จากวิกฤตโลกร้อนหายนะที่กำลังคืบคลานมายังมนุษย์ กลายเป็นตัวจุดชนวนผู้คนเริ่มหันมาให้ความสำคัญต่อทรัพยากรธรรมชาติ เช่นเดียวกับประเทศไทยที่ตระหนักถึงพิษภัย หากไร้พื้นที่สีเขียวผลิตอากาศบริสุทธิ์ให้ผู้คน
สถานการณ์ป่าไม้ไทยอ้างอิงจากรายงานมูลนิธิสืบนาคะเสถียร พบว่า พื้นที่ป่าไม้ทั่วประเทศในปี พ.ศ. 2561-2562 จำนวน 102,484,072.71 ไร่ หรือคิดเป็น 31.68% ของประเทศ ซึ่งลดลงจากปี พ.ศ. 2560-2561 จำนวน 4,229.48 ไร่
ทว่าหลายพันโครงการทั้งจากภาครัฐและเอกชน ในการจัดอีเว้นท์ปลูกป่าทดแทนขยายอาณาเขตมาหลายทศวรรษ ต่างถูกตั้งคำถามโดยตลอดว่าตอบโจทย์หรือไม่ โดยเฉพาะกิจกรรมที่ทุ่มงบประมาณหลายสิบล้านเพื่อฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม เพราะภาพที่ถูกนำเสนอผ่านสื่อนั้น อาจไม่ได้เขียวขจีอย่างที่ผู้จัดหวังเสมอไป เมื่อต้นไม้เหล่านั้นไร้การเหลียวแลจากผู้ปรารถนา
'วอยซ์' สนทนา 'ผศ.ดร.พรเทพ เหมือนพงษ์' คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ อดีตเจ้าหน้าที่กรมป่าไม้ ฉายภาพผ่านงานวิจัยที่เขาศึกษา เพื่อไขคำตอบให้สังคมว่ารากไม้ที่ถูกฝังไว้จากอีเว้นท์ต่างๆ ทวีคูณหรือสูญเปล่า ?
"ส่วนตัวทำงานวิจัยเรื่องนี้จากข้อมูลที่เก็บมาตลอดของการศึกษา เราพบว่าถ้าเราให้ต้นไม้มันเติบโตเอง โดยที่เราปลูกเสร็จแล้วกลับเลย โอกาสที่ต้นไม้จะรอดตายจริงๆ ไม่ถึงครึ่ง"
อาจารย์จาก ม.เกษตรศาสตร์ เปิดประโยคชี้ให้เห็นถึงความบกพร่อง ผ่านการเอาใจใส่ที่ผู้ปลูกไม่หวนคืนมา เขาบอกต่อว่า บางพื้นที่แห้งแล้งมากๆ เช่น ป่าเต็งรัง ดินไม่มีน้ำ ต้นไม้บางครั้งรอดตายไม่ถึง 10% ปลูกไป 100 ต้น อาจจะไม่รอดถึง 10 ต้น
ในส่วนที่ต้นไม้รอดตายเติบโตดี พื้นที่แห่งนั้นจะมีการดูแลอย่างจริงจังมาก ต้องผ่านการวางระบบน้ำหรือวางระบบสปริงเกอร์ทุกต้นทั่วทั้งพื้นที่ ถ้าทำแบบนั้นอัตราจะรอดตายดี เกือบ 100 %
"ถามว่าปลูกในพื้นที่แห้งแล้งปลูกได้ไหม ปลูกได้แต่เราต้องดูแลมากเป็นพิเศษ ไม่ใช่ปลูกแล้วเราทิ้งเลย อันนั้นโอกาสรอดน้อยต่ำมากไม่ถึง 10% แน่นอน"
เขาย้ำให้เห็นถึงสภาพแวดล้อมที่ต้องใส่ใจมากกว่าภาพที่ถูกนำเสนอ เพราะที่ผ่านมาพอปลูกเสร็จก็กลับบ้าน ไม่ได้ติดตามส่วนใหญ่จะส่งให้เจ้าของพื้นที่ ซึ่งอาจจะเป็นราชการหรือเอกชน คนปลูกกลับบ้านไปแล้ว พอเป็นหน้าที่ของเจ้าของพื้นที่บางครั้ง อาจจะมีงานเยอะหรือไม่ได้มีหน้าที่ในการดูแลต้นไม้อย่างเดียว
เป็นความล้มเหลวที่โฟกัสเฉพาะการปลูกวันเดียวแล้วจบเลย ไม่ได้มองการดูแล โดยเฉพาะช่วงปีแรกหลังการปลูก
"เขาเรียกว่าให้เทวดาเลี้ยง เทวดาไม่เลี้ยงก็จบ บางครั้งมาปลูกหน้าหนาวฝนไม่ตก แล้วเทวดาที่ไหนจะมาเลี้ยง"
โจทย์ใหญ่ของการปลูกป่าต้องคำนึงถึงองค์ประกอบ ที่สอดคล้องกับระบบนิเวศน์ตามภูมิทัศน์ที่แตกต่างกัน หากไม่ศึกษาข้อมูลต้นไม้เหล่านั้น อาจเป็นข้อเสียมากกว่าประโยชน์
"สำหรับความสำเร็จ ถ้าจะวัดกันจริงๆ ก็วัดกันทั้งต้นไม้ที่เราปลูกว่ามันรอดไหมหรือมันโตไหม กลายเป็นป่าจริงหรือเปล่า อีเว้นท์ในแง่ดีของมันคือการสร้างความตระหนัก หรือความรู้ความเข้าใจความสำคัญของต้นไม้หรือป่า
"อีเว้นท์มันก็มีผลดี แต่ถ้าจะวัดในเรื่องของการปลูกป่า เราต้องตามไปดูว่าหลังจากเขาปลูกแล้ว ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐหรือเอกชน ต้นไม้เหล่านั้นมันรอดตายหรือเปล่า หรือกลายเป็นป่าอย่างที่เขาตั้งใจจริงๆ หรือเปล่า"
นักวิชาการสิ่งแวดล้อม ได้ขยายนิยามคำว่าป่า ว่าไม่ใช่แค่การเอาต้นไม้ไปใส่หลุมแล้วปลูกแค่นั้น คำว่าป่ามันมีความซับซ้อนในเรื่ององค์ประกอบของต้นไม้ มันต้องมีต้นไม้หลากหลายชนิด หลากหลายขนาดมีสิ่งมีชีวิตขนาดเล็กมีจุรินทรีย์มีสัตว์มากมาย ถ้าเราจะปลูกป่าเราต้องคำนึงถึงสภาพของป่าจริงๆ ด้วย เช่นจังหวัดเชียงใหม่ ที่สภาพธรรมชาติเป็นป่าเต็งรัง
"คุณบอกว่าคุณจะปลูกป่าคุณต้องดูว่าป่าเต็งรังมันมีต้นไม้อะไรอยู่บ้าง สภาพป่าเต็งรังจริงๆ เป็นยังไง แล้วคุณต้องปลูกเพื่อเลียนแบบตามสภาพธรรมชาตินั้น แต่ถ้าคุณเอาต้นอะไรก็ตามแต่ไปผสมปนเปกันกันโดยไม่สนใจสภาพธรรมชาติ นั่นเรียกว่าการปลูกต้นไม้ไม่ได้เรียกว่าการปลูกป่า"
เมื่อถามว่าเหตุใดอีเว้นท์การปลูกป่าถึงอยู่ในความสนใจของรัฐหรือเอกชน อดีตข้าราชการกรมป่าไม้ยกตัวอย่างให้เห็นคือ ส่วนหนึ่งมีทั้งหน่วยงานราชการทำเอง เช่นกรมป่าไม้และกรมอุทยานแห่งชาติฯ ในส่วนของเอกชนก็จะเป็นกิจกรรมที่เรียกว่า CSR ที่จะเป็นการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมต่างๆ ของบริษัท ซึ่งแต่ละปีก็จะมีเชิง ปลูกป่า, เก็บขยะ ซึ่งการทำกิจกรรมพวกนี้ และมีทั้งอีเว้นท์ที่จะทำการโปรโมตกิจกรรมนั้นๆ บางกิจกรรมก็จะไม่มีอีเว้นท์ซึ่งจะมีทั้งสองรูปแบบ
"ที่มาของกิจกรรมเรื่องปลูกป่าแล้วเป็นที่นิยมมากๆ เนื่องจากว่าภาพรวมของโลกก็ได้ เพราะพื้นที่ป่ามันลดลง ประเทศไทยมีพื้นที่ป่าน้อยกว่าเป้าหมายที่เราตั้งไว้ 128 ล้านไร่ ตอนนี้เรามี 102 ล้านไร่ เราต้องการป่าอีก 26 ล้านไร่ รวมถึงกระแสโลกร้อน เราจึงมักจะได้ยินคำว่าปลูกป่าลดปัญหาโลกร้อน"
'พรเทพ' บอกอีกว่าสำหรับปัจจุบันพื้นที่ป่าประเทศไทย 100% ถูกครอบครองไม่ว่าจะเป็นคนใดคนหนึ่งหรือหน่วยงานไหน การจะเพิ่มพื้นที่ป่าต้องไปเปลี่ยนพื้นที่เดิมเหล่านั้น ซึ่งอาจจะเป็นพื้นที่เกษตรกรรมหรือพื้นที่อาศัย ให้กลายมาเป็นป่าซึ่งมันไม่ใช่เรื่องง่าย ที่จะเปลี่ยนข้าวโพดให้เป็นป่า
บางทีเกษตรกรก็ต้องเลี้ยงปากเลี้ยงท้อง อันนี้เป็นเชิงนโยบายที่จะเปลี่ยนพื้นที่ตรงนั้นเป็นพื้นที่ป่า เราต้องสร้างแรงจูงใจให้เกษตรกรเห็นความสำคัญว่าปลูกป่าได้ผลตอบแทนอย่างไร เขาเชื่อว่าถ้ามันดีกว่าคนก็พร้อมจะเปลี่ยน
"ถ้าพูดถึงพื้นที่ตอนนี้ก็นิ่งๆ พื้นที่ป่าก็ไม่เพิ่มแต่ก็ไม่ได้ลด เนื่องจากนโยบายตอนนี้พยายามรักษาพื้นที่เดิมไว้ แล้วก็พยายามเพิ่มพื้นที่ใหม่ ป่าประเทศไทยแบ่งเป็น 2 กลุ่ม ถ้าป่าอนุรักษ์เราต้องการ 25% หรือ 80 ล้านไร่ ปัจจุบันใกล้ครบตามเป้าหมาย
"ที่ขาดอยู่คือป่าพืชเศรษฐกิจ คือเอามาปลูกแล้วตัดได้ เช่นเอามาทำกระดาษ เอามาทำไม้ฟืน เอามาทำเฟอนิเจอร์ สิ่งก่อสร้าง ตรงนี้คือนโยบายหลักว่าเราจะเพิ่มพื้นที่ป่า เราต้องไปปลูกผ่านนอกเขตป่า อันนี้คือความท้าทายของประเทศว่าจะทำอย่างไรว่าจะดำเนินการอีก 48 ล้านไร่"
ที่ผ่านมาหลายหน่วยงานได้ทุ่มงบประมาณหลายสิบล้านบาท เพื่อจัดอีเว้นท์เช่นเดียวกับกรณีดราม่าของ 'ฌอน บูรณะหิรัญ' ไลฟ์โค้ชชื่อดัง รวมถึง 'พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ' รองนายกรัฐมนตรี ซึ่งได้ร่วมแคมเปญปลูกป่าของเอกชน ผ่านวงเงิน 23,550,000 บาท เมื่อเวลาผ่านไป 8 เดือนต้นไม้ที่เขาได้ปลูกกลับไม่งดงาม
"ถ้าพูดถึงงบประมาณปลูกป่าของหน่วยงานรัฐบาล เขาจะมีต้นทุนประมาณ 3,900 บาท ต่อ 1 ไร่ คุณปลูก 10 ไร่ ก็ 39,000 บาท 100 ไร่ ก็ 390,000 บาท แต่เท่าที่เราดูอีเว้นท์ล่าสุด (เคสฌอน) ที่เขานำมาเผยแพร่ใช้งบไป 23.5 ล้าน คุณจะเห็นว่าทั้งหมดมันคือการจัดอีเว้นท์
"ถ้าเราคิดว่าป่า 1 ไร่ ใช้เงิน 3,900 บาท แล้วเอาเงิน 23.5 ล้านมาปลูกคุณจะได้ป่าเพิ่มอีกเป็นร้อยเป็นพันไร่ ซึ่งเราคิดว่าถ้ามีเป้าหมายเพื่อปลูกป่ามันน่าเสียดาย เพราะเราไปจัดอีเว้นท์แค่ไม่กี่วันแต่เสียเงินไปเกือบ 24 ล้าน"
อาจารย์คณะวนศาสตร์ เห็นว่าการต่อยอดการปลูกป่าควรเป็นได้มากกว่าการประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนรับรู้
"ยิ่งไปปลูกบนพื้นที่ไกลๆ บนภูเขา ใครจะแบกน้ำขึ้นไปรด เขาก็หวังว่าเดี๋ยวเทวดาก็เลี้ยง เดี๋ยวฝนก็ตก" พรเทพ กล่าวทิ้งท้าย