ไม่พบผลการค้นหา
กมธ.การเมือง แฉ สพฐ. ยังปล่อยให้ครอบครัวนักเรียนรับผิดชอบค่าชุดตรวจ ATK เผยเชิญประชุมแล้วแต่ไม่ยอมมา จ่อทำหนังสือท้วงติงหา รมว. ศธ.

วันที่ 10 มี.ค. 2565 ที่อาคารรัฐสภา สุทธวรรณ สุบรรณ ณ อยุธยา ส.ส.นครปฐม พรรคก้าวไกล ในฐานะโฆษกคณะกรรมาธิการ การพัฒนาการเมือง การสื่อสารมวลชน และการมีส่วนร่วมของประชาชน แถลงข่าวผลการประชุมของคณะ กมธ. เมื่อวานนี้ (9 มี.ค. 2565) ซึ่งคณะ กมธ. ได้มีการประชุมเพื่อพิจารณาศึกษาการมีส่วนร่วมของประชาชนในการบริหารจัดการสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 โดยเชิญ รมว.ศึกษาธิการ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) และผู้อำนวยการสำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร เข้าร่วมประชุม เพื่อสอบถามกรณีที่สถานศึกษามีความจำเป็นต้องให้นักเรียนตรวจ ATK ก่อนเข้าเรียน จะต้องไม่เป็นการผลักภาระให้กับผู้ปกครองตามแนวนโยบายและข้อสั่งการของกระทรวงศึกษาธิการ และ สพฐ. ที่แจ้งให้สถานศึกษาทุกแห่งทราบและถือปฏิบัติตาม โดยให้ สพฐ. เป็นผู้รับผิดชอบในการประสานและจัดหาชุดตรวจ ATK สนับสนุนให้แก่โรงเรียนและสถานศึกษาในสังกัด และให้ใช้งบอุดหนุนของกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อมิให้เป็นการเพิ่มภาระค่าใช้จ่ายให้แก่ผู้ปกครอง 

แต่ในความเป็นจริง โรงเรียนและสถานศึกษาหลายแห่ง ยังคงให้ผู้ปกครองเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการจัดหาชุดตรวจ ATK และการตรวจเอง ซึ่งสวนทางกับนโยบายตามที่มีการแจ้งเวียน ดังนั้น คณะ กมธ. จึงต้องการทราบการยืนยันและข้อเสนอแนะเชิงนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการ และ สพฐ. แต่เนื่องจาก รมว.ศึกษาธิการ และเลขาธิการ สพฐ. ไม่ได้เข้าร่วมประชุมกับคณะ กมธ. โดยได้ส่งผู้แทนมาเข้าร่วมประชุม คณะ กมธ. จึงไม่สามารถพิจารณาข้อสรุปจากการดำเนินการตามนโยบายดังกล่าวได้ ซึ่งคณะ กมธ.จะได้มีหนังสือท้วงติงต่อ รมว.ศึกษาธิการ และเลขาธิการ สพฐ. เพื่อให้ชี้แจงถึงเหตุที่ไม่สามารถเข้าร่วมประชุมกับคณะ กมธ. 

ทั้งนี้ ผู้แทนจาก สปสช. ได้ชี้แจงแนวทางการส่วนร่วมของประชาชนในการบริหารจัดการสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ว่า สปสช. มีการสนับสนุนด้านงบประมาณในจัดหาชุดตรวจ ATK ไปยังองค์การเภสัชกรรมและร้านขายยาเอกชน โดยมีงบประมาณจากกองทุน สปสช. เพื่อใช้ในการบริหารจัดการสถานการณ์การแพร่ระบาด และด้านสาธารณสุขต่าง ๆ ให้แก่ประชาชน รวมทั้งการให้คำปรึกษาข้อเสนอแนะแก่ประชาชน และหน่วยงานต่าง ๆ อาทิ สพฐ. กระทรวงศึกษาธิการ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข และกรุงเทพมหานคร โดยไม่ได้เป็นหน่วยงานผู้ปฏิบัติหรือให้บริการ ซึ่งประชาชนสามารถเข้ารับบริการและซื้อชุดตรวจ ATK ได้ที่ร้านขายยา โดยใช้แอปพลิเคชันเป๋าตังค์ของรัฐบาล และขอรับได้ที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลต่าง ๆ ในต่างจังหวัด และจากศูนย์บริการสาธารณสุข สำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร ในราคาที่มีการควบคุมไม่ให้แพงเกินไป 

ด้านผู้แทนจากสำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร ได้ชี้แจงเรื่องการบริหารจัดการสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ว่า ได้มีการทำงานเชิงรุก โดยมีหน่วยงานในการกำกับดูแล ได้แก่ ศูนย์บริการสาธารณสุข สำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร จำนวน 69 แห่ง และมีผู้ประกอบการด้านสาธารณสุขของเอกชน เข้าร่วมดำเนินการ โดยได้รับอนุญาตจากผู้อำนวยการสำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร ในการเข้าตรวจคัดกรอง รักษา โดยการลงพื้นที่ของผู้ประกอบการเอกชน และสำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร ในการตรวจ ATK ให้แก่ประชาชน และการแจกจ่ายยารักษา การกำหนดมาตรการในการรักษา การกำหนดสถานที่ที่มีการกักตัวบุคคลที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่เชื้อ อาทิ ที่บ้าน สถานพยาบาล หรือสถานที่ที่กำหนดไว้เป็นการเฉพาะ โดยจะมีการลงพื้นที่ที่มีการแจ้งหรือพบเห็นการแพร่ระบาดของโรค สำนักอนามัยกรุงเทพมหานคร จะส่งเจ้าหน้าที่ด้านการสาธารณสุขเข้าตรวจสอบการดำเนินการของผู้ประกอบการเอกชนทุกครั้ง 

ทั้งนี้ คณะ กมธ. ขอให้สำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร จัดส่งข้อมูลเพิ่มเติม อาทิ การดำเนินการมาตรการในการตรวจ การจัดหายาและเวชภัณฑ์ จำนวนและรายชื่อผู้ประกอบการเอกชนที่จดทะเบียนและเข้าร่วมดำเนินการ จำนวนจุดที่มีการเข้าตรวจ และงบประมาณที่ใช้ในการดำเนินการจัดจ้างให้ผู้ประกอบการเอกชนดำเนินการ ให้กับคณะกมธ. เพิ่มเติมต่อไป