นับตั้งแต่ปี 2004 สวนสาธารณะกลางเซี่ยงไฮ้อย่าง People's square ได้กลายเป็นสถานที่ที่ผู้ปกครองมาหาคู่ให้กับลูกๆ ของตนเอง โดยในทุกๆ เสาร์-อาทิตย์จะมีผู้ปกครองนำรูปถ่าย พร้อมป้ายบอกคุณสมบัติของลูกตนเองและคุณสมบัติคู่ครองที่ผู้ปกครองต้องการ มาแขวนไว้กับราวที่มีอยู่ในสวนสาธารณะ หรือวางไว้คู่กับร่มที่เป็นอุปกรณ์แทนโต๊ะในการโชว์รูปลูกของตนเอง และเมื่อผู้ปกครองหรือใครสนใจก็สามารถเข้าไปพูดคุยหารือถึงคุณสมบัติต่างๆ หรือพูดคุยกับผู้ปกครองเพื่อนัดดูตัวได้
ขณะที่ในปักกิ่ง สวนสาธารณะจงซาน (Zhongshan Park) ซึ่งตั้งอยู่ใกล้พระราชวังต้องห้าม เป็นอีกสถานที่ที่หนึ่งที่พ่อแม่ผู้ปกครองต่างมาชุมนุมกันเพื่อประกาศหาคู่ครองให้ลูกชายและลูกสาวของตน
ทั้งนี้ สิ่งที่เหมือนกันทั้งในตลาดหาคู่ของทั้งเซี่ยงไฮ้และปักกิ่ง คือ การประกาศคุณสมบัติที่ผู้ปกครองคาดหวังสำหรับลูกเขย โดยจะต้องเป็นคนที่มีบ้านหรือมีอพาร์ตเมนต์ในเมืองนั้นๆ (ในที่นี้หมายถึงย่านใจกลางเมือง) รวมไปถึงรถยนต์ ระดับการศึกษาที่ต้องจบปริญญาตรีเป็นอย่างน้อย และเงินเดือนที่ได้รับต้องไม่ต่ำกว่า 50,000 หยวน หรือประมาณ 250,000 บาทต่อเดือน ขณะเดียวกัน ผู้ปกครองที่ต้องการหาลูกสะใภ้ นั้น ต่างต้องการหาผู้หญิงที่มีบุคลิกภาพที่ดี มีงานทำที่มั่นคง เป็นคนที่เติบโตมาในปักกิ่งหรือเซี่ยงไฮ้
แม้ว่าตลาดหาคู่ทั้งในปักกิ่งและเซี่ยงไฮ้จะได้รับความสนใจจากพ่อแม่ที่ต้องการหาคู่ครองให้แก่ลูกชายและลูกสาวของตนเอง แต่ส่วนใหญ่ลูกหลานของพวกเขานั้นไม่ได้รับรู้การกระทำเหล่านี้ด้วย
ผู้ปกครองคนหนึ่งในสวนจงซานของปักกิ่งให้สัมภาษณ์กับซีเอ็นเอ็น ขณะที่เธอถือประวัติของลูกสาวเธอที่ทำงานเป็นนักบัญชีอยู่ในเมืองโตรอนโตของแคนาดาว่า "ต้องการหาคู่ครองให้ลูกสาว โดยต้องมีคุณสมบัติสำคัญ คือต้องมีงานที่มั่นคง และมีความคิดที่เปิดกว้าง" แต่ทั้งนี้เธอไม่สามารถให้ชื่อของเธอกับนักข่าวได้ เนื่องจากไม่ต้องการให้ลูกสาวรู้ว่าเธอกำลังจะหาคู่ครองให้
ปัจจุบัน ในเมืองใหญ่ๆ อย่างซีอาน หางโจว อันซาน ก็มีตลาดหาคู่ในรูปแบบนี้เช่นเดียวกัน เป็นการขยายพื้นที่ไปจากเซี่ยงไฮ้และปักกิ่งที่เป็นต้นตำรับของตลาดหาคู่
