The Jam Factory (เดอะแจมแฟคตอรี่) จัดงานเสวนา "ระดมสมองกรองฝุ่น" เพื่อพิจารณาและวิเคราะห์ปัญหามลพิษที่เกิดขึ้นในเมืองไทย โดยมี ดวงฤทธิ์ บุนนาค สถาปนิกชื่อดังดำเนินรายการ
“อยากคุย มันคืออะไร เริ่มตรงไหน เกิดอะไร จัดการยังไง รัฐต้องช่วยอะไร และเราลงมือทำอะไรกับเหตุการณ์นี้ได้ โดยเริ่มจากตัวเราเอง” คือจุดประสงค์ที่งานดังกล่าวระบุ
ดร.ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยข้อมูลให้เห็นว่า ปัจจุบันคนกรุงเทพฯ และปริมณฑลเดินทางด้วยรถสาธารณะเพียงแค่ 20 เปอร์เซ็นต์ เท่ากับประมาณ 6 ล้านเที่ยว ขณะที่รถส่วนตัว 43 เปอร์เซ็นต์ หรือประมาณ 14 ล้านเที่ยวต่อวัน ขณะที่รถจักรยานยนต์ 25 เปอร์เซ็นต์ หรือคิดเป็น 8 ล้านเที่ยวต่อวัน เพราะฉะนั้นส่วนใหญ่แล้ว ผู้ที่ปล่อยมลพิษหลักไม่ใช่ขนส่งสาธารณะ
ขณะที่จำนวนรถดีเซลปัจจุบันมีอยู่ทั่วประเทศ 61 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งจำนวนนี้วิ่งอยู่ในกรุงเทพฯ มากถึง 43 เปอร์เซ็นต์ และมากกว่าครึ่งอายุเกิน 10 ปี
“คนนั่งรถเมล์มีจำนวนสูงสุดประมาณ 1.3 ล้านเที่ยวต่อวัน รองลงมาเป็นบีทีเอส 6 แสนเที่ยว เอ็มอาร์ที 3 แสนเที่ยว และเรือ 6 หมื่นเที่ยว ซึ่งเป็นตัวแสบในการปล่อยมลพิษเนื่องจากใช้เครื่องยนต์ดีเซลขนาด 500 แรงม้า ปล่อยควันพิษมหาศาล”
เขาให้ข้อมูลว่า ปัจจุบันเรามีรถเมล์อยู่ราว 2,671 คัน ไม่รวมรถเมล์เอ็นจีวี 489 คัน ซึ่งทั้งหมดอายุไม่ต่ำกว่า 20 ปี และถือเป็นตัวสร้างมลพิษสำคัญ
เมื่อถูกถามว่าเหตุใดรถเมล์ถึงไม่มีการเปลี่ยนแปลงหรือเปลี่ยนแปลงได้ยาก ?
“เพราะเทคโนโลยีรถเมล์นั้นง่าย เปิดประมูลปุ๊บจะมีคนมาเสนอเป็น 10 เจ้าทันที คนไหนรู้จักผู้ผลิตก็มาเสนอขาย ตามมาด้วยการร้องเรียนต่อความไม่ชอบมาพากลและสเปกต่างๆ มากมายได้ง่ายด้วย ทั้ง ปปช. สตง. ร้องกันจนไม่ได้ซื้อ เพราะเป็นธุรกิจที่ง่าย” อดีตรมว.คมนาคม ตอบ
ปัญหาต่อมาคือ รถบรรทุก ซึ่งข้อมูลพบว่า ในกรุงเทพฯ มีรถเทรลเลอร์ขนตู้คอนเทนเนอร์เข้าสู่ท่าเรือคลองเตยมากถึงปีละ 1.49 ล้านคอนเทนเนอร์ หรือเฉลี่ยแล้วทุกคืนจะมีรถบรรทุกวิ่งเข้าออกราว 2,700 คัน เมื่อรวมกับรถบรรทุกที่วิ่งเข้าออก สถานีบรรจุและแยกสินค้ากล่อง (ไอซีดี) ลาดกระบังอีกราว 2,000 เที่ยว เท่ากับว่า คืนหนึ่งมีรถบรรทุกที่ขนตู้คอนเทนเนอร์วันหนึ่งเกือบ 5,000 เที่ยว ที่เผาดีเซลและปล่อยมลพิษ
“คนสงสัยว่าทำไมตอนเช้าอากาศมันไม่ดี ก็เพราะกลางคืนเป็นช่วงเวลาของรถบรรทุก วิ่งกันทั่วเมืองเลย ตื่นขึ้นมาอากาศขมุกขมัว ผมเชื่อว่าส่วนหนึ่งมาจากรถบรรทุก” เขาบอกและเพิ่มเติมว่า การก่อสร้างยังเป็นปัจจัยให้การจราจรหนาแน่น โดยปัจจุบันมีรถบรรทุกซีเมนต์และคอนกรีตวิ่งตอบสนองความต้องการของโครงการก่อสร้างต่างๆ ทั่วกรุงเทพฯ เฉลี่ย 1.3 หมื่นเที่ยวต่อวัน ยังไม่นับรวมรถขนดินและทรายอีกจำนวนมาก
ทั้งนี้ปัญหามลพิษส่วนหนึ่งยังเกิดจากการกำหนดนโยบายด้านพลังงาน เมื่อราคาน้ำมันดีเซลถูกอุดหนุนและควบคุมให้มีราคาต่ำ ซึ่งหากต้องการจัดการปัญหามลพิษ ควรมีการเปลี่ยนแปลงนโยบายด้านภาษี ขณะเดียวกันควรมีการนำเงินจากกองทุนน้ำมันมาปรับปรุงคุณภาพชีวิตหรือคุณภาพอากาศให้กับประชาชนด้วย
ชัชชาติแนะนำว่าถึงเวลาเตรียมการออกแผนพัฒนาเมือง ที่อยู่อาศัยและการเดินทาง เพื่อไม่ให้เมืองกระจุกตัวอยู่เพียงแค่ในพื้นที่เศรษฐกิจเท่านั้น
“อนาคตสำนักงานต้องเตรียมบ้านให้คนที่ทำงานอยู่ คืออาจต้องมีบ้านอยู่ใกล้ๆ ในบริบทให้เช่า หรือเป็นผู้ดูแล เช่นกัน รัฐต้องจัดหาที่อยู่อาศัยให้ใกล้ที่ทำงานให้มากขึ้น หรือต้องเอางานไปใกล้บ้าน ผู้ประกอบการคนไหน พัฒนาออฟฟิศอยู่รอบนอกเมือง จะได้แรงจูงใจทางด้านภาษี เพื่อกระจายความเจริญออกไป” ชัชชาติกล่าว
รศ.ดร.ไพศาล สันติธรรมานนท์ ผู้เชี่ยวชาญด้านแผนที่ จากคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์วิทยาลัย ระบุว่า ฝุ่นละอองขนาดเล็ก ลอยล่องมากับลมบน ซึ่งพัดพาไปไกลได้หลายร้อยกิโลเมตร ตัวอย่างเช่น เมื่อประเทศเพื่อนบ้านฝั่งตะวันออกเฉียงใต้ที่ห่างออกไปแค่ 300 เมตร มีการเผาไหม้ชีวมวลและปล่อยมลพิษ เพียงแค่ข้ามคืน ฝุ่นเหล่านี้ก็มาถึงเมืองไทยและเข้าสู่กรุงเทพฯ ได้
“ฝุ่นละอองจากเผาไหม้ชีวมวลทั้งในและต่างประเทศ เพิ่มปัญหาให้กับเรา เมื่อบวกรวมกับมลพิษจากการจราจร ยิ่งทำให้คุณภาพอากาศเลวร้ายเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่า” เขาบอกต่อว่า
“ปัญหาของกรุงเทพฯ คือ เป็นเมืองขนาดใหญ่ เรามีโดมความร้อนครอบอยู่เหมือนฝาชี เมื่อมีฝุ่นละอองล่องลอยเข้ามา ประกอบกับกรุงเทพฯ มีลมสงบ มลพิษก็จะอัดอยู่ภายในนี้”
รศ.ดร.ไพศาล ชี้ว่าปัจจุบันมีกฎหมายระหว่างประเทศดูแลเรื่องการปล่อยมลพิษอยู่แล้ว เพียงแต่ต้องมีการพูดคุย เข้มงวดและพิจารณาการจัดการอย่างรอบคอบ นอกจากนั้นยังควรนำเทคโนโลยีมาใช้ในการตรวจจับค่าความร้อนและการเคลื่อนไหวของฝุ่นละออง เพื่อให้สามารถติดตามและเข้าไปแก้ไขปัญหาได้รวดเร็ว รวมถึงประเมินสถานการณ์ได้อย่างต่อเนื่อง
ดร.ภาณุ ตรัยเวช จากภาควิชาวิทยาศาสตร์พื้นพิภพ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า ตามธรรมชาติ เรามักได้ยินเสมอว่า อากาศยิ่งสูงยิ่งหนาว ซึ่งลักษณะอากาศดังกล่าวหมายถึง สภาพอากาศท้องฟ้าโปร่ง มลพิษที่ปล่อยจากด้านล่างลอยไปสู่ด้านบนได้ง่าย ก่อนจะเจอลมบนแล้วกระจายตัวออกไป ซึ่งสภาพนี้จะไม่ค่อยพบเจอปัญหาเรื่องฝุ่นละออง
อย่างไรก็ตาม ช่วงเวลาปัจจุบันเป็นช่วงคาบเกี่ยวระหว่างฤดูหนาวและมีไอความร้อนเข้ามาปะทะ ซึ่งเมื่อเคลื่อนเข้ามา เนื่องจากมีน้ำหนักที่เบากว่า ก็จะลอยปิดอยู่ด้านบน ซึ่งลักษณะนี้เป็นการผกผันของอุณหภูมิที่มีระยะเวลานาน ไม่เหมือนกับที่ค่อยๆ สลายไปในตอนกลางวัน เช่นที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาปกติ
เขาเสนอว่า หลังจากนี้กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการสร้างมลพิษและการก่อสร้าง ต้องนำปัจจัยเรื่องฤดูกาลมาพิจารณาอย่างรอบคอบ เพื่อให้เกิดปัญหามลพิษน้อยที่สุด
ผศ.นพ.วรวุฒิ เชยประเสริฐ กุมารแพทย์เฉพาะทางด้านโลหิตวิทยาและมะเร็งวิทยา บอกว่า ปัญหาฝุ่นละอองนั้นส่งผลต่อสุขภาพทั้งในระยะสั้นและยาว โดยอุปมาเหมือนกับการสูบบุหรี่ เช่น หากสูบวันนี้ หลายคนอาจไม่ได้รับผลกระทบทันที แต่ไปแสดงอาการในช่วง 20 ปีข้างหน้า เช่นกันกับการสูดดมมลพิษเข้าไปเรื่อยๆ เราไม่ทราบว่า 10 ปีข้างหน้า จะเกิดอะไรขึ้นกับร่างกายเรา หลังจากที่ต้องอยู่กับมลพิษวันนี้
“ระยะสั้นคือเพิ่มโอกาสในการติดเชื้อ เกิดปัญหาภูมิแพ้ แสบตา จมูก หรือร่างกาย ขณะที่ระยะยาว อาจมีผลต่อโรคหลอดเลือดหัวใจ สมอง ปอดติดเชื้อ ตลอดจนถุงลมโปงพอง”
ผู้เชี่ยวชาญเน้นว่า เด็กๆ ในปัจจุบันมีความเสี่ยงสูงมากที่จะได้รับผลกระทบจากปัญหามลพิษ เนื่องจากมีร่างกายและภูมิคุ้มกันที่อ่อนแอกว่าผู้ใหญ่ มากไปกว่านั้น การศึกษาจำนวนมากยังชี้ว่า ฝุ่นละอองขนาดเล็กมีผลต่อเด็กในครรภ์อีกด้วย
“หญิงตั้งครรภ์ที่ใช้ชีวิตอยู่ในพื้นที่มลพิษสูง เสี่ยงต่อการคลอดก่อนกำหนด น้ำหนักน้อย คลอดออกมาแล้วก็มีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคไหลตาย และเพิ่มโอกาสในการติดเชื้อทางเดินหายใจอีกด้วย” กุมารแพทย์เตือน
ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ จากคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ปัญหาที่เราพบคือการรับรู้ข่าวสารที่ไม่ชัดเจนและถูกต้องจากหน่วยงานภาครัฐ โดยที่ผ่านมาประชาชนรับรู้กันเองผ่านทางโซเชียลมีเดีย
“เราเชื่อถือข้อมูลจากรัฐได้น้อยมาก การแจ้งเตือนของกรมควบคุมมลพิษก็เป็นข้อมูลเก่าที่เก็บในช่วง 24 ชั่วโมงที่ผ่านมา ก่อนมาแสดงผล วันนี้เรากำลังช่วยเหลือตัวเองอยู่ หาแอปพลิเคชันที่บอกเราได้อย่างชัดเจนและน่าเชื่อถือ”
ดร.เจษฎา กล่าวว่า ปัญหาอีกอย่างที่พบ คือ การไร้แผนจัดการปัญหาของหน่วยงานรัฐ ไม่พบหน่วยงานกลางผู้มีอำนาจในการตัดสินใจอย่างเด็ดขาด
“แผนรับมือต้องมี หนึ่ง สอง สาม ประชาชนอยากเห็นว่าคุณจะทำอะไรกันแน่ เราควรจะรับรู้ได้แล้วว่า แค่ไหนที่เรียกว่าวิกฤต ระยะนี้ต้องดูแลตัวเองหรือลูกหลานยังไง”
ผศ.ดร.พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ จากคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งจบการศึกษาระดับปริญญาเอก ด้านการวางแผนภาคและเมือง จากมหาวิทยาลัยแห่งมลรัฐแคลิฟอร์เนีย เห็นว่า เรื่องใหญ่ที่ทุกคนควรพิจารณาและมีส่วนร่วมคือ “ทิศทางการพัฒนาเมือง” เนื่องจากปัญหามลพิษ คือส่วนหนึ่งของภาวะภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง (Climate Change) และ Microclimate หรือสภาพอากาศเฉพาะพื้นที่ หรือเฉพาะจุดย่อย
“เรื่องที่เราต้องคุยเป็นคอนเซปต์ที่มาพร้อมกับปัญหาภัยพิบัติคือ Resilience หรือการอยู่รอด ความคงทน และความยืดหยุ่นต่อการเปลี่ยนแปลง ประเด็นคือเรายังไม่มีการวิเคราะห์โครงสร้างของแต่ละพื้นที่ที่มีมลภาวะสูงเลยว่า มันเกิดจากอะไร มีแต่การรายงานตัวเลขมลพิษสูง ยังไม่เคยลงไปดูว่า ในพื้นที่เขาอยู่กันอย่างไร สภาพเมืองเขาเป็นยังไง เราต้องวิเคราะห์สถานการณ์มลพิษโครงสร้างแต่ละพื้นที่ก่อน ไม่ใช่จะไปประกาศเหมารวมว่า ห้ามรถวิ่ง แล้วปัญหาจบ”
อาจารย์ภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ ย้ำว่า สิ่งสำคัญคือการเตรียมเมืองในระยะยาว จะเปลี่ยนทิศทางเมืองอย่างไร ไม่ใช่คิดแค่ห้ามรถวิ่งหรือห้ามเกษตรกรเผาไหม้เท่านั้น
“ถ้าเมืองไม่เปลี่ยนทิศทาง ห้างสรรพสินค้ายังมีพื้นที่จอดรถจำนวนมาก พื้นที่เขตดินแดง เขตลาดพร้าวมีถนนกี่เลน ก็ไม่แปลกที่มลพิษจะสูง ปัญหาคือคุณพัฒนาถนน พัฒนาเมืองแบบนี้แล้วคุณก็ไปโทษรถ หรือถ้าเราปล่อยให้มีการสร้างตึกมากขนาดนี้ คำถามคือตึกบังลมหรือเปล่า เดิมเราคำนวณแต่ความรุนแรงของลมที่กระทบกับความแข็งแรงของตึก แต่เราได้คิดหรือเปล่าว่า ตึกสูงส่งผลต่อทิศทางลม มลพิษ ความร้อนอย่างไร ฉะนั้นมันต้องเริ่มคิดได้แล้วว่าจะปรับเปลี่ยนเมืองอย่างไรที่ประชาชนต้องมีส่วนร่วมด้วย” เขาระบุ