ไม่พบผลการค้นหา
สื่อต่างประเทศรายงานข่าวทหารไทยใน จ.ขอนแก่น ถูกจับกุมข้อหาละเมิดทางเพศเยาวชนชาย 75 ราย ขณะที่ตนเองติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ อาจมีผู้เสียหายเพิ่มเติม-สะท้อนปัญหาการใช้แอปฯ มือถือ พุ่งเป้าล่อลวงเยาวชน

สำนักข่าวเอพีและเอเอฟพี รายงานอ้างอิงคำแถลงของ พล.ต.ต.สุรเชษฐ์ หักพาล รองผู้บัญชาการตำรวจท่องเที่ยว ซึ่งนำกำลังเจ้าหน้าที่ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง จับกุม จ.ส.อ.จักรกฤษณ์ ค่อมสิงห์ วัย 43 ปี ที่ค่ายทหารแห่งหนึ่งในจังหวัดขอนแก่น ตั้งแต่วันพุธที่ 7 พ.ย.ที่ผ่านมา โดยระบุว่า จ.ส.อ.จักรกฤษณ์ เป็นผู้ต้องหาตามหมายจับของศาล โดยมีความผิดทั้งหมด 6 ข้อหาหนักที่เกี่ยวกับการล่วงละเมิดทางเพศ ข่มขืน และแบล็กเมล์เยาวชนชาย 75 ราย

การสืบสวนและดำเนินคดีเริ่มจากตำรวจได้รับเรื่องร้องเรียนว่ามีผู้ใช้ภาพถ่ายของบุคคลอื่นแอบอ้างเป็นตัวเองในสื่อสังคมออนไลน์ 'เฟซบุ๊ก' และแอปพลิเคชันนัดเดตสำหรับกลุ่มเกย์ 'Blued' เพื่อล่อลวงให้คู่สนทนาที่เป็นเยาวชนไว้วางใจ และขอร้องให้เยาวชนส่งภาพเปลือยมาให้ ก่อนจะนัดพบและข่มขืน นำไปสู่การรวบรวมหลักฐานจากผู้ได้รับผลกระทบ จนสืบทราบว่าผู้ล่อลวงคือ จ.ส.อ.จักรกฤษณ์ ซึ่งเป็นผู้ติดเชื้อไวรัสเอชไอวี/เอดส์

ตำรวจไทยเปิดเผยว่า ขณะนี้ทราบว่ามีผู้เสียหายที่ถูกล่อลวงและก่อเหตุล่วงละเมิดทางเพศโดย จ.ส.อ.จักรกฤษณ์ อย่างน้อย 75 ราย เป็นเยาวชนอายุตั้งแต่ 13-18 ปี ในจังหวัดขอนแก่นและละแวกใกล้เคียง โดย พล.ต.ต.สุรเชษฐ์ ยืนยันว่า แม้ผู้ก่อเหตุจะเป็นทหาร แต่พฤติกรรมที่เกิดขึ้นเป็นการกระทำเฉพาะบุคคล ไม่เกี่ยวข้องใดๆ ทั้งสิ้นกับหน่วยงานต้นสังกัด และผู้ก่อเหตุถูกปลดจากการปฏิบัติหน้าที่ในค่ายทหารดังกล่าวแล้ว

อย่างไรก็ตาม ตำรวจและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องจะขยายผลสืบสวนออกไปเพื่อตามหาตัวผู้ที่ถูกล่อลวง เพราะเชื่อว่าอาจจะมีจำนวนมากกว่า 75 ราย เนื่องจากผู้ก่อเหตุมีพฤติกรรมดังกล่าวได้ประมาณ 4 ปี หรืออาจจะมากกว่านั้น นับตั้งแต่ประจำการอยู่ที่กรุงเทพฯ ก่อนจะย้ายไปอยู่ที่ขอนแก่น 

ส่วนบทลงโทษสูงสุดแก่ผู้กระทำผิดในข้อหาข่มขืนเยาวชนในประเทศไทย คือการจำคุก 20 ปี และตำรวจจะประสานงานกับเจ้าหน้าที่สหวิชาชีพเพื่อให้คำแนะนำและความช่วยเหลือเยียวยาแก่เยาวชนที่ถูกล่วงละเมิด หรือได้รับผลกระทบจากกรณีที่เกี่ยวข้องกับผู้ต้องหาในคดีนี้

กรณีที่เกิดขึ้นครั้งนี้ บ่งชี้ว่ากลุ่มผู้มีรสนิยมชอบเด็กและผู้ก่อเหตุข่มขืนเยาวชน หันมาใช้แอปพลิเคชันมือถือและสื่อสังคมออนไลน์ในการล่อลวงหรือนัดพบเยาวชนกันมากขึ้น เพราะควบคุมและตรวจสอบได้ยาก การพูดคุยด้วยช่องทางดังกล่าวสามารถหลบเลี่ยงสายตาของผู้ปกครองหรือครูได้ง่ายกว่าการพูดคุยในช่องทางอื่น

ที่มา: AFP/ Channel News Asia/ AP/ Newsweek

ข่าวที่เกี่ยวข้อง: