ไม่พบผลการค้นหา
‘คณะรณรงค์แก้ รธน.ตัดอำนาจ ส.ว.เลือกนายกฯ’ นำ 7 หมื่นรายชื่อ ยื่นสภาฯ เสนอแก้ไข รธน. ยกเลิกอำนาจ ส.ว.เลือกนายกฯ คาดเข้าที่ประชุม พ.ค .นี้ คืนสนามการเมืองให้เป็นปกติ

วันที่ 22 กพ. 2565 ที่อาคารรัฐสภา คณะรณรงค์แก้รัฐธรรมนูญ มาตรา 272 ยกเลิกอำนาจ ส.ว. เลือกนายกรัฐมนตรี นำโดย รศ.สมชัย ศรีสุทธิยากร อดีตกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ดร.บุญส่ง ชเลธร และ ณัฐฐา มหัทธนา เข้ายื่นรายชื่อภาคประชาชน จำนวน 70,500 รายชื่อ ที่ร่วมกันเข้าชื่อทางจากเว็ปไซต์ www.nosenatevote.net โดยบรรจุรายชื่อมาในกล่องกระดาษจำนวน 36 กล่อง และ ผ่องศรี ธาราภูมิ คณะทำงานการเมืองของ ชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฏร เป็นผู้แทนรับรายชื่อ 

รศ.สมชัย เผยว่า คณะรณรงค์ฯ ได้เปิดรับรายชื่อมาเป็นเวลา 2 เดือน รวบรวมได้ประมาณ 8 หมื่นรายชื่อ แต่ขออนุญาตส่งมาขั้นต้นเพียง 70,500 รายชื่อ เพื่อไม่ให้เป็นภาระของเจ้าหน้าที่ เพราะตามรัฐธรรมนูญมาตรา 256 (1) ระบุว่า การเข้าชื่อเพื่อการแก้ไขกฎหมายต้องไม่น้อยกว่า 50,000 รายชื่อ โดยคาดว่าทางเจ้าหน้าที่จะใช้เวลาตรวจสอบไม่เกิน 45 วัน และอาจจะได้รับการบรรจุเข้าสู่วาระการประชุมสภาในสมัยประชุมที่ 1 ในช่วงเดือน พ.ค. 2565 อย่างไรก็ตาม การเปิดรับรายชื่อจะยังไม่ยุติแม้จะเข้าสู่วาระการประชุมแล้ว 

ขณะที่ ดร. บุญส่ง กล่าวว่า คณะรณรงค์ฯ ขอเรียกร้องให้แก้ไขมาตรา 272 เพียงประเด็นเดียวเท่านั้นคือ ขอให้ยกเลิกสิทธิของ ส.ว. ในการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีออกไป เพราะเราเชื่อมั่นว่า ในระบอบประชาธิปไตยนั้น การเลือกนายกฯ ของประชาชนเป็นสิ่งสำคัญมากที่สุด ปล่อยให้เป็นเรื่องของประชาชนตัดสินอนาคตของประเทศเอง พร้อมฝากถึงผู้ที่เกี่ยวข้อง อย่าขัดขวางกระแสธารของประวัติศาสตร์ 

คณะรณรงค์แก้รัฐธรรมนูญ สมชัย 2048A2497C1.jpegสมชัย โบว์ ณัฏฐา คณะรณรงค์แก้รัฐธรรมนูญ 84E5-40D2-A857-55FEA5674E64.jpegคณะรณรงค์แก้รัฐธรรมนูญ สมาชิกวุฒิสภา สมชัย 9BD0-9C73F2085FD4.jpeg

ด้าน ณัฐฐา ระบุว่า การยื่นรายชื่อครั้งนี้ไม่ใช้เพียงพิธีกรรมที่รู้อยู่แล้วว่าจะเป็นไปไม่ได้ คณะรณรงค์ฯ นั้น ประกอบด้วยทุกคนจากทุกฝ่าย ทุกความคิด หลากหลายอุดมการณ์ด้วยความมุ่งหวังให้สนามการเมืองกลายเป็นปกติ โดยส่วนตัวให้ความสำคัญกับการรณรงค์ในครั้งนี้มาก และเชื่อว่าจะเป็นการเคลื่อนไหวทางการเมืองครั้งสุดท้ายของตนแล้ว ขอฝากถึงสื่อมวลชนให้รักษากระแสนี้เอาไว้ จนถึงวันที่ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญนี้เข้าสู่รัฐสภาและเชื่อในความเป็นไปได้ร่วมกัน