นายณัฏฐ์ เล่าสีห์สวกุล รองเลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กล่าวถึงการมีหนังสือแจ้งไปยังผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำจังหวัดให้ดำเนินการเตรียมเรื่องของการแบ่งเขตเลือกตั้ง ว่า เป็นการเตรียมการไว้รองรับ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ที่คาดว่าจะประกาศในราชกิจจานุเบกษาช่วงกลางเดือน ก.ย. นี้ และหากมีการเลือกตั้งตามที่นายกรัฐมนตรีได้ประกาศไว้ว่าจะเป็นช่วงเดือน ก.พ. 2562 ซึ่งนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ระบุว่าจะใช้ช่วงเวลา 90 วัน ระหว่างรอการบังคับใช้กฎหมายเลือกตั้งให้เกิดประโยชน์สูงสุด
โดยในการทำไพรมารีโหวตนั้น ผู้สมัครจะลงเขตไหน พรรคจะส่งผู้สมัครในพื้นที่ใด ก็จะต้องมีข้อมูลการแบ่งเขตก่อน ซึ่งในส่วนของ กกต. ใช้ฐานข้อมูลทะเบียนราษฎรของปี 2559 ที่มีการสรุป ณ วันที่ 31 ธ.ค. 2560 ดำเนินคำนวณการแบ่งเขตไว้เบื้องต้น แต่เนื่องจากมีการเปลี่ยนแปลงของจำนวนราษฎรรายอำเภอ ซึ่งอาจมีผลทำให้จำนวน ส.ส. ของแต่ละเขตมีการเปลี่ยนแปลงได้ จึงได้มีการประสานไปยังผู้อำนวยการสำนักทะเบียนกลางราษฎรเพื่อขอทราบข้อมูล และได้แจ้งยังผู้อำนวยการคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัด หรือ ผอ.กกต.ประจำจังหวัด ให้ดำเนินการตรวจสอบอีกครั้งว่าจำนวนราษฎรล่าสุดจะมีผลทำให้ค่าเฉลี่ยกลางเปลี่ยนแปลงไปหรือไม่
ทั้งนี้ เรื่องที่ดำเนินการเป็นปัจจัยพื้นฐานที่จะนำไปสู่กระบวนการไพรมารีโหวต ถ้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ออกคำสั่ง มาตรา 44 ให้กกต. ดำเนินการแบ่งเขตได้ ก็จะใช้ข้อมูลราษฎร ณ วันที่ 31 ธ.ค. 2560 เป็นหลัก ซึ่ง ผอ.กกต.ประจำจังหวัดก็จะทำหน้าที่แบ่งเขต 3 รูปแบบ และติดประกาศรูปแบบของการแบ่งเขตทั้ง 3 รูปแบบ เพื่อรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนได้เสีย และพรรคการเมือง เป็นเวลา 10 วันก่อนจะประมวลความคิดเห็นและส่งมายัง กกต. ให้พิจารณาคัดเลือกรูปแบบที่ดีที่สุดให้แล้วเสร็จ ซึ่งทั้งกระบวนการจะต้องทำให้เสร็จภายใน 60 วัน นับแต่ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ประกาศในราชกิจจานุเบกษา หรือคาดว่าประมาณ กลางเดือน พ.ย. นี้ เรื่องของการแบ่งเขตต้องแล้วเสร็จ และเข้าสู่กระบวนการไพรมารีโหวตได้
สำหรับการแบ่งเขตทั้งรูปแบบที่แต่ละจังหวัดจะดำเนินการ ร้อยละ 80 จะเป็นการแบ่งตามโซนนิ่งของอำเภอ เว้นแต่บางอำเภอที่มีเทศบาลนคร และเป็นชุมชนหนาแน่น ก็อาจจะต้องแบ่งอำเภอออกเป็น 2 เขต แต่จะไม่มีการแบ่งตำบล และยึดหลักไม่กระทบกับความคุ้นเคยพื้นที่ของประชาชนที่จะไปใช้สิทธิเลือกตั้ง
นอกจากนี้ จากการที่รัฐบาลได้ขอความร่วมมือในเรื่องการประหยัดงบประมาณเลือกตั้ง และกฎหมายใหม่ได้กำหนดจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งต่อหน่วยเลือกตั้งเพิ่มขึ้นจากเดิม 800 คนต่อหน่วย มาเป็น 1,000 คนต่อหน่วย ทางสำนักงาน กกต. ก็ได้มีหนังสือแจ้งไปยัง ผอ.กกต.ประจำจังหวัดทุกจังหวัด ขอให้ประสานไปยังสำนักงานทะเบียนอำเภอว่าจะสามารถขยายหรือรวมหน่วยได้หรือไม่ แต่ต้องไม่กระทบต่อความคุ้นเคยในการใช้สิทธิของประชาชนโดยจากเดิมที่มีหน่วยเลือกตั้งทั่วประเทศประมาณ 96,000 หน่วยก็ต้องเป้าลดลงอย่างน้อย 3 เปอร์เซ็นต์
อย่างไรก็ตาม หากรัฐบาลมีการขยับวันเลือกตั้งจากเดือน ก.พ. 2562 ไปเป็นเดือน พ.ค. 2562 เขตเลือกตั้งและจำนวน ส.ส.จะยังคงเดิมหรือไม่นั้น นายกรัฐมนตรีระบุแล้วว่าช่วงเวลาของการเลือกตั้งเร็วที่สุดคือเดือน ก.พ. ช้าที่สุดคือเดือน พ.ค. 2562 ซึ่งสำนักทะเบียนกลาง กระทรวงมหาดไทยจะมีการแจ้งเปลี่ยนแปลงจำนวนประชากรแต่ละปี ในช่วงเดือน มี.ค. ดังนั้น หากวันเลือกตั้งขยับไปเป็นเดือน พ.ค. 2562 ก็ต้องมีการแบ่งเขตใหม่ ตามจำนวนประชากรที่มีการประกาศใหม่ ซึ่งจะส่งผลให้ทุกอย่างขยับออกไปอีก 60 วัน แต่ยืนยันว่า จำนวนเขตเลือกตั้งและจำนวน ส.ส. ที่ลดลงไม่ได้เกิดจากการกำหนดของ กกต. แต่เป็นผลมาจากรัฐธรรมนูญที่กำหนดจำนวน ส.ส. แบ่งเขตลดลงจาก 375 คน เป็น 350 คน และจำนวนประชากรต่อส.ส. 1 คนมีการเปลี่ยนแปลงในทุกปี
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 30 ส.ค.ที่ผ่านมา สำนักงาน กกต.ได้มีหนังสือแจ้งไปยังผู้อำนวยการสำนักงาน กกต.ประจำจังหวัดทุกจังหวัดและกรุงเทพมหานคร ให้เตรียมความพร้อมแบ่งเขตเลือกตั้ง ส.ส. โดยขอให้ตรวจสอบจำนวนราษฎรในแต่ละเขตเลือกตั้งที่เคยส่งให้สำนักงาน กกต.ให้เป็นไปตามประกาศสำนักทะเบียนกลาง และถ้ามีจำนวนราษฎรในแต่ละเขตไม่ใกล้เคียงกัน ให้ปรับพื้นที่เขตเลือกตั้งให้มีจำนวนราษฎรของแต่ละเขตเลือกตั้งใกล้เคียงกัน แต่ต้องมีพื้นที่ของแต่ละเขตเลือกตั้งติดต่อกันด้วย ซึ่งการคำนวณจำนวน ส.ส.แบบแบ่งเขต จำนวนประชากรต่อ ส.ส.1 คนจะเท่ากับ 189,110 คน ซึ่งตามรัฐธรรมนูญกำหนดให้มี ส.ส.แบ่งเขต 350 คน เมื่อคำนวณแล้วจะพบว่า กรุงเทพมหานคร จะมี ส.ส. 30 คน นครราชสีมา มี ส.ส. 14 คน จ.ขอนแก่น มี ส.ส. 10 คน จ.อุบลราชธานี มี ส.ส. 10 คน เป็นต้น