ที่ห้องประชุมริมน้ำ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ศ.ดร.ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ ธรรมศาสตราภิชาน วิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวปาฐกถาหัวข้อ “ประวัติศาสตร์สอนอะไร: ข้อคิดจากประวัติศาสตร์สหรัฐอเมริกาและไทย” เนื่องในงานวาระครบรอบ 57 ปี คณะศิลปศาสตร์ มธ. และ 72 ปี ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ
กระแส ‘14 ตุลา’ - 'จิตร ภูมิศักดิ์' ท้าทายประวัติศาสตร์กระแสหลัก
ศ.ดร.ธเนศ เล่าถึงที่มาของการสอนประวัติศาสตร์ เขาไม่ใช่ผู้เรียนประวัติศาสตร์มาก่อน แต่สอนประวัติศาสตร์ก่อนที่จะมาเรียน ซึ่งมาจากบรรยากาศสังคมในช่วงหลังเหตุการณ์ ’14 ตุลา’
ศ.ดร.ธเนศ กล่าวว่า บรรยากาศทางการเมือง ทางสังคม ทุกๆ สถาบันเปลี่ยนไป เหตุการณ์ ‘14 ตุลา’ เป็นการปฏิวัติอีกครั้ง หลังจากการปฏิวัติสยามในปี 2475 ซึ่งมี ‘คนข้างล่าง’ เข้าร่วมผลักดันสิ่งต่างๆ ส่งผลถึงวิชาที่ทำหน้าที่ที่จะตอบคำถามในตอนนั้น (ช่วงปี 2516-2519) คือ คณะประวัติศาสตร์ ซึ่งมีผู้สนใจเป็นจำนวนมาก ผู้อยากเรียน และมีผู้คนเขียนถึงเยอะ
“14 ตุลา ทำให้การเขียนประวัติศาสตร์ไทยครั้งแรก เขียนด้วยหลายกระแส มีทั้งซ้าย ทั้งขวา ตอบโต้กัน พูดง่ายๆ ว่าวิวาทะกันทุกวัน แต่เป็นการวิวาทะที่ไม่ใช่จะฆ่ากันตาย อย่างน้อยทำให้รู้ว่าทำไมจึงคิดอย่างนั้น ผมคิดว่าเป็นบรรยากาศที่ดี พูดง่ายๆว่าสร้างหนทางที่สติปัญญาจะเกิดขึ้นได้ มันต้องปะทะ แลกเปลี่ยนกัน และต้องแลกเปลี่ยนกันอย่างฉันท์มิตร ไม่ใช่แบบศัตรูแบบที่เกิดขึ้นในทุกวันนี้ ซึ่งยิ่งทำยิ่งกัดกร่อนตัวเอง ทุกฝ่ายทำลายตัวเองหมดเลย” ศ.ดร.ธเนศ กล่าว
ศ.ดร.ธเนศ กล่าวต่อว่า บรรยากาศของ '14 ตุลา' มีการเคลื่อนไหวที่น่าสนใจมีการโต้เถียงและวิพากษ์ ’ประวัติศาสตร์สกุลดำรงราชานุภาพ’ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ คือผู้ที่นิพนธ์หนังสือประวัติศาสตร์เอาไว้หลายเล่ม และสร้างต้นแบบของการเขียนประวัติศาสตร์ไทยแบบชาตินิยม อุดมการณ์ชาติไทย เป็นสิ่งที่เรารับมาทั้งหมด
ถ้าไม่เอาประวัติศาสตร์สกุลดำรงราชานุภาพ แล้วจะอ่านประวัติศาสตร์อะไร?
ศ.ดร.ธเนศ กล่าวว่า มีกระแสหนึ่งที่ก้าวขึ้นมา เหมือนเป็นการตอบคำถามเลยว่า ถ้าไม่เอาประวัติศาสตร์สกุลดำรงราชานุภาพ แล้วจะมีประวัติศาตร์อะไร ศ.ดร.ธเนศ แนะนำหนังสือ ‘โฉมหน้าศักดินาไทย’ ของ ‘จิตร ภูมิศักดิ์’ ที่วิพากษ์ประวัติศาสตร์ไทยกระแสหลัก หรือที่เรียกว่าประวัติศาสตร์สกุลดำรงราชานุภาพอย่างหนักหน่วงที่สุดเท่าที่เคยเจอมา ต้นฉบับถูกตีพิมพ์ในหนังสือนิติศาสตร์ ปี 2500 แต่พิมพ์เสร็จถูกเซนเซอร์ คือ “ถูกเก็บไม่ให้มีใครได้อ่าน” และพิมพ์อีกครั้งหลัง ’14 ตุลา’ แพร่ระบาดไปทั่วที่ต่างๆ
ทำไมโฉมหน้าศักดินาไทยจึงได้มีอิทธิพลมากขณะนั้น?
“ถ้าดูในตอนนี้ แล้วมองกลับไป มันมีหนังสือแบบนี้เยอะมากทั่วโลก ที่เขียนแบบวิพากษ์ประวัติศาสตร์เก่า โดยใช้ทฤษฎีชนชั้นแบบ คาร์ล มาร์กซ์ (Karl Marx) แล้วโจมตีแบบตรงๆ เลย เรียกได้ว่าเอาข้อมูลต่างๆ เท่าที่หาได้มาสรุปจบเลยว่าคนนี้คือพระเอก คนนี้คือผู้ร้าย ก็เปลี่ยนจากแต่ก่อนที่เคยเป็นพระเอกกลายเป็นผู้ร้าย ซึ่งเป็นวิธีประวัติศาสตร์ที่ทำแบบไม่ยากเท่าไหร่ แต่ส่วนใหญ่จะอยู่ได้ไม่นาน เพราะข้อมูล หลักฐาน การตีความไม่ซับซ้อน แต่กรณีของโฉมหน้าศักดินาไทยอยู่ยงคงกระพันมาก เคยมีคนพยายามไปวิพากษ์แต่ว่าไปไม่พ้นจากการยอมรับที่มีคนยอมรับกว้างมาก แล้วมันไม่มีงานชั้นสองที่จะเอารายละเอียดของประวัติศาสตร์ไทยที่พูดถึงการเอารัดเอาเปรียบ ที่มีมิติที่กว้างขวางกว่านั้นออกมา เพราะฉะนั้นมันเลยต้องเป็นขาว กับ ดำ นี่คือสาเหตุที่ทำให้โฉมหน้าศักดินาดัง” ศ.ดร.ธเนศ กล่าว
ศ.ดร.ธเนศ ยังกล่าวว่า สิ่งที่จิตร ภูมิศักดิ์ ทำได้ดีที่สุดก็คือ การดึงหลักฐานที่เป็นหลักฐานชั้นต้น หรือในทางวิชาการเรียกว่า หลักฐานชั้นปฐมภูมิ นำมาใช้ได้ได้อย่างดี เนื่องจากจิตร ภูมิศักดิ์ สามารถอ่านเอกสารที่เป็นภาษาขอม เขมร ได้ นี่คืออิทธิพลที่ทำให้ตนเดินตามรอยนายจิตร ภูมิศักดิ์
“นักประวัติศาตร์ที่ไม่ศึกษาประวัติศาสตร์ชั้นต้น ไม่มีวันสอนประวัติศาสตร์ไทยได้ อาจจะสอนได้ แต่มันไม่มีความหมาย เพราะฉะนั้น งานประวัติศาสตร์จึงต้องควบคู่ไปกับงานค้นคว้า” ศ.ดร.ธเนศ กล่าว
ประวัติศาสตร์อเมริกา-ไทยสอนอะไรเรา?
ศ.ดร.ธเนศ สรุปว่า ประวัติศาสตร์อเมริกาแตกต่างสวนทางกับประวัติศาสตร์ไทยอย่างสิ้นเชิง หากดูจากที่มาที่ไปของการเกิดขึ้น ประวัติศาสตร์สหรัฐอเมริกาปกครองตนเอง หรือปกครองท้องถิ่นก่อนอำนาจรัฐส่วนกลางเกิด ส่วนประวัติศาสตร์ไทย รัฐเกิดก่อน จึงเกิดหมู่บ้าน กำนัน ผู้ใหญ่บ้าง การกระจายอำนาจ มันจึงยาก เพราะเข็นครกขึ้นภูเขา ทำไมประชาธิปไตยไทย กับอมเมริกาจึงสวนทางกัน เพราะเริ่มต้นมันก็สวนทางกันแล้ว
“ประวัติศาสตร์อเมริกาสอนว่าเจ้าของประวัติศาสตร์ คือประชาชนคนส่วนใหญ่ ไม่ต้องผ่านม่านเมฆความลึกลับเพื่อไปหา เพราะประวัติศาสตร์มันตรงๆ ทื่อๆ ประวัติศาสตร์อเมริกาเป็นของคนข้างล่าง หลักฐานที่มีเป็นของคนธรรมดา…คือประวัติศาสตร์ของประชาชน 100%”
ยกระบบปิตาธิปไตยเปรียบอเมริกา-ไทย
ศ.ดร.ธเนศ ได้พูดถึงระบบปิตาธิปไตย (Paternalism) ซึ่งเป็นทฤษฎีที่สามารถอธิบายประวัติศาสตร์อเมริกาและไทยได้ เขายกตัวอย่างว่า ระบบทาส สร้างความสัมพันธ์ ระหว่าง ‘นายทาส’ กับ ‘ทาส’ แบบระบบอุปถัมภ์รูปแปบบหนึ่ง กล่าวคือ นายทาสก็คือ 'พ่อบ้าน' ที่คอยดูแลทาส ส่วนทาสก็ทำงานตามหน้าที่ของตนเองไป
ศ.ดร.ธเนศ ยกหลักฐานในอเมริกาจำนวนมาก ที่สะท้อนให้เห็นว่าในภาคใต้ของอเมริกา ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีระบบทาส มีการพาทาสไปพบแพทย์เมื่อเจ็บป่วย และมีการให้รางวัลในวันคริสมาสต์ เพื่อให้กำลังใจให้ทาส ทั้งนี้ มีจำนวนมากเท่าไหร่เป็นสิ่งที่ยังหาคำตอบไม่ได้ อย่างไรก็ดี แนวคิดนี้ถูกวิพากษ์จากฝ่ายซ้ายเป็นจำนวนมากเช่นกัน
ศักดินา-ไพร่แทรกซึมสังคม- การเมืองไทย
เมื่อย้อนกลับมาดูสังคมไทย ศ.ดร.ธเนศ กล่าวว่า หากเรารับทฤษฎีนี้มาใช้ สามารถอธิบายได้ว่าทำไมระบบทาสในไทยยังอยู่ได้ เพราะชนชั้นนำสยามพยายามอธิบายว่า “ระบบทาสไทยไม่ทารุณ”
“เป็นคำอธิบายว่าความสัมพันธ์แบบเชิงศักดินา ไพร่ มันถึงแทรกซึมอยู่ในทุกสังคม ปัจจุบันมันไม่ได้หมดไป ระบบการเมืองการปกครองของไทย ก็ยังใช้ระบบอุปถัมภ์ คือต้องมีหัวหน้า โดยเฉพาะพรรคที่อยู่กับรัฐบาลตอนนี้ ก็ใช้ระบบนี้ เพื่อที่จะควบคุมลูกพรรค ให้อยู่ในอำนาจของผู้เป็นใหญ่ เพื่อที่จะได้บรรลุเป้าหมาย”
ประวัติศาสตร์ไทย เหมือนเหวลึก ลงไปก็ไม่ถึง ลงไปก็ขึ้นมาไม่ได้
ศ.ดร.ธเนศ ชวนมองประวัติศาสตร์ไทยที่ไม่เคยเปลี่ยน เขาเปรียบเปรยว่า “ประวัติศาสตร์ไทย เหมือนเหวลึก ไม่รู้ก้นบึ้งอยู่ตรงไหน แล้วลงไปไม่ได้ ลงแล้วขึ้นไม่ได้” ซึ่งตรงข้ามกับ ประวัติศาสตร์อเมริกา
ศ.ดร.ธเนศ กล่าวว่า สาเหตุที่เป็นเช่นนั้น เพราะหากเริ่มต้นตั้งแต่ สมัยรัชกาลที่ 5 เป็นต้นมาประวัติศาสตร์กระแสหลักไม่ถูกเปลี่ยนเลย อาจเคยถูกท้าทายจากฝ่ายซ้ายบ้าง “กระทบ แต่ไม่กระเทือน” ถึงขั้นเปลี่ยนไม่ได้ เป็นประวัติศาสตร์กระแสหลักที่คงทนมาก และอาจจะมากที่สุดในโลก
ศ.ดร.ธเนศ ยังพูดถึงความยากลำบากของการเรียนประวัติศาสตร์ในไทย คือ การไม่มีหนังสือที่ประวัติศาสตร์ไทยฉบับทั่วไป ที่ใช้งานได้ พร้อมวิเคราะห์สาเหตุว่า อาจเพราะในหลายสิบปีที่ผ่านมา การเขียนประวัติศาสตร์กระแสหลัก แบบกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ไม่ถูกวิพากษ์ แลกเปลี่ยน หรือ ต่อยอด อีกทั้งเมื่อมีการวิวาทะที่เกิดขึ้น มีคนมาตอบโต้ประวัติศาสตร์กระแสหลัก ก็จะมีอาจารย์กลุ่มกรมพระยาดำรงราชานุภาพมาตอบโต้
นอกจากนี้ ประวัติศาสตร์ไทยยังเป็นประวัติศาสตร์ที่ "ถูกชำระ" ทั้งจากกรมพระยาดำรงราชานุภาพ และ ในสมัย จอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี
“มันเริ่มตั้งแต่ต้นรัตนโกสินทร์ พงศาวดารไทย ฉบับสมเด็จพระพนรัตน์ มีการชำระประวัติศาสตร์ เพื่อให้มันถูกต้องตามคติที่ชนชั้นนำรัตนโกสินทร์รับได้ แล้วก็ทำมา…กรมพระยาดำรงฯ ก็ชำระ พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 1 ที่เจ้าพระยาทิพากรวงศมหาโกษาธิบดี เขียน…กรมพระยาดำรงฯ แก้คำอะไรต่างๆ อะไรที่เป็นลาวก็เขียนเป็นไทย ขีดคำว่าลาวทิ้ง…มาจนถึงสมัย จอมพล ป. พิบูล��งคราม ก็ตั้งกรรมการชำระประวัติศาสตร์ อยู่ในสำนักนายรัฐมนตรี ทำหน้าที่ชำระประวัติศาสตร์ ถ้าหากคุณต้องชำระประวัติศาสตร์ แสดงว่าประวัติศาสตร์คุณไม่โต คือสกปรกไม่ได้ ไม่มีใครมาแปลกเปื้อน มันต้องเปื้อนสิครับ เปื้อนแล้วมันถึงจะได้โต” ศ.ดร.ธเนศ กล่าว
ศ.ดร.ธเนศ กล่าวต่อว่า ประวัติศาสตร์ไทย ยังเป็นพื้นที่เฉพาะ หวงห้าม ไม่เปิดเสรีให้คนไปโต้เถียง วิพากษ์ เป็นพื้นที่จำกัด และเป็นประวัติศาสตร์ ที่อันตราย อะไรที่เป็นแรงบันดาลใจให้คนรุ่นใหม่ มันไม่เปิดพื้นที่ให้
ศ.ดร.ธเนศ ทิ้งท้ายพร้อมให้ข้อสรุปว่า “ประวัติศาสตร์จริงๆ แล้วไม่ได้สอนบทเรียน แต่เราก็จะได้ยินคนบอกว่าอย่าลืม ถ้าไม่จำประวัติศาสตร์จะซ้ำรอย ใช่…คนมักจะบอกว่าประวัติศาสตร์เป็นบทเรียน เพราะว่ามันมีเรื่องเหตุผลเกิดต่างๆ แต่ประวัติศาสตร์ด้านลึกที่ผมพูดถึงมันไม่ใช่การสอนบทเรียน แต่เป็นการซึมซับถึงความจริงในประวัติศาสตร์ ประวัติศาสตร์สมัยใหม่ก็คือความเป็นจริงว่ามันคืออะไร ความเป็นจริงที่ทำให้เกิดการเรียนรู้ค้นคว้า ตัวประวัติศาสตร์มันมีความเปลี่ยนแปลง มันไม่มีวันหยุด ถ้าประวัติศาสตร์หยุดนิ่งแช่แข็งมันก็จบ และต้องไม่ทำให้ประวัติศาสตร์เป็นสำนักเดียว ต้องเปิดให้มีการวิพากษ์โต้เถียง ถ้าหากนักพูด หรือคนที่มีความชอบธรรมพูดแล้วจบเลย เถียงไม่ได้ อันนั้นไม่เป็นผลดีต่อการสร้างประวัติศาสตร์ สุดท้ายคือการสอนให้รู้จักตีความ ถอดรหัส จากเหตุการณ์ที่เราเจอ การตีความคือการทำความเข้าใจสิ่งที่เรียกว่า ภววิสัย (objectivity) ผ่านตัวเราเอง…มันจะไม่เกิดประวัติศาสตร์ถ้าหากไม่มีคนเอามาเล่า”