นายศรายุทธ ธรเสนา ผู้ช่วยผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร หรือ ธ.ก.ส. เปิดเผยว่า นับตั้งแต่ปี 2553 เป็นต้นมา ธ.ก.ส. ดำเนินโครงการ 'ธนาคารต้นไม้' โดยมีชุมชนเป็นศูนย์กลางขับเคลื่อน พร้อมส่งเสริมเกษตรกรพึ่งพาตนเอง โดยการปลูกต้นไม้ยืนต้นบนที่ดินของตนเองและของชุมชนเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับที่ดิน เปรียบเหมือนการออมทรัพย์หรือการลงทุนระยะยาว ที่ไม่ต้องใช้เงินทุนใดๆ
ประกอบกับ ที่ผ่านมา มีมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่สนับสนุนให้ใช้ต้นไม้เป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันสินเชื่อ ได้แก่ 1) วันที่ 24 ก.ค. 2561 ครม. มีมติอนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงกำหนดให้ไม้ยืนต้นที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจ 58 ชนิด เป็นหลักประกันทางธุรกิจ เพิ่มเติมใน พ.ร.บ.หลักประกันทางธุรกิจ พ.ศ. 2558
2) วันที่ 7 ส.ค. 2561 ครม. มีมติอนุมัติหลักการแก้ไขมาตรา 7 พ.ร.บ.ป่าไม้ เปิดให้ไม้ทุกชนิดในที่ดินที่มีกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองตามประมวลกฎหมายที่ดิน สามารถตัดขายได้ ไม่เป็นไม้หวงห้าม และการทำไม้ไม่ต้องขออนุญาตเจ้าพนักงานอีกต่อไป จากอดีต ไม้สัก ไม้ยาง ไม้ชิงชัน ไม้เก็ดแดง ไม้อีเม่ง ไม้พะยูงแกลบ ไม้กระพี้ ไม้แดงจีน ไม้ขะยุง ไม้ชิก ไม้กระซิก ไม้กระซิบ ไม้พะยูง ไม้หมากพลูตั๊กแตน ไม้กระพี้เขาควาย ไม้เก็ดดำ ไม้อีเฒ่า และไม้เก็ดเขาควาย ไม่ว่าจะอยู่ในที่ดินรัฐหรือเอกชนหรือประชาชน ล้วนเป็นไม่หวงห้าม ต้องถูกควบคุม
3) วันที่ 18 ก.ย. 2561 ครม.อนุมัติหลักการให้จัดทำโครงการชุมชนไม้มีค่า พร้อมให้ 4 หน่วยงานขับเคลื่อน คือ กรมป่าไม้ สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) และสำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ เป็นต้น
"ตอนนี้นับเป็นครั้งแรกที่มีการผลักดันให้เกิดการสร้างเศรษฐกิจจากไม้มีค่าอย่างเป็นระบบ และคาดว่า อีก 10 ปี ข้างหน้าจะมีชุมชนปลูกไม้มีค่าเพิ่มขึ้นถึง 20,000 แห่งทั่วประเทศ หรือ คิดเป็น 2.6 ล้านครัวเรือน เพิ่มพื้นที่ป่าในประเทศ 26 ล้านไร่" นายศรายุทธ กล่าว
วิธีประเมินมูลค่าต้นไม้
ทั้งนี้ 4 หน่วยงานที่รับผิดชอบโครงการชุมชนไม้มีค่า ได้กำหนดขั้นตอนและหลักเกณฑ์การประเมินมูลค่าต้นไม้เพื่อใช้เป็นหลักทรัพย์ค้ำประกัน ดังนี้
อย่างไรก็ตาม มูลค่าเนื้อไม้ตามปริมาณและราคาเนื้อไม้ จะขึ้นกับว่าไม้นั้นอยู่ในกลุ่มใดใน 4 ประเภทที่จำแนกออกมา ได้แก่ กลุ่มที่ 1 ต้นไม้ที่มีอัตราการเติบโตเร็วถึงปานกลาง รอบตัดฟันสั้น มูลค่าของเนื้อไม้ต่ำ เช่น ไม้กระถิน เทพณรงค์ สะเดา เป็นต้น กลุ่มที่ 2 ต้นไม้ที่มีอัตราการเติบโตปานกลาง รอบตัดฟันยาว มูลค่าของเนื้อไม้ค่อนข้างสูง เช่น ประดู่ ยางนา ตะเคียนทอง เป็นต้น กลุ่มที่ 3 ต้นไม้ที่มีอัตราการเติบโตปานกลาง รอบตัดฟันยาว มูลค่าของเนื้อไม้สูง เช่น ไม้สัก มะปิน (มะตูม) เป็นต้น และ กลุ่มที่ 4 ต้นไม้ที่มีอัตราการเติบโตช้า รอบตัดฟันยาว มูลค่าของเนื้อไม้สูงมาก เช่น ไม้พะยูง จันทร์หอม มะค่าโมง เป็นต้น
ส่วนวิธีคำนวณมูลค่าต้นไม้เพื่อใช้เป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันการขอสินเชื่อ ในกรณีการนำมาใช้เป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันสินเชื่อกับ ธ.ก.ส. จะต้องเป็นหลักทรัพย์ส่วนควบ (ใช้ทั้งที่ดินและต้นไม้) เพื่อเพิ่มวงเงินจดจำนองที่ดิน โดยจะได้มูลค่าหลักทรัพย์ร้อยละ 50 ของราคาประเมิน
อาทิ ที่ดินที่นำมาจดจำนองขอสินเชื่อมีราคาประเมิน 500,000 บาท ปกติกู้ได้ร้อยละ 50 ของราคาประเมิน หรือ 250,000 บาท แต่หากผู้กู้มีต้นไม้ ซึ่งมีมูลค่าตามการประเมินมูลค่าต้นไม้ 300,000 บาท ก็จะใช้เป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันได้ร้อยละ 50 หรือ 150,000 บาท ดังนั้น ผู้กู้รายนี้จะมีหลักทรัพย์ค้ำประกันทั้งสิ้น 650,000 บาท (ราคาประเมินที่ดิน 500,000+มูลค่าหลักทรัพย์ค้ำประกันที่เป็นต้นไม้ 150,000) และจะสามารถได้วงเงินกู้ 325,000 บาท หรือร้อยละ 50 ของ 650,000 บาท ซึ่งหมายความว่าได้เพิ่มจากราคาประเมินที่ดินเปล่า 75,000 บาท เป็นต้น
กู้ ธ.ก.ส. ใช้ต้นไม้เป็นหลักทรัพย์ควบที่ดิน -กู้สถาบันการเงินชุมชนใช้ต้นไม้อย่างเดียว
อีกด้านหนึ่งผู้กู้ยังสามารถขอสินเชื่อโดยมีต้นไม้เป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันเพียงอย่างเดียวกับสถาบันการเงินชุมชนได้อีกทางหนึ่ง แต่จะได้วงเงินกู้ไม่เกินร้อยละ 10 ของมูลค่าหลักทรัพย์ที่ประเมินแล้ว
โดยล่าสุด ธ.ก.ส. และสถาบันการเงินชุมชน ได้มอบสินเชื่อที่มีต้นไม้เป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันให้กับเกษตรกร 2 รายแรกของประเทศ ที่ ต.หนองยาง ต.หนองฉาง จ.อุทัยธานี ได้แก่ นางวัชรี อภัย ซึ่งขอสินเชื่อจาก ธ.ก.ส. วงเงิน 30,000 บาท โดยใช้หลักเกณฑ์นำต้นไม้มาเป็นหลักทรัพย์ส่วนควบกับที่ดินสำหรับขอสินเชื่อ อีกรายคือ นางเพ็ญศรี เพ็งพะยม ขอสินเชื่อจากสถาบันการเงินชุมชน วงเงิน 10,000 บาท โดยใช้เพียงต้นไม้มาเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันสินเชื่อ
สถาบันการเงินชุมชน แหล่งเงินทุนที่พึ่งคนไร้ที่ดิน
ด้านนายชนภัทร วงษ์วิทยา เหรัญญิกสถาบันการเงินชุมชน ต.หนองยาง จ.อุทัยธานี กล่าวว่า หลายปีที่ผ่านมา สถาบันฯ สนับสนุนให้สมาชิกนำต้นไม้ในที่ดินของตนเองมารวมกันขึ้นทะเบียนกับธนาคารต้นไม้ จะเป็นต้นไม้อะไรก็ได้ แต่ยกเว้นยูคาลิปตัส และไม้กินผล เช่น มะม่วง เหล่านี้จะไม่รับขึ้นทะเบียน
อย่างไรก็ตาม ในอดีต ถึงจะให้สมาชิกนำต้นไม้มาขึ้นทะเบียน แต่ก็ยังไม่สามารถประเมินเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันได้ จนตอนนี้มีกฎหมายมารองรับ จึงสามารถให้สินเชื่อให้กับสมาชิกได้โดยมีต้นไม้เป็นหลักทรัพย์ค้ำประกัน แทนบุคคลค้ำประกัน ซึ่งมีแต่จะเป็นเตี้ยอุ้มค่อม
"สถาบันการเงินชุมชนจะให้กู้รายละไม่เกิน 50,000 บาท และจะพิจารณาให้กับผู้ที่ไม่สามารถเข้าถึงแหล่งทุนอย่างธนาคารได้เป็นอันดับแรกก่อน ส่วนคนมีที่ดิน มีโฉนดให้เขาไปกู้กับ ธ.ก.ส. แต่บางคนที่มาจากครัวเรือนขยาย ไม่มีที่ดินทำกิน เราก็ปล่อยสินเชื่อให้ ส่วนการคิดดอกเบี้ยคือร้อยละ 12 ต่อปี และให้สมาชิกส่งคืนเงินกู้เป็นรายเดือนแต่ไม่เกิน 18 เดือน" นายชนภัทร กล่าว