แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล และศูนย์ศึกษาสันติภาพและความขัดแย้ง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกันจัดเวทีดีเบต "เปิดแนวคิดพรรคการเมืองกับนโยบายด้านสิทธิมนุษยชน" โดยมีตัวแทนพรรคการเมืองที่ร่วมดีเบตได้แก่ วัฒนา เมืองสุข จากพรรคเพื่อไทย อลงกรณ์ พลบุตร จากพรรคประชาธิปัตย์ พาลินี งามพริ้ง จากพรรคมหาชน เกรียงศักดิ์ ธีระโกวิทขจร จากพรรคสามัญชน และพรรณิการ์ วานิช จากพรรคอนาคตใหม่เข้าร่วมแสดงวิสัยทัศน์เกี่ยวกับประเด็นต่างๆ โดยผู้ดำเนินรายการแจ้งว่าได้เชิญตัวแทนจากพรรคพลังประชารัฐแล้ว แต่พรรคพลังประชารัฐไม่ส่งตัวแทนมาร่วมเวทีดีเบต
พรรณิการ์: ยกตัวอย่างกรรมการบริหารพรรคอนาคตใหม่ถูกแจ้งข้อหานำเข้าข้อมูลอันเป็นเท็จเข้าสู่ระบบจากการเฟซบุ๊กไลฟ์วิจารณ์การดูดส.ส.ของพรรคพลังประชารัฐ ซึ่งเห็นได้ชัดว่าเป็นการกลั่นแกล้งทางการเมือง พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ไม่ได้นำไปใช้ในเชิงเทคนิคเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ แต่ใช้ในควบคุมเนื้อหาและสิทธิเสรีภาพในการแสดงออก ทั้งที่สามารถใช้กฎหมายหมิ่นประมาทได้ และข้อหาหมิ่นประมาทก็ไม่ควรเป็นคดีอาญาด้วย ไม่จำเป็นต้องมีใครติดคุก จึงต้องแก้ไขพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์
นอกจากนี้ จำเป็นต้องประกาศพิจารณาคำสั่ง คสช. 35 ฉบับใหม่ทั้งหมด เพราะส่วนใหญ่เป็นการละเมิดสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกของประชาชนและละเมิดเสรีภาพสื่อด้วย ดังนั้นต้องนำมาทบทวนและเยียวยาให้กับผู้ที่ได้รับผลกระทบจากประกาศคำสั่งที่ละเมิดสิทธิด้วย รวมถึง พลเรือนต้องไม่ขึ้นศาลทหาร ส่วนมาตรา 116 ข้อหายุยงปลุกปั่นที่ถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองก็ต้องได้รับการแก้ไขด้วย
วัฒนา: รัฐจะต้องไม่เป็นคู่กรณีกับประชาชน หากประชาชนใช้สิทธิขั้นพื้นฐานของตัวเอง รัฐบาลนำภาษีประชาชนมาบริหารประเทศ ประชาชนก็ย่อมวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐบาลได้ หากยอมรับไม่ได้ก็ต้องลาออก นอกจากนี้ ต้องให้การศึกษาทำความเข้าใจกับเจ้าหน้าที่รัฐ ยิ่งไปกว่านั้น คนในกระบวนการยุติธรรมยังไม่สามารถดำรงความซื่อสัตย์ในวิชาชีพของตัวเอง ตัวกฎหมายไม่มีปัญหา แต่ผู้บังคับใช้กฎหมายมีปัญหา เพราะบ้านเมืองไม่เป็นประชาธิปไตย
อลงกรณ์: เรื่องนี้มี 4 ประเด็นย่อย ได้แก่ 1. เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น พรรคประชาธิปปัตย์ยืนยันว่า จะต้องแก้ไขกฎหมายทั้งหมดใดๆ ที่ลิดรอนสิทธิ 2. การหมิ่นประมาท การตีความกฎหมายใดๆ โดยเฉพาะกฎหมายเกี่ยวกับไซเบอร์ จะต้องปรับปรุงนิยามที่เกี่ยวข้อง เพื่อป้องกันการใช้อำนาจรัฐกลั่นแกล้ง นิยามความมั่นคงจะต้องถูกจำกัดให้แคบที่สุด ไม่ให้เจ้าหน้าที่ตีความนิยามความมั่นคงที่กว้างเกินไป 3. พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์เป็นกฎหมายชุดใหม่ในยุคศตวรรษที่ 21 แต่จะต้องปรับปรุงไม่ให้นำไปใช้กลั่นแกล้งทางการเมือง 4. การกลั่นแกล้งทางการเมืองต้องไม่เกิดขึ้น แต่ต้องมีการตรวจสอบถ่วงดุล พรรคประชาธิปัตย์จะทำงานร่วมกับองค์กรอิสระโดยไม่เข้าไปแทรกแซง ไม่ว่าจะเป็นศาลปกครอง คณะกรรมการสิทธิมนุษยชน หรือผู้ตรวจการแผ่นดิน
พาลินี: ปร.42 เป็นกฎหมายที่ออกมาโดยคณะรัฐประหารพลเอกสงัด ชะลออยู่เป็นกลไกที่ใช้ควบคุมสื่อและจำกัดสิทธิในการแสดงความคิดเห็น ณ วันนี้ มีการปิดวอยซ์ทีวี ราวกับประเทศไทยย้อนกลับไปสู่ยุคเก่า ทำไมจึงรักประเทศแล้วไม่เคลื่อนไปข้างหน้าพร้อมโลกที่หมุนไป ต้องแก้ทัศนคติเช่นนี้ให้ได้ก่อน
เสรีภาพในการแสดงออกไม่ใช่แค่เรื่องการเมือง แต่ต้องอยู่ในทุกอณูของสังคม ทั้งเรื่องสังคม ศิลปวัฒนธรรม การควบคุมเนื้อหาทางทีวีและเซนเซอร์ภาพยนตร์เป็นการทำลายคุณค่าทางวัฒนธรรมและเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น อีกทั้งยังตัดโอกาสทางเศรษฐกิจที่ไทยจะเผยแพร่วัฒนธรรมไปสู่โลกได้ ภาพยนตร์หลายเรื่องถูกห้ามฉาย ถูกเซนเซอร์ด้วยเหตุผลที่ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริงในสังคม พรรคมหาชนมองว่าทุกคนสามารถแสดงความคิดเห็นได้ตราบใดที่ไม่ละเมิดคนอื่น หากละเมิดก็ยังเชื่อว่ามีกฎหมายหมิ่นประมาท ซึ่งยังมีความสำคัญในฐานะตัวป้องกันคนที่ถูกละเมิด
เกรียงศักดิ์: ขอแสดงความคารวะต่อสมาชิกพรรคสามัญชน รวมถึงแม่ของไผ่ ดาวดิน ที่ผ่านมา นักเคลื่อนไหว นักวิชาการและสื่อมวลชนถูกกระทำโดยกฎหมายที่ไม่เป็นธรรม หากพรรคสามัญชนได้เข้าไปทำงาน สิ่งที่จะทำอันดับต้นๆ ก็คือการยกเลิกประกาศคำสั่งคสช. ทั้งหมดที่จำกัดสิทธิและเสรีภาพในการแสดงออก 35 ฉบับ ยุติการดำเนินคดีและคืนสิทธิให้กับผู้ต้องขัง ผู้ต้องหาและอดีตผู้ต้องขังทุกคน และพรรคสามัญชนจะผลักดันให้มีการปกป้องนักเคลื่อนไหวที่ถูกเอกชนฟ้องร้อง เป็นยุทศาสตร์ Strategic Lawsuit Against Public Participation (SLAPP) ซึ่งมีการใช้อยู่มากในไทยและทั่วโลก
วัฒนา: จะต้องเปลี่ยนแนวคิดให้การเมืองนำการทหาร สถานการณ์ชายแดนใต้เป็นเรื่องการเมือง เพราะนักการเมืองยังใช้ชีวิตได้ตามปกติ มีเพียงเจ้าหน้าที่รัฐที่ถูกทำร้าย ดังนั้น สงครามไม่อาจจบได้ด้วยสงคราม แต่ด้วยการเจรจา ปัญหาที่ยืดเยื้อนี้มีเรื่องการใช้งบประมาณเข้าไปแก้ปัญหาจำนวนมหาศาล มีคนจากทั้งสองฝ่ายที่ไม่อยากให้เรื่องจบ นอกจากนี้ ปัญหาเหล่านี้แก้ไขได้ หากอมรับความแตกต่างหลากหลายทางวัฒนธรรม ในขณะที่คนยอมรับการเรียนภาษาที่ 3 ได้ ทำไมจึงมีความพยายามกีดกันการใช้ภาษายาวี ก็ต้องมีการพูดคุยกันต่อไป
นโยบาย 3 จังหวัดชายแดนได้ มีความละเอียดอ่อน ขั้นแรกจะต้องทำให้คนเข้าใจว่า 3 จังหวัดชายแดนใต้ยังมีปัญหาอยู่ ทุกคนในสังคมต้องยอมรับและดูแลปัญหานี้อย่างระมัดระวัง ปัจจุบัน ยังไม่เคยทำให้คนในสังคมรับรู้ปัญหาที่แท้จริงใน 3 จังหวัดชายแดนใต้เลย คนไทยส่วนใหญ่รู้เพียงมีความรุนแรง แต่ไม่เคยมีใครวิพากษ์สาเหตุที่แท้จริง ไม่เคยให้คนไทยมาช่วยกันคิดว่าเรื่องนี้ควรจะทำอย่างไรกัน เพื่อไทยจึงจะทำให้เรื่องนี้เป็นนโยบายระดับชาติ เพื่อให้ทุกคนมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหา
อลงกรณ์: ปัญหาชายแดนใต้แทบไม่เกิดขึ้นมาก่อนปี 2547 โดยเฉพาะช่วงที่ชวน หลีกภัยเป็นนายกรัฐมนตรี แทบจะไม่มีปัญหาในชายแดนภาคใต้ แม้ความแตกต่างทางวัฒนธรรมจะมีมานานแล้ว สิ่งสำคัญก็คือหลักความยุติธรรม หากพรรคประชาธิปัตย์มีอำนาจบริหารก็จะทำให้ภาคใต้สงบสุขเหมือนที่เคยทำมา โดยหลักการของพรรคประชาธิปัตย์ก็คือ 1. ยกเลิกกฎหมายพิเศษ ไม่ว่าจะเป็นพ.ร.ก. ฉุนเฉิน กฎอัยการศึก 2. ใช้แนวทางการเมืองนำการทหาร จัดตั้งสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบล (ส.อบต.) เพื่อให้องค์กรที่เกี่ยวข้องรวมถึงฝ่ายศาสนาเข้ามาทำงานร่วมกัน
พาลินี: ปัญหาชายแดนใต้เป็นปัญหาการเมือง และควรจะแก้ได้ง่าย หากหน่วยงานรัฐไม่ทำตัวกร่างไปจัดการทุกเรื่อง การใช้อำนาจของรัฐจนมากไปกระตุ้นให้เกิดปัญหา เช่น การประกาศกฎอัยการศึกเฉพาะพื้นที่ การแก้ปัญหาก็คือ ปฏิบัติกับเขาอย่างเป็นคนเหมือนกัน เช่น เวลามีการแข่งขันฟุตบอลไม่เคยมีเหตุวางระเบิด เพราะคนที่นั่นชอบฟุตบอล หากพาลินีได้เป็นนายกฯ จะเอาฟุตบอลทีมชาติไปแข่งที่ปัตตานี การแก้ไขปัญหาในพื้นที่ที่มีความแตกต่าง จะต้องมองหาจุดร่วม ที่ผ่านมา เราถูกล้างสมองจากข่าวสารส่วนกลางว่าคนในพื้นที่เป็น “คนอื่น” ทั้งที่ทุกคนก็มีวิถีชีวิตเหมือนมนุษย์ทั่วไป มีวัฒนธรรมพื้นถิ่น มีความเชื่อ มีภาษาของเขา แต่ไม่ได้แปลว่าเราแตกต่างกัน
เกรียงศักดิ์: พรรคสามัญชนยืนหยัดหลักการกำหนดอนาคตของตัวเองของคนแต่ละกลุ่ม รวมถึงในภาคใต้ จะต้องมีกลไกที่ทำให้คนในพื้นที่รู้สึกปลอดภัยที่จะพูดคุยกัน รวมถึงทบทวนยกเลิกกฎหมาย ประกาศคำสั่ง พ.ร.ก.ฉุกเฉิน พ.ร.บ.รักษาความมั่นคงภายในประเทศ แล้วเปลี่ยนมาเป็นกฎหมายประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาตามปกติ และสนับสนุนการพิจารณาและไต่สวนคดีอย่างเป็นธรรม นับแต่มีความรุนแรงเกิดขึ้น อีกทั้งยังต้องมีกระบวนการเยียวยา
พรรณิการ์: สิ่งแรกๆที่จะทำคือการยกเลิกกฎหมายพิเศษที่นำไปสู่การใช้อำนาจเกินขอบเขตและเลือกปฏิบัติ ต้องยกเลิกกฎอัยการศึก เพราะไม่ได้ทำให้เกิดความมั่นคง แต่ทำให้เกิดการเลือกปฏิบัติและสั่งสมความคับแค้นใจให้คนในพื้นที่ พ.ร.ก.ฉุกเฉินอาจยังมีอยู่ได้ แต่พรรคอนาคตใหม่จะทำให้การออกพ.ร.ก.เคร่งครัดขึ้น โดยการกำหนดให้ประกาศได้สูงสุด 7 วัน หากเกินกว่านั้นต้องยื่นให้รัฐสภาพิจารณาความจำเป็นเร่งด่วน หากเกิน 30 วัน คณะสิทธิมนุษยชนแห่งชาติมีสิทธิฟ้องร้องศาลปกครองให้ตรวจสอบว่ายังเกิดสถานการณ์ฉุกเฉินจริงหรือไม่ เพราะภายใน 30 วันสถานการณ์ฉุกเฉินควรสิ้นสุดแล้ว ทั้งหมดนี้คือขั้นตอนที่เป็นรูปธรรมในการยกเลิกกฏหมายพิเศษ โดยที่ไม่ละเลยสถานการณ์ความจำเป็นที่อาจมีอยู๋ในสามจังหวัดชายแดนใต้
นอกจากนี้ พรรคอนาคตใหม่ต้องการให้มีกระบวนการยุติธรรมระยะเปลี่ยนผ่านเยียวยาผู้ที่สูญเสียจากการความรุนแรงที่เกิดขึ้นและการใช้อำนาจเกินขอบเขตของเจ้าหน้าที่รัฐ การสร้างความจริงให้ปรากฏ ความขัดแย้งในสามจังหวัดชายแดนใต้ไม่ต่างจากความขัดแย้งทางการเมือง หากไม่มีความจริงและความยุติธรรม ความสมานฉันท์ปรองดองก็ไม่สามารถเกิดขึ้นได้ ไม่สามารถเยียวยาใครได้ หากไม่คืนความเป็นธรรมให้พวกเขาก่อน
เมื่อทุกพรรคการเมืองเห็นตรงกันว่า ปัญหาในสามจังหวัดชายแดนใต้ ไม่ใช่ความขัดแย้งทางเชื้อชาติหรือศาสนา แต่เป็นความขัดแย้งทางการเมือง การเจรจาสันติภาพจะเกิดขึ้นและดำเนินต่อไป ซึ่งเป็นกระบวนการที่ยาวนานเป็นทศวรรษ และรัฐบาลที่เจรจาจะต้องเป็นรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง เพราะจะทำให้เกิดความไว้เนื้อเชื่อใจ ผู้ที่เป็นก่อการในสามจังหวัดภาคใต้กับรัฐบาล เมื่อมีการเจรจาควบคุมไปกับการเยียวยาผู้สูญเสีย ปัญหาภาคใต้จะยุติลงได้
อลงกรณ์: การทรมานและบังคับสูญหายเป็นความผิดร้ายแรง แม้ไทยจะเป็นภาคีอนุสัญญาว่าด้วยการทรมานไปแล้ว แต่การอุ้มหายยังไม่ได้ลงสัตยาบรรณ องค์กรด้านสิทธิสรุปว่า 35 ปีที่ผ่านมา ไทยมีคดีอุ้มหาย 90 คดี โดย 81 คดียังไม่ได้รับการแก้ไข รัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์จะออกกฎหมายพ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการอุ้มหาย โดยจะต้องกำหนดแนวปฏิบัติให้กับผู้บังคับบัญชา เพื่อป้องกันการสมรู้ร่วมคิดในการละเมิดสิทธิของประชาชน พรรคประชาธิปัตย์จะเชิญผู้เชี่ยวชาญและเหยื่อของความรุนแรงเหล่านี้เข้ามามีส่วนร่วมกับการร่างกฎหมายฉบับนี้ นอกจากนี้ จะพิจารณาการให้สัตยาบรรณ ICCPED (เรื่องการต่อต้านการบังคับสูญหาย) ที่ยังค้างอยู่เพื่อให้ครบถ้วนสมบูรณ์
พาลินี: เป็นเรื่องกระอักกระอ่วนที่จะพูดในฐานะนักการเมือง ซึ่งไม่อาจพูดแทนผู้ประสบความรุนแรงนี้เอง แต่พรรคมหาชนมีนโยบายที่จะผลักดันให้แผนสิทธิมนุษยชนเป็นแผนเกรดเอ จากที่ผ่านมาไทยให้ความสำคัญกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเป็นแผนเกรดเอเท่านั้น
เกรียงศักดิ์: พรรคสามัญชนมีความกังวลและห่วงใยเรื่องนี้อย่างมาก แม้จะไม่มีกระบวนการทำนโยบายเรื่องนี้อย่างชัดเจน แต่มีคำมั่นในเรื่องของหลักการ และตระหนักว่าการไม่มีกฎหมายจัดการเรื่องนี้ ทำให้ภาระในการสืบหาความจริงตกเป็นของครอบครัวของผู้สูญหาย
พรรณิการ์: ที่ผ่านมา กรณีคนสูญหายไม่ได้รับการคลี่คลาย เพราะคดีไม่มีผู้เสียหาย เนื่องจากพิสูจน์ไม่ได้ว่าหายไปไหน เสียชีวิตหรือไม่ ร่างที่สนช.พิจารณาดีขึ้นมาตรงที่อนุญาตให้ครอบครัวเป็นผู้เสียหายได้ แต่มาตรา 12 ที่ห้ามรัฐส่งคนออกนอกราชอาณาจักรหากพิสูจน์แล้วว่าบุคคลนั้นจะเผชิญกับอันตราย กลับถูกตัดออก ก็ต้องนำกลับมาใหม่ และต้องนำมาตรา 32 กลับมา หากผู้ใต้บังคับบัญชาทำ ผู้บังคับบัญชาต้องรับผิดเช่นกัน ผู้บังคับบัญชาจะเข้มงวดกวดขันไม่ให้มีการซ้อมทรมานและอุ้มหาย เพราะต้องยอมรับว่ากรณีส่วนใหญ่กระทำโดยเจ้าหน้าที่รัฐ ส่วนมาตรา 23 ซึ่งยกเว้นไม่ต้องเปิดเผยข้อมูลผู้ที่ถูกจำกัดเสรีภาพ หากมองว่าการเปิดเผยละเมิดความเป็นส่วนตัวของบุคคลนั้น หรือกระทบกับการดำเนินคดีอาญา หมายความว่า กฎหมายจะเขียนมาดีแค่ไหนก็มีช่องโหว่ให้เจ้าหน้าที่มีทางออกเสมอ ฉะนั้น ต้องแก้ไขมาตราที่มีช่องโหว่เช่นนี้
อีกส่วนที่สำคัญมาก คือ การซ้อมทรมานส่วนใหญ่เกิดขึ้นในค่ายทหาร เป็นการซ้อมทรมานทหารเกณฑ์ ฉะนั้น การปฏิรูปกองทัพของอนาคตใหม่ก็เป็นส่วนหนึ่งในการแก้ไขปัญหานี้ ยกเลิกการเกณฑ์ทหาร ให้คนเข้าระบบด้วยความสมัครใจ และกระบวนการฝึกทั้งหมดจะเป็นไปตามมาตรฐานสากล สอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชนสากล ยกเลิกการฝึกรด.เอง เปลี่ยนเป็นการฝึกส่วนกลางทั้งหมด เพื่อให้กระบวนการเป็นไปอย่างโปร่งใส สอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชน ตรวจสอบและควบคุมได้ง่ายขึ้น
พรรคอนาคตใหม่จะยื่นเสนอร่างกฎหมายแน่นอนจะผ่านหรือไม่เป็นเรื่องการต่อรองกับพรรคอื่น แต่การคาดคั้นสัญญาจากพรรคการเมืองเพียงอย่างเดียวไม่พอ ภาคประชาสังคม ประชาชน ภาคเอกชนและพรรคการเมืองต้องร่วมมือกันทำงานทางความคิดด้วย จึงจะสำเร็จ
วัฒนา: หลายพรรคพูดถึงแนวทางการแก้ไขกฎหมายไปแล้วอย่างครบถ้วน จึงอยากพูดถึงประสบการณ์แนวทางการปรองดอง สมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ พรรคเพื่อไทยพยายามสร้างกระบวนการปรองดองภายในประเทศ มีคณะกรรมการค้นหาความจริงแล้ว และอยู่ในขั้นตอนของการเยียวยาเพื่อให้พึงพอใจและกลับมาสู่โต๊ะเจรจาอย่างเท่ากัน อนุมัติเงินเยียวยา คนตายรายละ 7 ล้านบาท แต่คนที่อนุมัติทั้งครม.ถูกปปช.ดำเนินคดี สะท้อนว่าไทยยังไม่พร้อมจะเข้าสู่กระบวนการปรองดอง
ยิ่งไปกว่านั้น ในทางสากล นักโทษทางการเมืองเป็นนักโทษทางความคิด ไม่ควรจะเอาไปอยู่ร่วมกับนักโทษคดีอาญา รัฐบาลที่แล้วแยกนักโทษการเมืองไปโรงเรียนพลตำรวจบางเขน เมื่อเมื่อมีการยึดอำนาจก็เอากลับมารวมกัน ซึ่งกระบวนการเหล่านี้แสดงให้เห็นว่า ผู้มีอำนาจในปัจจุบันไม่พร้อมที่จะเข้าสู่กระบวนการปรองดอง
สิ่งที่สำคัญกว่านั้นคือภาคประชาชน ไม่ใช่เพียงผลักดัน แต่ต้องหนุนหลังนักการเมือง ที่ผ่านมา นักกิจกรรมและอาจารย์มหาวิทยาลัยรังเกียจที่จะทำกิจกรรมร่วมกับพรรคการเมือง ขณะที่นโบายสำคัญต่างๆ จำเป็นต้องขับเคลื่อนโดยพรรคการเมือง ถ้าภาคประชาสังคมและภาควิชาการยังมองว่าจะไม่ยุ่งกับการเมืองก็ผลักดันไม่ได้ บางเรื่องเป็นประเด็นละเอียดอ่อน ต้องใช้แรงขับเคลื่อนจากคนทั้งประเทศ เพราะหากประชาชนไม่หนุน พรรคการเมืองเสนอกฎหมายไปก็ไม่รอด ไม่มีใครเดินหน้าต่อ
พาลินี: พรรคมหาชนไม่เห็นด้วยกับ พ.ร.บ.ความมั่นคงไซเบอร์ เพราะเป็นการเข้าถึงข้อมูลส่วนบุคคลโดยมีความมั่นคงเป็นข้ออ้าง สิ่งเหล่านี้เป็นอุปสรรคต่อความเป็นส่วนตัว รวมถึงการดำเนินธุรกิจ ทำธุรกิจ กิจกรรมต่างๆ พรรคมหาชนจะเข้าไปแก้ไข พ.ร.บ.ไซเบอร์และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ สิ่งแรกๆ ที่พรรคจะทำคือแก้ไขกฎหมายลิดรอนสิทธิเสรีภาพของประชาชนออกไปก่อน แล้วค่อยมาทำเรื่องความมั่นคงทางไซเบอร์ เช่น อาชญากรทางเศรษฐกิจที่เกี่ยวข้องกับไซเบอร์ หรือสิ่งที่ศีลธรรมอันดีอย่างสื่อสามกอนาจาร
เกรียงศักดิ์: พรรคสามัญชนมีหลักการว่า ความมั่นคงของข้อมูลประชาชนเป็นความมั่นคงส่วนบุคคล ซึ่งจะต้องอยู่เหนือความมั่นคงของรัฐ และจะต้องคุ้มครองสิทธิของบุคคลเหนือข้อมูลนั้น สามารถเลือกได้ว่าจะให้อะไรได้ ให้เอาไปใช้อะไรได้ ให้เอาไปใช้อะไรไม่ได้ ต้องมีสิทธิในการให้ความยินยอม ซึ่งไม่ได้เจาะจงรัฐบาลหรือองค์กรใดๆ แต่รวมถึงเอกชนด้วย เพราะเรื่องนี้เกี่ยวข้องกับระบบเศรษฐกิจด้วย และข้อมูลก็เป็นอำนาจ เจ้าของแพลตฟอร์มก็เป็นเจ้าของข้อมูลจำนวนมาก
พ.ร.บ.ลักษณะนี้ นอกจากจะไม่ปกป้องข้อมูลส่วนตัว แล้วยังเกิดความเสี่ยงที่เอกชนจะนำข้อมูลไปใช้โดยที่เราไม่ยินยอม การคุ้มครองสิทธิเหนือข้อมูล ต้องรวมถึงสิทธิในการไม่ยอมให้ใครเอาข้อมูลไปใช้เลือกปฏิบัติ ให้สูญเสียอำนาจการตัดสินใจ สูญเสียสิทธิการเข้าถึงงานหรือสวัสดิการต่างๆ ดังนั้น เรื่องนี้ต้องเปลี่ยนบทสนทนาให้เป็นเรื่องของสิทธิเหนือข้อมูล ไม่ใช่เรื่องของความมั่นคง แล้วถูกใช้เป็นช่องโหว่ให้หน่วยงานเข้ามาควบคุมข้อมูล แต่เปิดให้มีความเสี่ยงในการจารกรรมข้อมูล
พรรณิการ์: พ.ร.บ.ความมั่นคงไซเบอร์และพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์จะเป็นกฎหมาย 2 ฉบับแรกๆ ที่พรรคอนาคตใหม่จะแก้ไข เพราะละเมิดสิทธิเสรีภาพอย่างชัดเจนและทำให้ไทยขาดศักยภาพในการแข่งขัน โดยการแก้พ.ร.บ.ไซเบอร์ให้สอดคล้องกับโลกและความมีเสรีภาพของคนไทย ด้วย 3 ข้อ
1. แก้นิยามความมั่นคงไซเบอร์ให้เป็นเรื่องของระบบ ไม่ใช่เนื้อหา ทำให้เป็นการละเมิดเสรีภาพในการแสดงออก ต้องแก้เรื่องโครงสร้างพื้นฐาน ให้ความปลอดภัยระบบ โดยเฉพาะระบบโครงสร้างหลักของประเทศอย่างโรงพยาบาล ธนาคาร และระบบข้อมูลภาครัฐ 2. จำกัดขอบเขตการใช้อำนาจรัฐ โดยพ.ร.บ.ไซเบอร์ที่เพิ่งผ่าน แทบจะให้อำนาจเจ้าหน้าที่รัฐอย่างไม่จำกัด ในกรณีเร่งด่วนก็ยังทำได้โดยไม่ต้องขอหมายศาล อีกทั้งยังไม่สามารถอุทธรณ์ได้ ซึ่งเจ้าหน้าที่ตำรจไม่ควรมีอำนาจเหล่านี้ได้ อย่างน้อยจะต้องผ่านการพิจารณาของศาล 3. อย่าให้เรื่องนี้เป็นเรื่องนี้เกี่ยวข้องกับสภาความมั่นคงแห่งชาติ และรัฐมนตรีความมั่นคงแบบเดิมๆ ฉะนั้นต้องเปลี่ยนกระบวนทัศน์ว่าความมั่นคงในปัจจุบันคือความมั่นคงทางเศรษฐกิจและความมั่นคงของมนุษย์
วัฒนา: ความเป็นส่วนตัวของคน แม้กระทั่งบุคคลในครอบครัว คู่สมรส หรือลูกยังต้องมีระยะห่าง มีความลับที่ก้าวล่วงไม่ได้ และรัฐถือสิทธิอะไรมารู้เรื่องของเราได้ทุกเรื่อง ถึงเรื่องในห้องนอน แนวคิดเรื่องความมั่นคงของทหารยังย้อนยุคและเป็นแนวคิดชุดเดียวกับที่เขียนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี พรรคเพื่อไทยจะออกหมาย “กิโยตินลอว์” เพื่อฆ่ากฎหมายที่เป็นปัญหาที่เป็นปัญหาจำนวนมาก เพราะหากแก้รายฉบับจะเสียเวลา ก็จะรวบรวมกฎหมายที่ไม่สอดคล้องกับหลักนิติธรรมแล้วยกเลิกไปทีเดียว แล้วมานับหนึ่งใหม่ เพราะกฎหมายจะต้องถูกบัญญัติโดยรัฐาธิปัตย์ที่เข้ามามีอำนาจโดยชอบ และต้องเป็นกฎหมายที่มีความชอบธรรม
อลงกรณ์: พรรคประชาธิปัตย์พิจารณาว่า 1. ประเทศต้องการก้าวเข้าสู่ยุคดิจิทัล และไทยก็เป็นประเทศแรกๆ ของโลกที่ตั้งกระทรวงดิจิทัล เศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ 2. คนไทยเป็นแชมป์โลกในการใช้อินเทอร์เน็ตวันละไม่ต่ำกว่า 10 ชั่วโมง ฉะนั้น เมื่อโลกเปลี่ยนไปแล้ว พรรคประชาธิปัตย์จะสนับสนุนกฎหมายที่จะขับเคลื่อนประเทศไทยไปสู่ยุดิจิทัล
พ.ร.บ.ความมั่นคงไซเบอร์เน้นไปที่เรื่องข้อมูลที่เป็นภัยร้ายแรง แต่ข้อมูลอีก 2 ระดับจะต้องใช้หมายศาล หากเกิดวิกฤตระบบธนาคารหรือโรงพยาบาลล่มทั้งระบบ นี่ไม่ใช่ความมั่นคงของ คสช. แต่เป็นความมั่นคงของประเทศ หากประชาธิปัตย์ขึ้นมาเป็นรัฐบาล จะไม่มองว่าเรื่องความมั่นคงของทหาร แต่ของประเทศไทย และจะประกันให้ได้ว่าไทยจะก้าวทันและล้ำหน้าในเรื่องของดิจิทัล ส่วนกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลจำเป็นต้องมี โซเชียลมีเดียนำข้อมูลส่วนตัวของเราไปขายโดยที่เราไม่ได้ค่าตอบแทน และการนำข้อมูลไปใช้บางครั้งก็เป็นอันตรายต่อเรา แต่การทบทวนกฎหมายโดยทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมภายใต้รัฐบาลประชาธิปไตย ก็จะปรับปรุงทันทีหากเห็นว่ามีการคุกคามสิทธิเสรีภาพของประชาชน