ไม่พบผลการค้นหา
นักชีววิทยาแถวหน้าของสหรัฐฯ กล่าวว่า หากต้องการหยุดยั้งโรคระบาดในอนาคต มนุษย์ต้องเคารพธรรมชาติมากกว่านี้ เพราะการรุกป่าทำให้เกิดโรคระบาดอย่างที่เป็นอยู่ แต่การห้ามค้าสัตว์ป่าทั้งหมดอาจทำให้ความเป็นอยู่ของคนจนและคนพื้นเมืองย่ำแย่ลง

โทมัส เลิฟจอย นักชีววิทยาชั้นนำของสหรัฐฯ แสดงความเห็นเกี่ยวกับการแพร่ะระบาดของไวรัสโคโรนาว่า “นี่ไม่ใช่การแก้แค้นของธรรมชาติ แต่เราทำตัวเอง” เนื่องจากการค้าสัตว์ป่าอย่างผิดกฎหมายขนาดใหญ่ ทั้งในเอเชียและแอฟริกา และการรุกป่ามากเกินไปเป็นสาเหตุที่ทำให้โควิด-19 ระบาด ดังนั้น มนุษย์จะต้องเคารพธรรมชาติมากกว่านี้ รวมถึงต้องจัดการปัญหาสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงด้วย

ตลาดค้าของสดที่มักขายสัตว์เป็นๆ ทั้งจากปศุสัตว์และสัตว์ป่า รวมถึงปลา ผลไม้และผักทั่วแอฟริกาและเอเชียมักจะไม่มีสุขอนามัยที่ดี และก็มีการสันนิษฐานว่า ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่มาจากตลาดในเมืองอู่ฮั่นของจีน ซึ่งค้าสัตว์ป่าตั้งแต่สุนัขจิ้งจอก หนู กระรอก ลูกหมาป่า ไปจนถึงซาลาแมนเดอร์

World Economic Forum ประเมินว่า โควิด-19 จะทำให้มูลค่าทางเศรษฐกิจโลกปีนี้ลดลง 1 ล้านล้านดอลลาร์ และชุมชนที่เปราะบางจะได้รับผลกระทบมากที่สุด คนในแอฟริกาอาจตกงานเกือบครึ่งหนึ่ง 

เลิฟจอยกล่าวว่า ทุกปี นักวิทยาศาสตร์ค้นพบไวรัสใหม่ 2 - 4 สายพันธุ์ที่เป็นผลมาจากที่มนุษย์รุกป่า และไวรัสเหล่านี้ก็สามารถระบาดไปได้ทั่วโลก การแยกพื้นที่ในตลาดระหว่างสัตว์ป่าและสัตว์จากฟาร์มจะช่วยลดความเสี่ยงในการติดเชื้อลงได้มาก เพราะจะทำให้ไวรัสสายพันธุ์ใหม่แพร่ไปได้น้อยลง สัตว์ในฟาร์มมีโอกาสได้รับเชื้อไวรัสน้อยลง มนุษย์ที่ไปซื้อสัตว์จากฟาร์ม แต่ไม่ได้ไปโซนสัตว์ป่าก็อาจได้รับเชื้อน้อยลงด้วย

เลิฟจอยอธิบายว่า ประเด็นหลักอยู่ที่การลดกิจกรรมที่อาจทำให้ไวรัสแพร่ะกระดายลง แม้การปิดตลาดค้าสัตว์ป่าจะเป็นเป้าหมายในอุดมคติ แต่การทำเช่นนั้นก็จะทำให้ตลาดมืดเฟื่องฟู ซึ่งจะทำให้ควบคุมยากขึ้นไปอีก

ความเห็นของเลิฟจอยตรงกับงานวิจัยที่ตีพิมพ์ในนิตยสารวิชาการ Proceedings of Royal Society B เมื่อต้นเดือน เม.ย.ที่ผ่านมาว่าโควิด-19 ที่ระบาดไปทั่วโลกมีแนวโน้มว่าจะมาจากการที่มนุษย์มีปฏิสัมพันธ์กับสัตว์ป่ามากขึ้น

การแบนสัตว์ป่าต้องคำนึงถึงความเหลื่อมล้ำ

ผู้เชี่ยวชาญต่างๆ ได้ออกความเห็นเกี่ยวกับการตั้งกฎเกณฑ์สำหรับการค้าสัตว์ป่า แต่หลายคนก็กังวลว่า กลุ่มคนจนมีความเสี่ยงที่จะถูกปราบปรามมากที่สุด โดย ดร.เอมี ดิกแมน นักชีววิทยาการอนุรักษ์จากมหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ดได้ยื่นจดหมายเปิดผนึกไปยัง WHO และโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ หรือ UNEP ว่า โรคระบาดครั้งนี้ทำให้เห็นอย่างชัดเจนว่าควรมีการออกมาตรการควบคุมการค้าขายสัตว์ป่า แต่ก็ควรห้ามการค้าขายสัตว์ป่าอย่างไม่มีการเลือกปฏิบัติ

จดหมายฉบับนี้ระบุว่า โควิด-19 ได้สร้างความเสียหายทางสังคมและเศรษฐกิจให้กับหลายประเทศและหลายชุมชน และคนที่จนที่สุดของสังคมก็ได้รับผลกระทบรุนแรงที่สุด ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์น่าจะเกี่ยวข้องกับตลาดสดในจีนทำให้มีเสียเรียกร้องให้แบนตลาดสดหรือห้ามการค้าขายสัตว์ป่า การบริโภคสัตว์ป่า รวมถึงนำสัตว์ป่ามาทำเป็นยา แต่การแบนทั้งหมดก็เป็นมาตรการที่ไม่เท่าเทียมและไม่มีประสิทธิภาพ 

ดิกแมนกล่าวว่า การเปลี่ยนผ่านเรื่องการค้าสัตว์ป่าจะต้องส่งเสริมความเป็นอยู่ของกลุ่มคนที่เปราะบางที่สุดของสังคม ไม่ใช่การทำให้ความเป็นอยู่ของพวกเขาย่ำแย่ลง เพราะหลายคนต้องพึ่งพาทรัพยากรธรรมชาติในป่าเพื่อความอยู่รอด เช่น คนพื้นเมืองที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ห่างไกลที่ได้รับโปรตีนจากการล่าสัตว์ป่า เพราะไม่สามารถเดินทางเข้าเมืองไปหาซื้อเนื้อสัตว์จากฟาร์มได้

การแบนการค้าสัตว์ป่าทั้งหมดแบบคิดง่ายเกินไปอาจเป็นเรื่องที่คนจำนวนมากยอมรับได้ เพราะคนพร้อมจะชี้นิ้วไปหาตลาดที่อยู่ห่างไกลจากตัวเอง เพราะการแบนไม่ได้กระทบกับชีวิตพวกเขา แต่มาตรการแบนจะกระทบต่อสิทธิของกลุ่มคนที่เปราะบางที่สุดในสังคม คนยากจนจะยิ่งจนลงและเกิดความเหลื่อมล้ำมากขึ้น ซึ่งอาจเพิ่มอัตราการเกิดอาชญากรรม

ที่มา : The Guardian, The Verge, The Conversation

ข่าวที่เกี่ยวข้อง: