และ มูฮัมหมัดโซเบียร์ เฟย์ซอฟ โดยจำเลย 3 คนถูกตำรวจสวมหน้ากากปิดตา และนำตัวเดินเข้าไปในศาลแขวงบาสมานีในกรุงมอสโก ทั้งนี้ ภาพที่ปรากฏบ่งชี้ว่าจำเลยทั้ง 4 คนได้รับบาดเจ็บตามร่างกายทุกคน
รายงานระบุว่า ดวงตาของเมียร์โซเยฟและราชาบาลิโซดามีรอยฟกช้ำ และหูของราชาบาลิโซดาถูกพันผ้าไว้อย่างแน่นหนา เนื่องจากหูของเขาเกิดการฉีกขาดระหว่างการจับกุมตัวหลังการก่อเหตุกราดยิง ในขณะเดียวกันใบหน้าของฟาริดูนีบวมช้ำอย่างรุนแรง พร้อมกันนี้ เฟย์ซอฟถูกนำตัวขึ้นศาลบนรถเข็น และตามรายงานของสำนักข่าว Reuters ระบุว่า ดวงตาของเขาอาจบอดไปข้างหนึ่ง
คำแถลงของศาลรัสเซียระบุว่า เมียร์โซเยฟเป็นพลเมืองจากทาจิกิสถาน และ "ยอมรับความผิดทั้งหมด" ในขณะที่ราชาบาลิโซดาให้การ "ยอมรับผิด" เช่นกัน ทั้งนี้ ศาลรัสเซียระบุเสริมว่า จำเลยทั้ง 4 คนจะถูกควบคุมตัวเอาไว้ก่อนการพิจารณาคดีจนถึงวันที่ 22 พ.ค. เป็นอย่างน้อย
เมียร์โซเยฟและราชาบาลิโซดาถูกจับกุมไม่กี่ชั่วโมง หลังจากมือปืน 4 คนก่อเหตุกราดยิงเมื่อคืนวันศุกร์ที่ผ่านมา ด้วยการบุกโจมตีศาลาว่าการโครคัส ซึ่งตั้งอยู่บริเวณชานกรุงมอสโก โดยมือปืนได้เริ่มยิงใส่ผู้คนราว 6,000 คนที่เข้าร่วมคอนเสิร์ตร็อก ก่อนที่ต่อมา คนร้ายจะได้ก่อเหตุจุดไฟเผาสถานที่จัดงาน ทำให้หลังคาของอาคารพังถล่มลงมา
ทางการรัสเซียระบุว่าจนถึงขณะนี้ มีผู้เสียชีวิตจากเหตุบุกโจมตีในครั้งนี้แล้วอย่างน้อย 137 ราย และยังมีบาดเจ็บอีกมากกว่า 100 ราย
ภายในเวลาไม่กี่ชั่วโมงหลังจากเหตุโจมตี กลุ่มไอเอสออกมากล่าวอ้างว่าพวกเขาเป็นผู้รับผิดชอบต่อเหตุกราดยิงในครั้งนี้ โดยกลุ่มไอเอสยังระบุอีกว่า พวกเขาได้ดำเนินการก่อเหตุโดยกลุ่มปฏิบัติการของกลุ่มรัฐอิสลามในโคราซาน หรือ ไอเอส-เค ก่อนที่ในเวลาต่อมา ทางกลุ่มไอเอสจะได้เผยแพร่ภาพคนร้ายยิงใส่ฝูงชนภายในคอนเสิร์ตฮอลล์ โดยวิดีโอดังกล่าวได้รับการยืนยันว่าเป็นของจริงโดยสำนักข่าว BBC
อย่างไรก็ดี ไม่มีเจ้าหน้าที่รัสเซียคนใดออกมายอมรับคำกล่าวอ้างดังกล่าวของกลุ่มไอเอส แต่ทางการรัสเซียกลับระบุเป็นนัยโดยไม่มีหลักฐานว่า คนร้ายได้รับความช่วยเหลือจากยูเครน และคนร้ายอยู่ในภูมิภาคไบรอานสก์ ที่กำลังเตรียมข้ามพรมแดนในขณะที่เกิดการจับกุมตัวขึ้น
เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา (24 มี.ค.) โวโลดีเมอร์ เซเลนสกี ประธานาธิบดียูเครน ออกปฏิเสธคำกล่าวอ้างดังกล่าวของรัสเซีย ในขณะที่หน่วยงานข่าวกรองทางทหารของยูเครนระบุว่า คำกล่าวอ้างของรัสเซียเป็นเรื่อง "ไร้สาระ" ที่พยายามอ้างว่าผู้ก่อเหตุพยายามข้ามชายแดนยูเครนไปรัสเซีย ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีทุ่นระเบิดหนัก
ทั้งนี้ นอกจากจำเลยทั้ง 4 คนแล้ว ยังมีผู้ถูกจับกุมอีก 7 คนในรัสเซีย ซึ่งต่างถูกตั้งข้อต้องสงสัยว่ามีส่วนช่วยเหลือในการก่อเหตุโจมตีดังกล่าว
มีรายงานว่าสหรัฐฯ ออกการแจ้งเตือนแก่รัสเซียเมื่อต้นเดือนที่ผ่านมานี้ ว่ารัสเซียอาจเกิดเหตุโจมตีครั้งใหญ่ในประเทศขึ้น ก่อนที่สหรัฐฯ จะออกประกาศเตือนแก่พลเมืองของตัวเองที่อาศัยอยู่ในรัสเซียในเวลาต่อมา อย่างไรก็ดี การแจ้งเตือนของสหรัฐฯ ถูกปฏิเสธอย่างสิ้นเชิง โดยทางการรัสเซียโจมตีว่าการแจ้งเตือนเป็นโฆษณาชวนเชื่อ และเป็นความพยายามที่จะเข้าไปแทรกแซงการเลือกตั้งประธานาธิบดีรัสเซียโดยสหรัฐฯ
ทางการสหรัฐฯ ออกมากล่าวหลังการโจมตีในกรุงมอสโกว่า ข้อกล่าวอ้างของไอเอสว่าเป็นผู้อยู่เบื้องหลังในการก่อเหตุโจมตีครั้งนี้ ไม่มีเหตุควรเชื่อได้ว่าเป็นเรื่องไม่จริง
เหตุโจมตีครั้งนี้ไม่ใช่ครั้งแรกที่ไอเอสและพันธมิตรโจมตีรัสเซีย หรือสร้างความเสียหายทางผลประโยชน์ของรัสเซียในต่างประเทศ โดยก่อนหน้านี้ กลุ่มไอเอสอ้างว่าพวกเขาเคยทิ้งระเบิดใส่เครื่องบินรัสเซียเหนืออียิปต์เมื่อปี 2558 ในขณะยังมีคนบนเครื่องบิน 224 คน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นพลเมืองรัสเซีย นอกจากนี้ กลุ่มไอเอสยังอ้างว่าพวกเขาได้ก่อเหตุระเบิดบนรถไฟใต้ดินของนครเซนต์ปีเตอร์สเบิร์กเมื่อปี 2560 ซึ่งส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต 15 ราย
นักวิเคราะห์ความมั่นคงกล่าวว่า กลุ่มไอเอสถือว่ารัสเซียเป็นเป้าหมายหลักด้วยเหตุผลหลายประการ ซึ่งรวมถึงบทบาทของรัสเซียในการทำลายฐานอำนาจของไอเอสในซีเรีย ขณะเดียวกัน รัสเซียยังช่วยคุ้มครองระบอบการปกครองของ บาชาร์ อัล-อัสซาด ประธานาธิบดีซีเรีย รวมถึงการทำสงครามอันโหดร้าย 2 ครั้งของรัสเซียในเชชเนียที่ประชากรส่วนใหญ่เป็นมุสลิมในปี 2537 ถึง 2551 และ การรุกรานอัฟกานิสถานในยุคสหภาพโซเวียต
กลุ่มไอเอส-เคทำปฏิบัติการส่วนใหญ่ในอัฟกานิสถานและบางส่วนในพื้นที่เอเชียกลาง โดยชื่อของกลุ่มตั้งมาจากชื่อดินแดนเก่าของพื้นที่ในบริเวณที่พวกเขาทำปฏิบัติการ นอกจากนี้ กลุ่มไอเอส-เคยังเป็นหนึ่งในกลุ่มที่มีความสามารถและกระตือรือร้นมากที่สุดในกลุ่มไอเอส และเป็นผู้รับผิดชอบต่อเหตุโจมตีฆ่าตัวตายที่สนามบินกรุงคาบูล อัฟกานิสถาน ระหว่างการถอนกำลังสหรัฐฯ ที่วุ่นวายในเดือน ส.ค. และ ก.ย. 2564
กลุ่มไอเอส-เคยังมักออกมาวิพากษ์วิจารณ์ วลาดิเมียร์ ปูติน ประธานาธิบดีรัสเซีย ในโฆษณาชวนเชื่อของกลุ่มอีกด้วย
ที่มา: