เว็บไซต์เดลินิวส์ รายงานข่าวว่า นายอดิศร พร้อมเทพ อธิบดีกรมประมง ยืนยัน ตนพร้อมผลักดันเต็มที่ให้ปลากัดเป็นสัตว์น้ำประจำชาติ โดยได้ลงนามหนังสือข้อเสนอให้ปลากัดเป็นสัตว์น้ำประจำชาติ พร้อมกับส่งเรื่องให้คณะกรรมการเอกลักษณ์ของชาติ สำนักนายกรัฐมนตรี เป็นที่เรียบร้อยแล้วตั้งแต่วันที่ 31 ต.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งมีนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน หลังจากที่ตนเดินทางกลับจากการประชุมที่บาหลี ก็เซ็นหนังสือทันที เพราะต้องการดูข้อมูลทั้งหมดด้วยตนเอง เพื่อให้มั่นใจว่าได้รวบรวมข้อมูลได้ครบรอบด้านจริงๆ
อย่างไรก็ตาม หากคณะกรรมการเอกลักษณ์ของชาติ ต้องการข้อมูลเพิ่มเติม ทางกรมประมงพร้อมจะนำเสนอส่งให้พิจารณาอย่างต่อเนื่อง โดยกรมประมงได้พยายามประสานกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องเพื่อให้ได้ข้อมูลอย่างแม่นยำที่สุด
"เรื่องนี้จะเป็นประโยชน์ยกระดับอาชีพเกษตรกรไทยที่มีความสามารถในการเพาะเลี้ยงผสมพันธุ์ปลากัด กระตุ้นเศรษฐกิจฐานรากและเพิ่มมูลค่าสร้างรายได้เข้าประเทศตามยุทธศาสตร์ไทยแลนด์ 4.0" นายอดิศร กล่าว
นายอดิศร กล่าวว่า ขั้นตอนระหว่างนี้ ต้องรอคณะกรรมการเอกลักษณ์ของชาติ พิจารณาข้อมูลทั้งเก่าและใหม่ ที่กรมประมง ส่งไปซึ่งครั้งนี้มีความสมบูรณ์ครบรอบด้านเต็มที่สุด ในเรื่องการเสนอปลากัดไทย ตัวต้นแบบ Betta splendens ที่มีข้อมูลชี้ชัดว่าเป็นปลาประจำถิ่นของไทยจากบันทึกในอนุกรรมวิธาน พบปลากัดตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 3 โดยข้อมูลดังกล่าวเป็นตัวบ่งชี้ได้ดีที่สุดทั่วโลกให้การยอมรับและจะไม่มีประเทศใดมาโต้แย้งสิทธิได้
"คกก.เอกลักษณ์ชาติ" คาดนัดหารือกลางเดือนพ.ย.นี้
เว็บไซต์เดลินิวส์ รายงานด้วยว่า นางพัชราภรณ์ อินทรียงค์ ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะรองประธานคณะกรรมการเอกลักษณ์ของชาติ กล่าวว่า เอกสารเรื่องดังกล่าวเพิ่งมาถึงตน เมื่อวันที่ 5พ.ย. โดยกรมประมงระบุข้อมูลมิติทางภูมิศาสตร์จากการศึกษาของนักมีนวิทยา เมื่อ ค.ศ.1910 ที่พิสูจน์แล้วว่าปลากัดมีถิ่นฐานมาจากไทย ขณะที่มิติทางเอกลักษณ์มีลักษณะของตัวปลา รวมถึงยังพบหลักฐานว่าตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 1 มีการบันทึกเรื่องของปลากัดไว้ด้วย และยังมีมิติด้านวัฒนธรรมจากการที่มีผู้วาดภาพปลากัดถวายเป็นพุทธบูชา อีกทั้งทั่วโลกให้การยอมรับและนำภาพของปลากัดไปใช้เป็นสัญลักษณ์ต่างๆ
อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการเอกลักษณ์ของชาติจะนัดประชุมกันช่วงกลางเดือน พ.ย.นี้ โดยจะต้องรอข้อมูลเรื่องหลักเกณฑ์และแนวทางการพิจารณาสรรหาบุคคล องค์กร หรือชุมชน เพื่อรับรางวัล “ค่าของแผ่นดิน” มาบรรจุเป็นวาระการประชุมด้วย ทั้งนี้ หากที่ประชุมเห็นชอบตามที่กรมประมงเสนอ ก็จะส่งเรื่องเข้าสู่ที่ประชุมครม.พิจารณาให้ความเห็นชอบต่อไป.
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง :