ไม่พบผลการค้นหา
นักวิชาการแนะเพิ่มแนวทางเยียวยากลุ่มที่ได้รับผลกระทบโควิด-19 มากกว่าแค่การแจกเงินผ่าน ‘เราชนะ’ ชี้มี ‘คนชนะ’ แต่ก็มี ‘คนแพ้’

เพิ่งผ่านมติจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) ไปสดๆ ร้อนๆ ‘เราชนะ’ มาตรการแจกเงินเยียวยาผลกระทบโควิด-19 รอบใหม่ เดือนละ 3,500 บาทต่อเนื่อง 2 เดือน รวมทั้งสิ้น 7,000 บาท ประมาณการเบื้องต้นว่าจะมีผู้เข้าข่ายได้รับเยียวยาประมาณ 30 ล้านคน โดยรายละเอียดทั้งหมดจะเสนอให้ ครม.อนุมัติในวันที่ 19 ม.ค.นี้

‘นณริฏ พิศลยบุตร’ นักวิชาการอาวุโสสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) เปิดเผยกับ ‘วอยซ์’ ว่า เห็นด้วยกับมาตรการแจกเงินเพื่อเยียวยาผลกระทบโควิด-19 ด้วยเหตุผลหลัก 2 ประการ คือ

  • ประการแรก ปัญหาการระบาดรอบใหม่ เกิดขึ้นตั้งแต่วันที่ 20 ธ.ค. 2563 ณ ปัจจุบันจะเห็นว่าจำนวนผู้ติดเชื้อยังไม่ได้ลดลง หรือเฉลี่ยประมาณ 200 กว่ารายต่อวัน จะเห็นว่ารอบนี้มีการระบาดที่หนักกว่ารอบแรก โดยรอบแรกจุดพีคสูงสุดของจำนวนผู้ติดเชื้ออยู่ประมาณ 188 รายต่อวันเท่านั้น
  • ประการที่สอง ประเด็นเรื่องระยะเวลา รอบแรกจบภายในเดือนครึ่งถึงสองเดือน จำนวนผู้ติดเชื้อลดลงอย่างมีนัยสำคัญ แต่ปัจจุบันผ่านมาแล้วเกือบ 1 เดือนแต่ยังไม่จบ ประมาณการว่า สถานการณ์ที่ดีที่สุดน่าจะลากยาวไปถึงเดือน เม.ย. 2564 หมายความว่าจะใช้ระยะเวลาอีก 3-4 เดือน ดังนั้นสถานการณ์จึงถือว่ารุนแรง
“ตรงนี้ยิ่งใหญ่และรุนแรง หนักกว่า ยาวนานกว่า ภาครัฐควรที่จะเข้ามาช่วยเหลือแน่นอน”
สัม อ.นณริฎ
  • นณริฏ พิศลยบุตร


3,500 บาท 2 เดือน ไม่พอเยียวยา

แม้จะมีการจ่ายเงินเยียวยา 3,500 บาท แต่นักวิชาการท่านนี้ มองว่าไม่เพียงพอ โดยเฉพาะกลุ่มที่ได้รับผลกระทบหนักโดยตรง พร้อมยกตัวอย่างให้เห็นภาพว่า กลุ่มคนที่เป็นแรงงานพื้นฐาน และได้รับผลกระทบจากโควิด-19 รอบใหม่ ยังอยู่ในสถานการณ์ที่น่าเป็นห่วง

แรงงานพื้นฐานที่ได้ค่าแรง 300 บาทต่อวัน 1 เดือนทำงานเฉลี่ย 26 วัน เท่ากับมีรายได้ประมาณ 8,000 บาทต่อเดือน แม้จะได้รับการเยียวยาในรอบแรกผ่าน ‘เราไม่ทิ้งกัน’ เดือนละ 5,000 บาท แต่ยังขาดอีก 3,000 บาท จึงจะพอกับรายได้พื้นฐานที่เคยได้

ดังนั้นการแก้ปัญหาของคนกลุ่มนี้ คือ การนำเงินเก็บออกมาใช้ (ไม่ใช่ทุกคน) หรือผ่านการหยิบยืม แปลว่ายิ่งต้องทำงานหนักขึ้น ในขณะที่การเยียวยารอบนี้อยู่ที่ 3,500 บาทต่อเดือน เท่ากับยังขาด หรือต้องหาเพิ่มอีก 4,500 บาทต่อเดือน สะท้อนชัดเจนว่าจะยิ่งต้องทำงานหนักมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสถานการณ์ที่รุนแรงจึงเป็นเรื่องยากที่จะเพียงพอ เพราะเงินเก็บถูกไปใช้กับรอบแรก รวมถึงได้หยิบยืมไปในรอบแรกแล้วเช่นกัน

