ไม่พบผลการค้นหา
กลุ่มทนายความสิทธิมนุษยชนจัดทำรายงานเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนชาวยาซีดิ คนกลุ่มน้อยทางศาสนา ในกลุ่มประเทศอ่าวอาหรับ โดยมีการจัดตั้งคณะกรรมการยุติธรรมยาซีดิขึ้นมาสอบสวน ก่อนพบว่าตุรกีมีการกระทำเข้าข่ายการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ หลังเอื้อให้กลุ่มรัฐอิสลามสามารถเข้าสังหารชาวยาซีดิได้

เฮเลนา เคเนดี ทนายสิทธิมนุษยชนชาวสหราชอาณาจักร ผู้ทำการสอบสวนเกี่ยวกับประเด็นการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยาซีดิโดยรัฐบาลตุรกี ออกมาให้ความเห็นว่า ตุรกีควรถูกตั้งข้อหาจากศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ ฐานสมรู้ร่วมคิดในการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยาซีดิ ในขณะที่ซีเรียและอิรักล้มเหลวในการทำหน้าที่ป้องกันการสังหารดังกล่าว

รายงานฉบับใหม่โดยกลุ่มนักกฎหมายด้านสิทธิมนุษยชนในสหราชอาณาจักร โดยในรายงานมีความพยายามในการเน้นย้ำถึงความรับผิดชอบของรัฐต่างๆ ที่ต้องป้องกันการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในเขตแดนของตน ถึงแม้การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์จะถูกลงมือโดยบุคคลที่สามอย่างกลุ่มรัฐอิสลาม (IS) ก็ตาม

ทนายความซึ่งรวมกลุ่มภายใต้ชื่อคณะกรรมการยุติธรรมยาซีดิ (YJC) ระบุว่า ภายใต้กฎหมายระหว่างประเทศ รัฐต่างๆ มีหน้าที่รับผิดชอบในการป้องกันอาชญากรรมการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ภายใต้อนุสัญญาว่าด้วยการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ ทั้งนี้ เจฟฟรีย์ ไนซ์ คิวซี ประธานคณะกรรมการ YJC กล่าวถึงการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ของชาวยาซิดีว่าเป็น “ความบ้าคลั่งที่สุมอยู่บนความชั่วร้าย”

“กลไกที่จัดตั้งขึ้น (การพิจารณาคดีฆ่าล้างเผ่าพันธุ์) จะสามารถช่วยชาวยาซีดิให้พ้นจากสิ่งที่ตอนนี้เป็นส่วนหนึ่งของอดีตของพวกเขา และเป็นส่วนหนึ่งของการทำลายบางส่วนในอดีตของพวกเขา” ไนซ์กล่าว

เป็นที่ยอมรับกันอย่างเป็นวงกว้างว่า มีการพยายามฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยาซีดิ ซึ่งเป็นชนกลุ่มน้อยทางศาสนา ตั้งแต่ปี 2556 ในอิรักและซีเรีย โดยรายงานฉบับดังกล่าว ซึ่งภายหลังจากการสอบสวนนาน 3 ปี ผ่านการตรวจสอบสิ่งที่เกิดขึ้น 13 ประเทศ สรุปว่ามี 3 ประเทศล้มเหลวในการดำเนินการตามขั้นตอนที่เหมาะสมเพื่อป้องกันการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์

ในกรณีของตุรกี คณะกรรมการเพิ่มเติมข้อกล่าวหาของผู้นำรัฐว่ามีส่วนเกี่ยวข้องในการสังหารหมู่ โดยกล่าวหาว่าล้มเหลวในการตรวจสอบชายแดนเพื่อยับยั้งนักรบไอเอส ซึ่งมีสัญชาติตุรกีอยู่ในนั้นเป็นจำนวนมาก อย่างไรก็ดี เจ้าหน้าที่ตุรกีโต้แย้งว่าการวิพากษ์วิจารณ์ดังกล่าวไม่มีมูลความจริง

คณะกรรมการอ้างว่าตั้งแต่เดือน เม.ย. 2557 เจ้าหน้าที่ตุรกีเมินเฉยต่อการขาย โยกย้าย และการกดเด็กและสตรีชาวยาซีดิลงเป็นทาส อีกทั้งยังช่วยฝึกนักสู้ที่เป็นพันธมิตรกับไอเอสเพื่อต่อสู้กับศัตรูชาวเคิร์ดในซีเรีย ซึ่งเป็นการเพิ่มความสามารถให้กับผู้กระทำความผิดในการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์

รายงานระบุว่า “เจ้าหน้าที่ตุรกีรู้ดี และ/หรือ จงใจปิดหูปิดตาต่อหลักฐานที่แสดงว่าบุคคลเหล่านี้จะใช้ความสามารถจากการฝึกอบรมเพื่อกระทำการสิ่งอันเป็นที่ต้องห้ามต่อชาวยาซีดิ” นอกจากนี้ รายงานยังได้กล่าวหาในลักษณะเดียวกันต่อบางรัฐในกลุ่มประเทศอ่าวอาหรับ ซึ่งหมายรวมถึง กาตาร์ แต่ยังมีหลักฐานไม่เพียงพอ

รายงาน 278 หน้า ได้ระบุข้อมูลว่าในเดือน มิ.ย. 2557 อิรักเรียกร้องให้สหประชาชาติยอมรับความโหดร้ายที่ไอเอสก่อขึ้น แต่กลับกล่าวหารัฐบาลอิรักว่าไม่ประสานงานกับทางการกลุ่มชาวเคิร์ดหรือดำเนินมาตรการเพื่ออพยพชาวยาซีดิไปสู่พื้นที่ปลอดภัย นอกจากนี้ รายงานยังได้กล่าวหารัฐบาลซีเรียว่าล้มเหลวในการป้องกันการเคลื่อนย้ายและกักขังชาวยาซีดิที่เป็นทาสในเขตแดนของรัฐตนด้วย

อูมิต ยาลชิน เอกอัครราชทูตตุรกีประจำสหราชอาณาจักร กล่าวว่า การวิพากษ์วิจารณ์นั้นไม่มีมูลความจริงและไม่ยุติธรรม โดยอ้างว่า “ตั้งแต่ปีแรก ๆ ของความขัดแย้งในซีเรีย ตุรกีมีบทบาทสำคัญในการปกป้องพลเรือนและชนกลุ่มน้อยในซีเรีย รวมถึงยาซีดิ จากการโจมตีและความรุนแรงจากกลุ่มก่อการร้าย”

“ตุรกีไม่เพียงแต่เปิดประตูพื้นที่ความปลอดภัยให้กับชาวซีเรียและยาซีดิหลายล้านคน แต่ยังให้ความคุ้มครองแก่ประชาชนในภูมิภาค ผ่านการปฏิบัติการต่อต้านการก่อการร้ายสามครั้งในซีเรีย ทุกวันนี้ ชาวยาซีดิอาศัยอยู่อย่างสงบสุขในพื้นที่ที่อยู่ภายใต้การควบคุมของฝ่ายต่อต้านซีเรียที่ถูกต้องตามกฎหมายในซีเรียตะวันตกเฉียงเหนือ” ยาลชินระบุ

“ยิ่งไปกว่านั้น ปีที่แล้วครอบครัวยาซีดิจำนวนมากที่รับผู้ลี้ภัยในซีเรียตะวันตกเฉียงเหนือพยายามกลับบ้านของพวกเขาในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของซีเรีย แต่ถูกขัดขวางไม่ให้ทำเช่นนั้นได้โดย PKK/YPG (ชื่อย่อของกลุ่มชาวเคิร์ดในตุรกีและซีเรีย)”

เคเนดีในการอภิปรายร่วมกับ เดวิด อัลตัน สมาชิกสภาขุนนางสหราชอาณาจักร กล่าวว่า "มหาสมุทรแห่งการลอยนวลพ้นผิดดำรงอยู่โดยเกี่ยวข้องกับการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยาซีดิ" พร้อมตั้งข้อสังเกตว่า กลุ่มไอเอสในฐานะตัวแสดงที่ไม่ใช่รัฐ ไม่สามารถดำเนินคดีได้ภายใต้กฎหมายระหว่างประเทศ

ในขณะเดียวกัน ทั้งสองยังได้กล่าวหาว่ารัฐต่างๆ “ล้มเหลวในการแสดงความรับผิดชอบในการป้องกันการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ด้วยเหตุผลหลายประการที่ไร้มนุษยธรรม” และหากพวกเขาไม่ถูกนำตัวมารับผิดชอบ เคเนดีกล่าวว่าว่า “ถ้าอย่างนั้นคำสัญญาที่จะ 'ไม่อีกแล้ว' ก็จะพังลง"

ที่มา:

https://www.theguardian.com/law/2022/jul/05/turkey-should-face-international-court-over-yazidi-genocide-report-says-helena-kennedy