'ฐากูร บุนปาน' รองประธานกรรมการบริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) บอกว่า เสรีภาพก็เหมือนอากาศ วันที่คุณหายใจเข้าออกอยู่ทุกวัน คุณจะไม่รู้สึกหรอกว่ามันสำคัญขนาดไหน จนกระทั่งคุณจะไม่มีลมหายใจ คุณถึงจะรู้สึกว่า มันสำคัญมาก และเสรีภาพคือลมหายใจของสื่อ ของคนทำหนังสือพิมพ์ หรือใครก็ตามที่ทำเรื่องสื่อสารมวลชน
แล้วเพราะเสรีภาพที่คณะราษฎรได้ประกาศไว้ในวันเปลี่ยนแปลงการปกครองนั่นเอง ที่ทำให้บรรยากาศสังคมสยามหรือประเทศไทยในช่วงทศวรรษ 2490 ถึงต้น 2500 มีนักคิดนักเขียน มีงานวิจารณ์สังคม มีการศึกษาวิจัย มีนักวิชาการ นักหนังสือพิมพ์ สื่อมวลชนที่ดีจำนวนมากมายเกิดขึ้น หรืออาจจะเรียกได้ว่า ช่วงเวลานั้นคือผลพวงผลสะท้อนของเสรีภาพและปัจจัยอื่นๆ ที่เบ่งบานงอกงามหลัง 2475 อย่างรวดเร็ว
อย่างไรก็ตาม ฐากูรมองว่า การเกิดขึ้นของเหตุการณ์อภิวัฒน์สยาม 2475 ไม่ได้เกิดขึ้นลอยๆ แต่มันคือการสั่งสมของสังคม เหมือนภาษิตจีนที่ว่า "น้ำแข็งหนาสามเชียะ มันไม่ได้เกิดขึ้นวันเดียว" หรือเกิดขึ้นเพราะมีนักเรียนนอกกลุ่มหนึ่งคิดอยากจะเปลี่ยนแปลงก็สามารถจะทำได้ทันที แต่ 2475 มีรากเหง้า โดยก่อน 2475 เกิดรากเหง้าของการแสวงหาเสรีภาพ ยกตัวอย่าง ในสมัยรัชกาลที่ 6 ในหน้าหนังสือพิมพ์มีคนธรรมดากล้าเขียนเถียงโต้แย้งพระมหากษัตริย์ หรือในสมัยรัชกาลที่ 7 มีการวิพากษ์วิจารณ์คณะอภิรัฐมนตรีอย่างเปิดเผย มีการรวมตัวกันจัดตั้งสหภาพกรรมกร เหตุการณ์เหล่านี้เป็นเหง้าเป็นกอของเสรีภาพที่คณะราษฎรประกาศรับรองไว้
แล้วก็มาเบ่งบานจริงๆ หลัง 2475 ด้วย 2 ปัจจัย คือ หนึ่งการเปลี่ยนแปลงภายในสังคมสยามที่ทำให้คนทั่วไปเริ่มรู้สึกถึงสิทธิขั้นพื้นฐานต่างๆ ที่สมาชิกในสังคมควรจะมี สอง กระแสโลกาภิวัตน์ของโลกหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 (พ.ศ.2482-2488) เป็นต้นมา ที่ทำให้โลกเริ่มใกล้ชิดกันด้วยเทคโนโลยี ด้วยการติดต่อค้าขาย
"กระแสเหล่านี้ เกิดการผนึกแนบแน่นกันมากกว่าเดิม และไม่ใช่การผนึกแนบแน่นเฉพาะเรื่องการเมืองการทหารเท่านั้น แต่รวมถึงสังคม การแลกเปลี่ยนเรียนรู้
"บรรยากาศของสังคมช่วงหลัง 2475 โดยเฉพาะช่วง 2490-2500 ต่างไปจากยุคสมบูรณาญาสิทธิราชย์ที่คุณอาจจะคิดได้ แต่ก็มีอะไรหน่อยๆ ในใจ การแสดงออกก็คงไม่ตรงไปตรงมา ไม่กล้าหาญมากเหมือนในสังคมที่รับรองว่าเสรีภาพเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่สุดประการหนึ่งของมนุษย์ทุกคนเท่าเทียมกัน" ฐากูร กล่าว
พร้อมกับยืนยันว่า ในหลัก 6 ประการที่คณะราษฎรเคยประกาศไว้นั้น ถึงปัจจุบันยังไม่มีอะไรล้าสมัย ไม่มีข้อใดเชย เพราะมันเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่สุดที่ชาติหรือสังคมจะให้กับสมาชิกในสังคมนั้นๆ โดยมองว่า ก่อนการประกาศหลัก 6 ประการออกมา คณะราษฎรได้พูดคุยหารือกลั่นกรองกันมาแล้ว โดยเมื่อมองย้อนกลับไป ก็จะพบว่า สังคมในยุคนั้นมีปัญหาเรื่องเอกราช ความปลอดภัย เศรษฐกิจ เสมอภาค เสรีภาพ การศึกษาอยู่จริง และแม้ปัจจุบันอาจขาดเรื่องเหล่านี้หรือเรื่องอื่นๆ ไปบ้าง อาจหายหกตกหล่นไปบ้างตามสภาพสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป แต่หลัก 6 ประการยังต้องอยู่ เพราะสิ่งเหล่านี้คือสิ่งที่อยู่คู่กับสังคมมนุษย์
"ลองไปไล่ดูก็ได้ว่า ใน 6 ข้อนี้ ถึงวันนี้ก็ยังต้องทำให้ดีขึ้นกว่าเดิม ไม่มีข้อไหนเชย เพราะมันเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่สุดที่ชาติหรือสังคมจะให้กับสมาชิกในสังคมนั้นๆ"
เมื่อชวนขบคิดว่า แล้วในฐานะสื่อมวลชนวันนี้ เราต่างใช้เสรีภาพเปลี่ยนแปลงสังคมหรือทำให้มันดีขึ้นกว่าเดิมอะไรได้บ้าง ฐากูร แย้งกลับว่า "จริงๆ อย่าหวังกับสื่อให้มาก แม้ในแง่หนึ่งสื่อจะเป็นตัว shape สังคม เป็นตัวสะท้อนเป็นเบ้าหลอมบางส่วนให้สังคมได้ แต่ขณะเดียวกันสื่อก็เป็นผลผลิตของสังคม"
พร้อมกับยกตัวอย่างให้เห็นชัดๆ ว่า สถานการณ์แวดวงสื่อมวลชนปัจจุบัน คือสื่อมีความหลากหลายมาก จุดยืนก็แตกต่างกันมาก แต่สิ่งหนึ่้งที่ไม่ว่าคุณจะคิดอย่างไร คุณจะยืนอยู่ซีกไหน จุดไหน แต่สิ่งที่ทำให้สื่อมวลชนยังแสดงออกแบบนี้ได้ นั่นก็เพราะสังคมยังมีการรับประกันเสรีภาพในระดับหนึ่ง ซึ่งฐากูรก็ยอมรับว่า ระดับหนึ่งที่ว่านั้นของแต่ละคนก็ไม่เท่ากัน แต่นั่นก็เพราะว่า ในสังคมทุกสังคมย่อมมีกลุ่มคนที่แตกต่างหลากหลาย มีผลประโยชน์ที่แตกต่างหลากหลาย มีความต้องการมีความเชื่อที่แตกต่างหลากหลาย รวมกระทั่งสังคมสื่อเอง