剩男 (Shengnan) แปลว่า ผู้ชายที่เหลือ ซึ่งในที่นี้หมายถึง "ผู้ชายที่ยังหาคู่ชีวิตไม่ได้" ซึ่งเป็นผลจากนโยบายลูกคนเดียวที่เคยบังคับใช้เพื่อควบคุมจำนวนประชากรจีนในช่วงที่ผ่านมา ทำให้เกิดปัญหาช่องว่างระหว่างเพศ โดยประชากรชายมีจำนวนสูงกว่าประชากรหญิงมาก ส่งผลให้ทุกวันนี้จีนมีประชากรเพศชายที่ยังโสดและไม่แต่งงานจำนวนหลายล้านคน และมีการคาดการณ์ว่าในปี 2020 จะมีชายมากกว่า 30 ล้านคนที่ยังไม่ได้แต่งงานและอยู่ในช่วงวัยมองหาคู่ชีวิต
นิโคลัส เออเบอร์สเตท นักเศรษฐศาสตร์การเมืองชาวอเมริกัน กล่าวว่า ในปี 2030 กว่า 1 ใน 4 ของผู้ชายจีนช่วงอายุ 30 จะยังคงไม่ได้แต่งงาน
ขณะที่จำนวนประชากรผู้หญิงมีน้อยกว่าผู้ชาย ทำให้ผู้หญิงสามารถหาคู่ครองที่ตนเองพึงพอใจได้ง่ายกว่า และผู้หญิงก็สามารถเป็นผู้เลือกได้มากกว่า แต่ทั้งนี้ในการหาคู่ของทั้งชายและหญิงในจีน การประสบความสำเร็จทางการเงินก็เป็นตัวชี้วัดหนึ่งที่จะทำให้ผู้ชายชนะใจผู้หญิงในการหาคู่ครอง
ส่วนหนึ่งของปัญหาการไม่มีคู่ของประชากรในวัยทำงาน คือ การปะทะกันระหว่างค่านิยมทางสังคมแบบเก่าและใหม่ โดยการหาคู่ดูตัวในแบบเก่านั้นไม่สามารถใช้ได้จริงกับคนรุ่นใหม่ โดยก่อนช่วงเทศกาลตรุษจีนเป็นโอกาสอันดีสำหรับคนโสดในการพบเจอเพื่อดูตัว คนโสดจำนวนมากจะไปเยี่ยมครอบครัวหรือไปเยี่ยมบ้านเพื่อน ซึ่งทำให้พวกเขาเหล่านั้นมีโอกาสได้เจอ "คนที่จะมาเป็นคู่ครอง" ในอนาคตได้ง่ายขึ้น
แต่วัฒนธรรมการดูตัวในปัจจุบันกำลังถูกทดแทนด้วยโลกออนไลน์ที่ทำให้ผู้คนได้พบปะกันมากขึ้นโดยไม่ต้องรอเทศกาล และเป็นสาเหตูหนึ่งที่ทำให้คนโสดรู้สึกว่า ตัวเองมีตัวเลือกที่มากขึ้น ทั้งยังสามารถทำตามใจตัวเองได้มากกว่าการเชื่อฟังพ่อแม่
ปัจจุบัน อัตราการแต่งงานของประชากรจีนถือว่าอยู่ในช่วงลดลง โดยตัวเลขการแต่งงานในปี 2016 มีทั้งหมด 11.4 ล้านคน ซึ่งลดลงจากปีก่อนหน้านั้นที่มีถึง 12.2 ล้านคน คิดเป็น 6.7 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่อายุของประชากรที่แต่งงานนั้นกลับเพิ่มขึ้น และอัตราการหย่าร้างกลับเพิ่มสูงขึ้นเช่นเดียวกัน
แซนดี ทูซินสี นักสังคมวิทยาของฮ่องกง กล่าวว่า อัตราการหย่าร้างที่เพิ่มขึ้นนั้นสะท้อนให้เห็นทัศนคติการใช้ชีวิตคู่ของผู้หญิงที่เปลี่ยนแปลงไป ผู้หญิงส่วนใหญ่จะไม่ทนกับชีวิตคู่ที่ไม่ประสบผลสำเร็จอีกต่อไป เนื่องจากผู้หญิงมีทางเลือกที่มากขึ้น และสามารถหาเงินได้ด้วยตนเองโดยไม่ต้องพึ่งผู้ชายอีกต่อไป
เรียบเรียงจาก BBC South China Morning Post และ Dailymail