ที่เมืองไถจง ตอนกลางของเกาะไต้หวัน มีร้านชาจีนที่ขายเครื่องดื่มทั้งร้อนและเย็นให้บริการแก่ลูกค้าท้องถิ่น ในราวต้นทศวรรษที่ 1988 คุณหลินชิ่วฮุย ผู้จัดการของร้านชาชุนสุ่ยถัง 春水堂 ได้สร้างสรรค์เครื่องดื่มชนิดใหม่ โดยนำเอาเม็ดแป้งมันสำปะหลังต้ม ที่เป็นวัตถุดิบในการทำขนมพื้นเมืองผสมลงไปในชา แล้วดื่มพร้อมกัน
เนื่องจากรสชาติหวานมันของนม กลิ่นหอมของชา และความเหนียวหนึบนุ่มหนับของเม็ดแป้งผสมกันพอดี ปรากฏว่าเมื่อนำออกขายก็ได้รับความนิยมอย่างมากและยังแพร่หลายยิ่งขึ้นเมื่อวัฒนธรรมป็อปของไต้หวันเผยแพร่ออกมาในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และเอเชียตะวันออกยุค 1990-2000 ก่อนจะซบเซาลงระยะหนึ่งหลังกระแสนิยมเครื่องดื่มสุขภาพแพร่หลาย
ถ้าวัฒนธรรมชา เป็นหนึ่งในวัฒนธรรมจีนที่ยิ่งใหญ่ ชานมไข่มุก ก็เป็นตัวแทนของความเป็นไต้หวันที่แตกต่างจากจีนดั้งเดิม
องค์ประกอบของชานมไข่มุกล้วนแล้วแต่เป็นผลิตภัณฑ์ที่ไต้หวันภาคภูมิใจ ใบชาจากบริเวณเทือกเขาทางเหนือและตอนกลางของประเทศ เช่น ใบชาจินซาน ใบชาอาลีซาน น้ำนมโคจากฟาร์มที่มีชื่อเสียงทั้งบริเวณชิงจิ้ง หรือเกาะจินเหมิน น้ำตาลทรายแดงจากไร่อ้อย และเยลลี่ที่ทำจากผลไม้ที่ปลูกบริเวณเมืองไถหนานและเกาสงทางตอนใต้
โดยเฉพาะอย่างยิ่งเม็ดไข่มุกสีดำที่ทำจากมันสำปะหลัง ซึ่งมีที่มาจากส่วนผสมในขนมพื้นเมืองไต้หวันที่เรียกว่า เฟินหยวน ในชานมไข่มุกหนึ่งแก้วจึงเป็นเหมือนส่วนผสมขององค์ประกอบความเก่าแก่ของวัฒนธรรมชาจีน และความใหม่ทันสมัยของการเป็นไต้หวันเข้าด้วยกัน
ในราวปี 2016 ชานมไข่มุกได้กลับเข้าสู่กระแสความนิยมอีกครั้งโดยพ้องกับการเข้าสู่ตำแหน่งของไช่อิงเหวิน ประธานาธิบดีหญิงคนแรกของไต้หวัน และพรรค DPP หลังการเลือกตั้งในเดือนพฤษภาคม
กระแสความนิยมไต้หวันเริ่มแพร่สะพัดภายหลังไต้หวันใช้นโยบาย New Southbound Policy เปิดให้นักท่องเที่ยวจากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หลายประเทศเข้าไปท่องเที่ยวในไต้หวันได้โดยไม่ต้องขอวีซ่า รวมถึงหน่วยงานการท่องเที่ยวและการลงทุนไต้หวันได้ออกโฆษณาดึงดูดใจให้เข้าไปท่องเที่ยวไต้หวัน ซึ่งชานมไข่มุกก็ถูกองค์กรต่างๆ นำมาโปรโมทในฐานะเครื่องดื่มที่แสดงถึงความเป็นไต้หวัน และเป็นรสชาติเอกลักษณ์ของไต้หวันซึ่งหาที่อื่นไม่ได้