“สมัยก่อนเขาอาจจะมีเงินออมมาโปะได้ แต่รอบนี้ เงินออมใช้กับรอบแรกไปแล้ว การหยิบยืมอะไรต่างๆ เขาก็ได้หยิบยืมไปแล้วในรอบแรก ฉะนั้นเขาจะลำบากมากขึ้นแน่นอน เงิน 3,500 บาท อาจจะไม่พอ”


ข้อดี-ข้อเสียของ Negative List

แม้ว่า ‘เราชนะ’ ภาครัฐต้องการช่วยเหลือแบบ Negative List ซึ่งข้อดีคือสามารถเข้าถึงคนหมู่มาก และรวดเร็วกว่าการเยียวยารอบแรกผ่าน ‘เราไม่ทิ้งกัน’ แบบ Positive List เพราะต้องไล่ตามหาทีละฐานข้อมูล ทั้ง เกษตรกร รวมถึงผู้ประกันตนในระบบประกันสังคม ดังนั้นต้องเช็กหลายฐานข้อมูล ต้องตรวจสอบระหว่างฐานข้อมูล จึงทำให้เสียเวลา แต่หากให้ไปเลยทีเดียวแล้วทำการตัดกลุ่มที่ไม่เข้าข่ายออก ภาครัฐมีฐานข้อมูลอยู่แล้วว่าใครอยู่ในระบบประกันสังคม ข้าราชการ รัฐวิสาหกิจ จะตัดได้รวดเร็วทำให้การเยียวยาทำได้รวดเร็วมากกว่า

อย่างไรก็ตามแม้ว่าประเด็นการเยียวยาอาจทำได้รวดเร็วขึ้น แต่ในภาพกว้างยังมีปัญหา คือ ความเหมาะสม ความเพียงพอ ซึ่งประเมินแล้วว่าไม่น่าจะเพียงพอแก้ไขปัญหาได้ เพราะเมื่อมีการเยียวยาที่ฐานกว้าง จึงนับรวมการเยียวยาของคนที่ไม่ได้รับผลกระทบ และคนที่ได้รับผลกระทบอยู่ร่วมกัน จึงเกิดกลุ่มที่เป็น ‘คนแพ้’


‘เราชนะ’ แต่มี ‘คนแพ้’

กลุ่มที่ยังคงน่าเป็นห่วงมีอย่างน้อย 3 กลุ่มที่รัฐบาลควรเร่งช่วยเหลือ

  • กลุ่มแรก คือ กลุ่มที่ยังฟื้นไม่ได้จากวิกฤตรอบแรก ยกตัวอย่าง เด็กในครอบครัวยากจน บางคนอาจจะต้องออกจากการเรียนกลางคัน หรือ บางคนอาจจะไม่มีอาหารกลางวันได้อย่างเพียงพอ ขาดสารอาหาร รวมไปถึงกลุ่มคนที่ตกงานรอบแรก และยังหางานไม่ได้ โดยเฉพาะกลุ่มคนเปราะบาง ทั้ง ผู้สูงอายุ คนพิการ หากออกจากตลาดแรงงานจากที่เคยมีงานทำอยู่แล้วรอบแรกตกงานไป การหางานใหม่ คือสิ่งที่ทำได้ยาก
  • กลุ่มสอง คือ กลุ่มที่ภาครัฐเข้มงวด สั่งปิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจ กลุ่มนี้ได้รับผลกระทบมากกว่ากลุ่มอื่นๆ อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
  • กลุ่มสุดท้าย คือ ผู้ติดเชื้อและมีความเสี่ยงติดเชื้อ มีต้นทุนในการที่จะเข้าพื้นที่กักกัน หรือหากจะกักตัวเอง 14 วัน ก็เป็นเรื่องยาก เพราะบางคนจำเป็นต้องหารายได้ หาเช้ากินค่ำ มีลูก-ภรรยา-พ่อแม่ ที่ต้องดูแล หรือบางคนมีหนี้ต้องจ่าย ซึ่งจะไปต่อว่าหรือโทษพวกเขาเหล่านี้ย่อมไม่ได้


‘โมเดลขนมชั้น’ เยียวยาผู้ได้รับผลกระทบตรงจุด

หนึ่งในข้อเสนอสำคัญ คือ อยากให้ภาครัฐ Add On มาตรการช่วยเหลือแบบขนมชั้น แบ่งการช่วยเหลือออกเป็นเลเยอร์ ซึ่งเลเยอร์แรกปฏิเสธไม่ได้ว่าเงินเยียวยาเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ แต่การให้เงิน 3,500 บาท 2 เดือน ไม่เพียงพอแน่นอน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มที่ถูกภาครัฐเข้มงวดต่างๆ ดังนั้นจึงต้องมีเลเยอร์ถัดมา ต้องไปดูปัญหาให้รอบด้าน เช่น เด็กบางคนอาจจะแค่ต้องการเข้าถึงอาหารกลางวัน การแก้ไขปัญหาตรงนี้แค่ให้เขาสามารถมีสารอาหารครบ เข้าเรียนออนไลน์ได้

ด้านแรงงานอาจจะต้องการการฝึกอบรบ ถ้าเป็นธุรกิจบางรายอาจต้องการแค่สายป่าน มีเงินกู้ให้ประคองตัว เสริมสภาพคล่องให้อยู่รอดแล้ว แต่ก็มีปัญหาการเข้าถึงแหล่งเงินทุนที่ต้องปลดล็อก

ขณะที่บางคนอาจจะขอให้ภาครัฐร่วมจ่าย โดยเฉพาะประเด็นเรื่องของค่าจ้างแรงงานเพื่อที่จะได้ไม่ไล่คนงานออก ซึ่งตรงนี้มีหลากหลายรูปแบบที่เป็นไปได้ ภาครัฐควรที่จะเข้าไปศึกษาแต่ละกลุ่ม ไปดูข้อเสนอของเขา อย่างไรก็ตามอยากให้ปรึกษาทางวิชาการด้วยเพราะข้อเสนอบางตัวอาจไม่มีความเหมาะสม

“ซอฟต์โลนของธนาคารแห่งประเทศไทยที่ออกมา 5 แสนกว่าล้าน ท้ายสุดปล่อยไปได้แค่แสนกว่าล้าน แล้วคนที่ได้ก็ไม่ใช่คนที่เดือนร้อนจริง 100% คนที่เดือดร้อนจริงกลับเข้าไม่ถึง ในแง่ปฏิบัติก็ยังเกิดปัญหาอยู่”


บูรณาการภาครัฐ ป้องกันสูญเสียต้นทุนทางเศรษฐกิจ

อีกหนึ่งแนวทางสำคัญของการเยียวยาโควิดรอบใหม่ คือ การบูรณาการของหน่วยงานภาครัฐให้มีประสิทธิภาพสูงสุด เพราะการขาดบูรณาการของภาครัฐนับเป็นปัญหาโลกแตกเกิดขึ้นกับทุกปัญหาในประเทศ ยกตัวอย่างล่าสุด ภาครัฐสนับสนุนการทำงานที่บ้านเพื่อลดการแพร่ระบาดของโรค ซึ่งสิ่งที่คนเดินทางคาดหวังคือความแออัดของรถเมล์จะลดลง แต่สิ่งที่เกิดขึ้นกลับมีการลดจำนวนให้บริการรถเมล์ลง สะท้อนได้ชัดเจนว่าการบูรณาการของภาครัฐมีปัญหา และเมื่อจะมีการเปิดลงทะเบียนรับเยียวยารอบใหม่ ระบบที่รองรับของภาครัฐ กลไกการตรวจสอบฐานข้อมูลต่างๆ หากไม่พร้อมก็จะเกิดปัญหาแบบรอบแรก เสียเวลา คิดเป็นต้นทุนทางเศรษฐกิจที่สูงอย่างเลี่ยงไม่ได้

เราไม่ทิ้งกัน-ทบทวนสิทธิ-ลานอเนกประสงค์ กรมประชาสัมพันธ์-โควิด


อย่าให้ต้องรอนาน

แม้ว่ารัฐบาลได้มีการระบุแล้วว่า จะพยายามเร่งมาตรการเยียวยาผ่าน ‘เราชนะ’ เพื่อให้ทันเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบภายในเดือน ก.พ.นี้ แต่ในมุมมองของนักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์ ระบุว่า ควรที่จะทำได้รวดเร็วมากกว่านี้ เพราะหากปล่อยไว้นานจะยากต่อการรักษา ไม่ต่างจากแผลที่ยิ่งปล่อยไว้นานก็จะยิ่งมีปัญหา

“รอบนี้วิกฤตเกิดขึ้นอย่างเร็วคือ 3-4 เดือนถึงจะจบ และวิกฤตเกิดแล้ว ตั้งแต่ 20 ธ.ค. นั่นหมายความว่า ณ ตอนนี้เกิดมาเกือบเดือนหนึ่งแล้ว เพราะฉะนั้นการเยียวยาของภาครัฐยิ่งเร็วยิ่งดี เหมือนเราเป็นแผล ยิ่งปล่อยไว้ก็ยิ่งมีปัญหา ภายในเดือน ก.พ. ผมยังคิดว่าช้าเกินไป”



ขวัญ โม้ชา
ผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจ Voice Online
0Article
0Video
0Blog