"จริงๆ แล้วที่อยู่ได้กันจนถึงทุกวันนี้ ต้องเข้าใจเลยด้วยหลักเสรีภาพนี่แหละ เสรีภาพเป็นเหมือนที่เขาพูดกันว่า เสรีภาพเหมือนอากาศ คุณไม่รู้สึกหรอก คุณหายใจเข้าออกไปทุกวันว่ามันสำคัญขนาดไหน จนกระทั่งจะไม่มีลมหายใจ คุณถึงจะรู้สึกว่ามันสำคัญมาก"
2475 ต้นไม้ต้นใหญ่ เป็นหน้าที่ ‘คนสวน’ หากเชื่อมั่นในหลักการก็ต้องช่วยกันทำให้ดีขึ้น
โดยย้ำว่า ความจริงแล้วหลายๆ อย่าง คนยุคเขาหรือยุคปัจจุบันแทบไม่ได้ผลิตอะไรใหม่ แต่ต่างคนต่างต่อยอดจากของเก่า ดังนั้นถ้าในอดีตไม่มีสิ่งที่คนรุ่นก่อนหรือคณะบุคคลในยุค 2475 ถากถางทางไว้ให้ วันนี้คงไม่มีถนน ไม่มีเส้นทางสัญจร ดังนั้นตลอดเส้นทางของประวัติศาสตร์ที่่ผ่านมา มันจึงมีเส้นทางของการเปลี่ยนแปลง มีร่องรอยของความอยากเห็นสังคมนี้ก้าวหน้า หรือกระโดดขึ้นไปอีกขั้น มาก่อนหน้านี้นานแล้ว
"ถ้าไม่มีท่านทำมาก่อน ไม่มี 2475 ไม่มี 2490 ไม่มีคุณกุหลาบ สายประดิษฐ์ ไม่มีคณะสุภาพบุรุษ ไม่มีอาจารย์สุภา ศิริมานนท์ อาจไม่มีพวกเรา แต่เราก็เรียนจากคนเก่า เรียนหลักจากท่าน แล้วมาปรับประยุกต์ให้เข้ากับสิ่งที่เป็นไปในปัจจุบัน
"จริงๆ หลักมันไม่เปลี่ยนหรอก สิ่งที่เปลี่ยนคือสภาพแวดล้อม ซึ่งคุณจะเปลี่ยนหลักให้เข้ากับสภาพแวดล้อมอย่างไรให้มันพอดี ให้มันสมดุลกัน อันนี้เป็นศิลป์ เป็นศิลปะ ส่วนหลักนั้นมันเป็นศาสตร์"
ดังนั้น ถึงวันนี้ หากเปรียบ 2475 เป็นต้นไม้ที่คณะราษฎรปลูกไว้ให้ ฐากูรบอกว่า ถึงวันนี้มันก็เป็นต้นไม้ต้นใหญ่พอสมควร แต่ปัญหาของต้นไม้ต้นใหญ่คือ จะถูกลมแรง โดนหนอนแทะ มีนกมากินลูกไม้ มาทำรังพักอาศัย บางวันพายุแรงกิ่งก็หักบ้าง น้ำท่วมมาก ไม้ใหญ่ก็โดนก่อนเพื่อน ฟื้นยากกว่า ฟื้นช้ากว่า แต่ก็เป็นหน้าที่คนสวนทั้งหลาย ซึ่งถ้าคุณเชื่อมั่นในหลักการของ 2475 ว่านี่คือความพยายามทำให้สังคมไทยดีขึ้น ก็ต้องช่วยกันประคับประคองต้นไม้ใหญ่นี้ให้อยู่ต่อไป ให้แผ่ร่มเงา ให้เป็นที่พึ่งของคนส่วนใหญ่ได้จริงๆ
"ไม่ว่าจะโดนพายุพัด โดนฟ้าผ่า โดนน้ำท่วม โดนหนอนแทะ โดนนกจิก มันเป็นเรื่องธรรมชาติ เป็นเรื่องปกติของสังคม แล้วหน้าที่ในการประคับประคองก็เป็นธรรมชาติ เป็นความปกติอยู่แบบหนึ่งอยู่เหมือนกัน" ฐากูร กล่าว
ส่วนยุคสมัยปัจจุบันจะได้เห็นการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของสังคม เพื่อยกประเทศไทยให้ก้าวไปอีกขั้นอย่างที่คณะราษฎรทำไว้เมื่อ 88 ปีก่อนหรือไม่
ฐากูร บอกว่า หากพูดในฐานะสมาชิกคนหนึ่งของสังคม ไม่ใช่ในฐานะสื่อ ตนก็ต้องการเห็นการเปลี่ยนแปลงหลายๆ อย่าง ในเรื่องที่ดีกว่านี้ แต่ขณะเดียวกันก็เข้าใจสภาพความเป็นจริงของมัน โดยยกกรณีการรัฐประหารที่เกิดขึ้นถึง 2 ครั้งซ้อนในรอบ 10 ปี ว่าเป็นการดึงสังคมไทยกลับไปใส่ช่องแช่แข็ง เป็นความพยายามที่เกิดขึ้นมาก่อนจะมีรัฐประหาร 2549 และพลังที่อยู่หลังการรัฐประหารนั้นเหมือนกับยุค 2475 คือเป็นพลังที่มีเชื้อ มีการสนับสนุน มีพรรคพวก มีพันธมิตร มีเหง้าของแรงสนับสนุนอยู่พอสมควร
อย่างไรก็ตาม เขาบอกด้วยว่า การเปลี่ยนแปลงแบบฉับพลันในสังคม ถ้าจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อ สังคมถูกอัดเอาไว้ ไม่ให้มีรูระบาย เพราะถ้ามันยังพอมีรูระบายมันก็อาจจะชะลอได้ เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างค่อยเป็นค่อยไปได้ แต่ถ้าสังคมถูกอัดแน่นเหมือนกับอยู่ในกระป๋อง พอเกิดแรงบีบเข้ามาหรือมีแรงระเบิดจากภายในขึ้นมา มันก็อาจจะตูมขึ้นมาได้ ซึ่งเป็นเรื่องธรรมชาติ เป็นเรื่องปกติ
"สังคมไทยก็ต้องตั้งคำถามกับตัวเองเหมือนกันว่า แล้วตอนนี้เราอยู่ในระดับไหน
"มันคือทฤษฎีกบต้มและสังคมยังไม่ค่อยรู้หรอกว่ากำลังถูกต้มอยู่ กบไม่ค่อยรู้ตัวว่ากำลังถูกต้มอยู่ แต่กบจะไปรู้ตัวก็ตอนที่น้ำ 100 องศาฯ เป๊ะ แล้วก็หงายอลึ่งฉึ่งไปแล้ว ซึ่งไม่มีใครบอกได้ ผมก็บอกไม่ได้
"ทุกคนเห็นอยู่แล้วว่า มันมีความขัดแย้งเกิดขึ้นจริง ความไม่ลงร่องไม่ลงรอยเกิดขึ้นจริง มันมีการยื้อยุดฉุดกระชากกันระหว่างพลัง 2-3 พลัง หลายพลังในสังคม สถานการณ์อย่างนี้ มันจะต้องมีบทสรุปในสักวันหนึ่ง แต่มันจะสรุปอย่างไร ไม่มีใครนึกออก อันที่ทั้งน่าลุ้นและน่ากลัวของสังคม ก็คือ คุณนึกบทสรุปไม่ออก
"ข้อน่ากังวลของสังคมไทยก็คือ ในช่วงความขัดแย้ง 10 กว่าปีที่ผ่านมา เราใช้ต้นทุนทุกอย่างในการทั้งผลักและทั้งดึงสังคมไปเกือบหมด และที่มันน่าห่วงคือ มันจะไม่มีใครฟังใคร มันน่าห่วงที่ตรงนี้ ที่มันจะเป็นสังคม anarchy เป็นสังคมอนารยะหน่อยๆ พูดกันไม่รู้เรื่อง แล้วส่วนใหญ่ก็ลุกขึ้นมาต่อยปากกันเลย อันนี้น่ากลัว" ฐากูรแสดงความกังวล
พร้อมกับบอกว่า เป็นเรื่องปกติของมนุษย์ในสังคมที่ต้องมีการเปลี่ยนแปลงและการยับยั้งการเปลี่ยนแปลง แต่ในสังคมที่เป็นอารยะ ย่อมจะมีช่องทาง มีรูระบายให้ตกลงกันว่าจะเปลี่ยนหรือไม่เปลี่ยน หรือจะเปลี่ยนอย่างไร ไม่เปลี่ยนอย่างไร มันดำเนินไปโดยความปกติ โดยวิธีการสันติ แต่ปัญหาปัจจุบันคือ สังคมไม่มีเครื่องมือจัดการปัญหาหรือได้ทุบทำลายเครื่องมือจัดการปัญหาไปเกือบหมดแล้ว ซึ่งนี่คือสิ่งที่ฐากูรบอกว่าน่ากลัว
พอๆ กับสิ่งที่เป็นรากเหง้าปัญหาสังคมไทยคือความเหลื่อมล้ำ ทั้งทางเศรษฐกิจ โอกาส การศึกษา ความปลอดภัย ซึ่งก็อย่างที่คณะราษฎรว่าไว้ในหลัก 6 ประการ ถึงวันนี้สังคมไทยก็เหลื่อมล้ำกันมาก มากจนน่ากลัว
"โควิด-19 ไม่ได้มาทำให้สังคมไทยเหลื่อมล้ำไปมากกว่าเดิม แต่มันมากระชากหน้ากากให้เห็นว่า โครงสร้างที่มันเป็นอยู่นี้ มันเละ มันเฟะ ยิ่งปล่อยให้มันเหลื่อมล้ำนานไปเท่าไร มันจะยิ่งทำให้คนยิ่งอยู่ไกลกัน มันยิ่งพูดกันไม่รู้เรื่อง
"เราไม่เคยห่างกันขนาดนี้ ในรอบ 30-40 ปี แม้กระทั่งช่วงตั้งแต่ 14 ตุลาฯ 2516 เป็นต้นมา ที่สังคมไทยต้องเผชิญหน้ากับวิกฤตเศรษฐกิจโลก มีปัญหาเศรษฐกิจมากมายทั้งในประเทศ-ต่างประเทศ มีช่วงรัฐบาลครึ่งใบของ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ มาเป็นยุครุ่งเรืองทางเศรษฐกิจสมัยน้าชาติ (พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ) มีปฏิวัติล้มลุกคลุกคลาน มาต้มยำกุ้ง (2540) มันก็ไม่มีความรู้สึกว่ามันห่างกันขนาดนี้ วันนี้มันไม่ได้ห่างกันแต่เฉพาะตัวเลขเพียงอย่างเดียว แต่มันห่างกันในแง่อารมณ์ความรู้สึกด้วย อันนี้อันตราย" ฐากูรทิ้งประเด็นไว้ให้ขบคิด
แล้วอย่างที่เขากล่าวไว้ ต้นไม้ที่คณะราษฎรปลูกไว้เมื่อ 2475 ถึงเวลาก็เป็น ‘หน้าที่คนสวน’ จะดูแลว่าจะให้ต้นไม้นี้อยู่เป็นร่มเงา เป็นที่พึ่งของผู้คนต่อไปได้อย่างไร
*********
หมายเหตุ : บทสัมภาษณ์นี้ เกิดขึ้นเมื่อ 14 กรกฎาคม 2563 เป็นส่วนหนึ่งในหนังสือ 88 ปี ประชาธิปไตย
ฐากูร บุนปาน เสียชีวิตเมื่อ 12 มกราคม 2564 ด้วยโรคมะเร็ง และจะมีพิธีฌาปนกิจ และ ประชุมเพลิง ณ เมรุวัดเสมียนนารี พระอารามหลวง ในเวลา 14.30 น. วันเสาร์ที่ 18 ธันวาคม 2564