นอกจากนี้ การท่องเที่ยวไต้หวันยังเพิ่มแคมเปญแวะท่องเที่ยวในกรุงไทเประหว่างการพักต่อเครื่องที่สนามบินไทเปเถาหยวน หากเดินทางด้วยสายการบินแห่งชาติไต้หวันอย่าง EVA หรือ China Airlines ผู้ที่มาท่องเที่ยวไต้หวันมักมีโอกาสได้ชิมรสชาติชานมไข่มุกแบบไต้หวันที่ปรับปรุงใหม่ สามารถปรับระดับความหวาน ลดน้ำตาล เพิ่มลดปริมาณน้ำแข็งได้ตามต้องการ ลดผลกระทบต่อสุขภาพที่หวาดกลัวกันไปได้
ในอีกทางหนึ่ง การส่งเสริมธุรกิจของรัฐบาลไต้หวัน ทำให้นักลงทุนชาวไต้หวันมีความกล้าที่จะเปิดการลงทุนและขยายสาขาของร้านชานมไข่มุกไปยังต่างประเทศมากขึ้น
นักธุรกิจชาวอเมริกันเชื้อสายไต้หวันรุ่นใหม่ ที่ซื้อแฟรนไชส์หรือเปิดสินค้าแบรนด์ชานมไข่มุกในอเมริกาเหนือและยุโรป จนกลายเป็นกระแสบูมชานมไข่มุกในช่วงนี้ ไม่ว่าจะเป็นแบรนด์ Gong Cha, Kung Fu Tea, Boba Time
ส่วนในเอเชีย ทั้งญี่ปุ่น เกาหลี เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมถึงในจีนแผ่นดินใหญ่เอง ก็มีร้านชานมไข่มุกจากไต้หวัน หรือแบรนด์ท้องถิ่นที่เปิดโดยซื้อสินค้าวัตถุดิบจากไต้หวันผุดขึ้นมากมาย
จากรายงานการวิจัยตลาดของบริษัท Allied Analytics ในปี 2017 มูลค่าตลาดชานมไข่มุกทั่วโลกอยู่ที่ 1,954 ล้านเหรียญสหรัฐ (ราวๆ 65,000 ล้านบาท) คาดว่าภายในปี 2023 จะมีมูลค่าแตะ 3,214 ล้านเหรียญ (ราว 100,000 ล้านบาท)
ตลาดที่เติบโตอย่างรวดเร็วที่สุดอยุ่ที่อเมริกาเหนือ ซึ่งคำว่า Bubble Tea และ Boba Tea เป็นกระแสนิยมให้เห็นตามโซเชียลมีเดียของวัยรุ่น โดยเฉพาะการลงรูปร้านเครื่องดื่มใน Instagram และ Pinterest
ในฮ่องกง ร้านชานมไข่มุกที่ได้รับความนิยมพุ่งสูงขึ้น ช่วยให้พื้นที่เช่าของศูนย์การค้าที่ซบเซาลงจากกระแสการซื้อขายสินค้าออนไลน์ได้รับค่าเช่าที่ดีขึ้นและมีอัตราการเช่าหนาแน่น ในญี่ปุ่น ร้านชานมไข่มุกได้รับความนิยมถึงขั้นมีคนยื่นต่อคิวยาวในฤดูร้อนที่อากาศร้อนจัด
ตลาดชานมไข่มุกในไทยจากการสำรวจของสถาบันวิจัยเศรษฐกิจกสิกรไทย พบว่ามีมูลค่าราว 2,000 ล้านบาท โดยบริษัทที่มีส่วนแบ่งตลาดมากที่สุดคือ โอชายะ Ochaya ที่มีสาขามากกว่า 360 สาขา มีรายได้ปี 2560 ที่ 148,202,491 บาท เมื่อเทียบจากปี 2558 แล้วถือว่าเติบโตมากกว่า 1 เท่าตัว
รองลงมาคือ แบรนด์โคโค่ CoCo โดยมีรายได้ปี 2560 ที่ 41,474,121 บาท ซึ่งก็เติบโตจากปี 2559 และ 2558 ถึงปีละกว่า 40% เช่นกัน
แบรนด์โอชายะ ก่อตั้งจากความคิดของชาวไต้หวันชื่อ Stanley Yu ที่เคยเป็นพนักงานบริษัทคอมพิวเตอร์สัญชาติไต้หวันที่ถูกส่งมาทำงานในไทย ก่อนจะผันตัวมาสร้างโรงงานและปั้นแบรนด์ชานมไข่มุกจนติดตลาดเป็นอันดับ 1 ในขณะที่แบรนด์ CoCo เป็นการซื้อแฟรนไชส์ชานมไข่มุกชื่อดังของไต้หวันที่มีสาขาทั่วโลกมาเปิดโดยมีคุณกฤตพน ทัพพะรังสี ทายาทคนโตของกร ทัพพะรังสี เป็นหัวเรือใหญ่
ชานมไข่มุกถือว่าเป็นอุตสาหกรรมส่งออกที่ทำเงินให้กับไต้หวันที่มีอัตราเติบโตขึ้นสูงสุดอันดับ 3 รองจากแผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์และอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้า
โดยหนังสือพิมพ์ไทเปไทมส์ ประเมินว่า ธุรกิจเกี่ยวกับชานมไข่มุกเติบโตขึ้นถึงปีละ 38% และสร้างงานให้กับชาวไต้หวันมากกว่า 300,000 คน
ที่สำคัญที่สุดแตกต่างจากสินค้าส่งออกของไต้หวันอย่างอื่นคือ อุตสาหกรรมชานมไข่มุกเป็นอุตสาหกรรมที่เกิดขึ้นภายในไต้หวัน ไม่ได้ออฟชอร์ไปผลิตยังจีนแผ่นดินใหญ่หรือโรงงานในประเทศอื่น ทำให้มูลค่าทางเศรษฐกิจของชานมไข่มุกไต้หวันเข้าสู่การหมุนเวียนในประเทศอย่างเต็มที่ ช่วยบรรเทาผลกระทบทางเศรษฐกิจที่เกิดจากการบีบคั้นของจีนคอมมิวนิสต์ที่ต้องการปิดกั้นเศรษฐกิจและความเป็นไต้หวันที่แตกต่างจากแผ่นดินใหญ่
ประธานาธิบดีไช่อิงเหวินแห่งพรรค DPP ที่มีแนวนโยบายแยกตัวออกจากจีนแผ่นดินใหญ่ ก็เป็นสาวกชานมไข่มุกสุดตัวเช่นกัน ระหว่างงานเฉลิมฉลองวันชาติไต้หวันปีที่ผ่านมา เธอเลือกชานมไข่มุกเป็นเครื่องดื่มเพื่อจัดเลี้ยงรับรอง ทั้งยังเอ่ยปากชมรสชาติและแนะนำให้คณะผู้แทนต่างชาติได้ชิม
ในการออกกฎหมายแบนหลอดพลาสติกของไต้หวันล่าสุด ไช่อิงเหวินถึงกับต้องตั้งคำถามว่า แล้วจะกินชานมไข่มุกได้อย่างไร ต่อมาสตาร์ทอัพไต้หวันรายหนึ่งจากเมืองไถจง บ้านเกิดของชานมไข่มุก คิดค้นหลอดดูดจากชานอ้อยที่สะดวกไม่ต่างจากหลอดพลาสติก แต่ย่อยสลายได้ โดยเจ้าของผู้คิดค้นปฏิเสธจะขายหลอดนั้นให้กับบริษัทจากจีนแผ่นดินใหญ่ เพราะไม่ต้องการให้จีนแดงเข้ามามีส่วนในอุตสาหกรรมชานมไข่มุกในอนาคต
และเมื่อประธานาธิบดีไช่เดินทางไปเยือนกลุ่มประเทศแคริบเบียนที่ยังมีสัมพันธ์ทางการทูตอย่างเป็นทางการกับไต้หวันโดยแวะผ่านสหรัฐอเมริกา เธอได้แวะเข้าร้านชานมไข่มุกสัญชาติไต้หวันแบรนด์ 85°C Bakery Café ที่ลอสแองเจลิส และมีภาพออกสื่อแพร่หลายถึงการชื่นชมธุรกิจของไต้หวันรวมถึงทางร้านก็ได้มอบของที่ระลึกให้แก่ปธน.ไช่ด้วย ทำให้เกิดการประท้วงและคว่ำบาตรชานมไข่มุกในร้านแบรนด์เดียวกันจากชาวจีนแผ่นดินใหญ่ จนผู้บริหารบริษัทต้องออกมาแถลงว่า ชานมไข่มุกนั้นไม่เกี่ยวกับการเมืองและความต้องการแยกประเทศของไต้หวันออกจากจีน
เครื่องดื่มแก้วเล็กๆ ที่หลายคนติดใจนี้ จึงกลายเป็นเรื่องใหญ่ระดับข้ามชาติที่ไม่อาจมองข้าม ทั้งความอร่อยและผลกระทบทางเศรษฐกิจและการเมือง