ไม่พบผลการค้นหา
สมาคมผู้ค้าปลีกและกลุ่มรีเทลในนามบริษัทร่วมทุน 'แวต รีฟันด์ เซ็นเตอร์ (ไทยแลนด์)' ทวงถามสรรพากรเสนอจุดให้บริการ 5 แห่ง ทำไมจึงถูกตัดสิทธิ์ว่าขาดคุณสมบัติ พร้อมเตรียมอุทธรณ��กรมสรรพากร

นายวราวุฒิ อุ่นใจ ประธานสมาคมผู้ค้าปลีกไทย กล่าวว่า การที่กรมสรรพากรเลื่อนการประกาศกฏกระทรวงจากที่บอกในตอนแรกว่าจะประกาศภายในเดือน ส.ค. เป็นวันที่ 7 ก.ย. (วันที่ประกาศลงนามในหนังสือคือวันที่ 5 ก.ย.) โดยกำหนดให้ยื่นคำอนุมัติเป็นตัวแทนระหว่างวันที่ 10 - 17 กันยายน 2561 นั้น เป็นที่น่าสังเกตว่า เป็นเรื่องที่แทบจะเป็นไปไม่ได้ที่บริษัทใดจะไปจดทะเบียน เพื่อแจ้งวัตถุประสงค์การดำเนินกิจการเป็นตัวแทนคืนมูลค่าเพิ่ม (VAT) แก่นักท่องเที่ยว ณ จุดขายในเมือง ซึ่งต้องใช้เวลาอย่างน้อย 15 วัน

ถ้านับจากวันที่ลงประกาศจริงคือวันที่ 7 ก.ย. ซึ่งเป็นวันศุกร์ จะไม่สามารถดำเนินการจดทะเบียนวัตถุประสงค์ได้ทัน อีกทั้งไม่มีบริษัทใดเคยจดทะเบียนด้วยวัตถุประสงค์นี้มาก่อนเพราะเป็นโครงการใหม่

ขณะที่ นายฉัตรชัย ตวงรัตนพันธ์ ผู้อำนวยการสมาคมผู้ค้าปลีกไทย ตั้งคำถามว่า แท้จริงแล้วตัวเลข 3 จุดที่กรมสรรพากรตั้งขึ้นมานั้นอ้างอิงมาจากเหตุใด เพราะฝั่งสมาคมผู้ค้าปลีกยื่นเสนอจัดตั้งทั้งหมด 5 จุด ที่ประกอบไปด้วย ห้างสรรพสินค้าเซน ในศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์, ห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัล ชิดลม, ดิเอ็มโพเรียม, โรบินสัน สุขุมวิท และสยามพารากอน และไม่ได้รับการอนุมัติให้ดำเนินโครงการ

ดังนั้น หากมองตามความเป็นจริงแล้ว โครงการนี้เป็นโครงการที่เอกชนเป็นคนรับภาระด้านค่าใช้จ่ายทั้งหมด และเป็นโครงการทดลอง ที่ต้องมีการประเมินผลเมื่อครบ 6 เดือน การที่มีจุดบริการที่นักท่องเที่ยวสามารถมาคืนเงินภาษีได้มากและสะดวกก็ยิ่งจะสามารถวัดผลได้อย่างแม่นยำกว่า 

อีกทั้งการที่เลือกศูนย์การค้าขนาดใหญ่ทั้ง 5 แห่ง ที่ทางสมาคมคัดสรรมาแล้วว่ามีการออกใบ ภ.พ.10 มากที่สุดในประเทศ ซึ่งนับเป็นร้อยละ 60 ของการออกใบ ภพ.10 ทั้งประเทศ ล้วนแล้วแต่เป็นศูนย์การค้าขนาดใหญ่ที่มีนักท่องเที่ยวปริมาณมากเฉลี่ยประมาณ 90,000 - 150,000 คน ต่อวันต่อจุด 

หากเปรียบเทียบกับ บริษัท เคาน์เตอร์เวอร์วิส จำกัด ที่ให้บริการ 3 จุด คือ สาขาลิโด, สาขาแบงค์ค๊อกไนท์บาร์ซาร์ และสาขาผดุงด้าว (เยาวราช) จะเห็นได้ชัดว่ามีโอกาสที่จะเกิดปัญหาตามมา

ปัญหาหลักคือการเดินทางที่ไม่สะดวกรวมไปถึงสถานที่ให้บริการเองก็อาจจะไม่เพียงพอต่อการต้อนรับนักท่องเที่ยวที่จะมียื่นขอเงินภาษีคืน ซ้ำร้ายจะเป็นการทำให้ตัวโครงการโดนโจมตีในความไม่พร้อมของการให้บริการ ซึ่งเหตุใดไม่พิจารณาศูนย์การค้าขนาดใหญ่ที่สมาคมการค้าปลีกยื่นเสนอไป ที่ได้เตรียมพร้อมทั้งด้านระบบและบุคคลากรเรียบร้อยแล้ว

ฉัตรชัย


"ทำไมต้องระบุว่า 1 บริษัทได้ไม่เกิน 3 จุด เลข 3 เนี่ยนะ เลขนี้เราได้แต่ใดมา ผมไม่รู้" นายฉัตรชัย กล่าว

เนื่องจากตอนที่มีการยื่นคำอนุมัติเป็นตัวแทนนั้น ทางกรมสรรพากรได้ยืนยันใบสมัครของทางสมาคมเรียบร้อยแล้ว โดยวันที่ 25 ก.ย. ที่ผ่านมา กรมสรรพากรได้ตรวจสอบสถานที่ทั้ง 5 จุดที่ทางสมาคมเสนอไป ซึ่งทุกอย่างก็ผ่านหมด เหตุใดเมื่อถึงวันที่ 30 ก.ย. ซึ่งเป็นวันประกาศผลจึงไม่อนุมัติให้ทางสมาคมผู้ค้าปลีกผ่าน หรือเหตุใดจึงไม่บอกสมาคมตั้งแต่ตอนรับใบสมัครแล้วว่ายื่นได้แค่ 3 จุดเท่านั้น


สมาคมผู้ค้าปลีก

ขณะที่นายวราวุฒ กล่าวว่า สถานการณ์การค้าปลีกของไทยปัจจุบันกำลังเผชิญกับวิกฤตอย่างหนัก เพราะเติบโตน้อยสุด เพียงร้อยละ 3.9 ซึ่งต่ำกว่าอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ หรือ จีดีพี ของประเทศ ขณะที่ประเทศเพื่อนบ้านของไทยเติบโตอยู่ที่ร้อยละ 10-12 ซึ่งขัดแย้งกับตัวเลขนักท่องเที่ยวที่เข้ามาเที่ยวไทยเป็นจำนวนมาก

อีกทั้ง กรุงเทพมหานครยังได้รับการโหวตให้เป็นเมืองสุดยอดจุดหมายปลายทางอันดับ 1 ของโลก จากการสำรวจของมาสเตอร์การ์ด ฉบับที่ 7 ประจำปี 2561 ซึ่งสะท้อนว่า นักท่องเที่ยวไม่ได้มองว่าประเทศไทยเป็นประเทศที่น่าช็อปปิงหรือจับจ่ายใช้สอย เพราะต้องเสียภาษีให้กับประเทศที่ตนไม่ได้อยู่และกระบวนการขอภาษีคืนก็ทำได้ค่อนข้างยากและไม่สะดวก

ทว่าหากเราสามารถทำให้นักท่องเที่ยวรู้สึกว่าการช็อปปิงที่ไทยไม่แพงก็เป็นเรื่องง่ายที่จะทำให้ประเทศไทยกลายเป็น shopping Destination ของโลก เพราะประเทศไทยเป็นที่ที่มีนักท่องเที่ยวในมืออยู่แล้ว

สำหรับโครงการ Downtown Vat Refund For Tourist สมาคมเชื่อว่าจะมาช่วยตอบโจทย์ใหญ่นี้ได้อย่างแน่นอน และสามารถสานต่อจนบรรลุวัตถุประสงค์ของโครงการคือ ครอบคลุมจำนวนนักท่องเที่ยว ตอบสนองความพึงพอใจ และการกระจายรายได้สู่กิจการทุกระดับ

ทั้งยังหวังว่าการยื่นอุทธรณ์ให้กรมสรรพากรพิจารณาอีกครั้งนั้นจะได้รับข่าวดี เพราะท้ายที่สุดแล้วนั้นผลดีเองก็ตกอยู่ที่เศรษฐกิจของประเทศไม่ใช่แค่ศูนย์การค้าทั้ง 5 แห่งที่เป็นจุดให้บริการ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :