ไม่พบผลการค้นหา
พล.อ.ประยุทธ์ ลงนามแต่งตั้งคณะกรรมการเฉพาะกิจพิจารณาการผ่อนปรนคุมโควิด มีผลแล้วทันที

ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่คำสั่งนายกรัฐมนตรี ที่ 22/2563 เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการเฉพาะกิจพิจารณาการผ่อนคลายการบังคับใช้มาตรการในการป้องกันและยับยั้งการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ลงนามเมื่อวันที่ 12 พ.ค.2563 โดยระบุว่า ตามที่ได้มีประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักรตั้งแต่วันที่ 26 มี.ค. 2563 และต่อมาได้มีประกาศขยายระยะเวลาการบังคับใช้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินดังกล่าวออกไปจนถึงวันที่ 31 พ.ค. 2563 นั้น 

เพื่อให้การบริหารสถานการณ์ฉุกเฉินเกี่ยวกับการผ่อนคลายการบังคับใช้มาตรการป้องกันและยับยั้งการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ดำเนินการไปโดยเป็นลำดับขั้นตอน ตามหลักเกณฑ์ขององค์การอนามัยโลกและผลการประเมินสถานการณ์ทางด้านสาธารณสุข เพื่อให้สถานการณ์กลับคืนสู่ภาวะปกติได้อย่างเรียบร้อย อาศัยอำนาจตามความในข้อ 2 วรรคสอง ของคำสั่งนายกรัฐมนตรี ที่ 5/2563 เรื่อง การจัดตั้งหน่วยงานพิเศษเพื่อปฏิบัติหน้าที่ตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ลงวันที่ 25 มี.ค. 2563

นายกรัฐมนตรีจึงมีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการเฉพาะกิจพิจารณาการผ่อนคลายการบังคับใช้มาตรการในการป้องกันและยับยั้งการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) โดยมีเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ ในฐานะหัวหน้าสำนักงานประสานงานกลางศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 เป็นประธานกรรมการ ขณะที่พล.อ.ณัฐพล นาคพาณิชย์ รองผู้บัญชาการทหารบก ในฐานะรองหัวหน้าสำนักงานประสานงานกลางฯ และรองเลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ที่เลขาธิการสศช.มอบหมาย เป็นรองประธานกรรมการ

ส่วนกรรมการ ได้แก่ ผู้แทนสำนักงานเลขาธิการศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 ผู้แทนศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุข ผู้แทนศูนย์ปฏิบัติการด้านมาตรการป้องกันและช่วยเหลือประชาชน ผู้แทนศูนย์ปฏิบัติการด้านการสื่อสารโทรคมนาคม และสื่อสังคมออนไลน์ ผู้แทนศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินด้านความมั่นคง ผู้แทนศูนย์ปฏิบัติการมาตรการเดินทางเข้าออกประเทศ และการดูแลคนไทยในต่างประเทศ ผู้แทนศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินด้านคมนาคมและการขนส่งทั่วราชอาณาจักร 

ผู้แทนศูนย์ปฏิบัติการด้านมาตรการให้ความช่วยเหลือเยียวยา ผู้แทนศูนย์ปฏิบัติการด้านการควบคุมสินค้า ผู้แทนศูนย์ปฏิบัติการด้านนวัตกรรมการแพทย์และการวิจัยและพัฒนา ผู้แทนกระทรวงยุติรรรม ผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ผู้แทนสำนักงานอัยการสูงสุด ศ.คลินิกเกียรติคุณ นพ.อุดม คชินทร ศ.คลินิกเกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร นายบัณฑูร เศรษฐศิโรตม์ นายสันติธาร เสถียรไทย ขณะที่ รองเลขาธิการสมช.ที่เลขาธิการสมช.มอบหมาย และพล.ต.ชัยพฤกษ์ ด้วงประพัฒน์ เป็นกรรมการและเลขานุการร่วม รวมถึงเจ้าหน้าที่สำนักงานสมช. เจ้าหน้าที่สศช.และเจ้าหน้าที่กรมควบคุมโรค ดำรงตำแหน่งกรรมการและผู้ช่วยเลขานุการ

สำหรับหน้าที่และอำนาจคณะกรรมการฯ คือ 1.ประเมินสถานการณ์ วิเคราะห์ กลั่นกรอง รวบรวมความคิดเห็น ข้อเสนอแนะทางวิชาการ และข้อเสนอขอภาคส่วนต่าง ๆ และจัดทำแนวทางผ่อนคลายการบังคับใช้มาตรการในการป้องกันและยับยั้งการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในทุกห้วงระยะเวลา 34 วัน เสนอต่อนายกรัฐมนตรีเพื่อพิจารณา

2.จัดทำร่างข้อกำหนดเพื่อผ่อนคลายการบังคับใช้มาตรการในการป้องกันและยับยั้งการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 รวมทั้งหลักเกณฑ์และวิธีการปฏิบัติสำหรับกิจการหรือกิจกรรมที่ผ่อนคลาย

3.ประสานการดำเนินการกับส่วนราชการ หน่วยงานของรัฐ และเอกชนที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนเชิญผู้แทนส่วนราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือผู้เกี่ยวข้องมาให้ข้อมูล ข้อเท็จจริงความเห็น หรือส่งเอกสารหลักฐานใดๆที่เกี่ยวข้องเพื่อประกอบการพิจารณา

4.แต่งตั้งคณะอนุกรมการ คณะทำงาน หรือมอบหมายเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเพื่อช่วยเหลือ การปฏิบัติหน้าที่หรือดำเนินการตามที่คณะกรรมการมอบหมายได้ตามความจำเป็นและเหมาะสม 5.ปฏิบัติหน้าที่อื่นตามที่นายกรัฐนตรีหรือศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 มอบหมาย

โดยให้คณะกรรมการเฉพาะกิจชุดดังกล่าวเป็นที่ปรึกษาในการปฏิบัติงานของหน่วยงาน เจ้าหน้าที่ในการปฏิบัติหน้าที่ตามมาตรา 8 แห่งพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ทั้งนี้ ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป