นายพนัชกร โพธิบัณฑิต หัวหน้าอุทยานแห่งชาติไทรโยค รักษาการหัวหน้าชุดเฉพาะกิจพญาเสือ ได้รับแจ้งเมื่อเย็นวันที่ 6 ต.ค. 2561 ว่ามีคณะรถออฟโรด ประมาณ 5-6 คันเข้าไปในพื้นที่อุทยานแห่งชาติไทรโยค จ.กาญจนบุรี ใกล้เคียงหนองเต่าดำเขาปลาน้อย มีพฤติกรรมล่าสัตว์ จึงได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ นำกำลัง จำนวน 17 นาย เร่งเดินทางเข้าตรวจสอบ ในเช้าวันที่ 7 ต.ค. เมื่อเดินทางถึง ใกล้เคียงหน่วยพิทักษ์ป่าอุทยานแห่งชาติเขาพลู พบรถออฟโรดจำนวน 5 คันขับสวนออกมา จึงได้แสดงตัวและเรียกตรวจค้น พบ ซากสัตว์ป่าสงวน เป็นเท้ามีขอทั้งสี่เท้า น้ำหนักรวม 9.8 ขีด, ปืนยาว .22 CZ, พร้อมเครื่องกระสุน จำนวน 30 นัด, ปืนสั้นขนาด 9 มม. จำนวน 2 กระบอก พร้อมเครื่องกระสุน 40 นัด, และเครื่องกระสุนขนาด 5.56 (เครื่องกระสุนใช้กับ เอ็ม 16 ในสงคราม) จำนวน 20 นัด, มีดอีโต้ 2 เล่ม มีดครัว 3 เล่ม พร้อมเขียง
นอกจากนี้ ในกลุ่มคนดังกล่าว ยังพบชายคนหนึ่งที่อ้างว่าตนเองคือ นายวัชรชัย สมีรักษ์ ปลัดอำเภอด่านมะขามเตี้ย และมีชายอีกสองคนที่อ้างตัวว่าเป็นเจ้าหน้าที่อาสารักษาดินแดน
อย่างไรก็ตาม เมื่อเจ้าหน้าที่จะขอตรวจค้นตัวอย่างละเอียด กลุ่มบุคคลดังกล่าว กลับไม่ให้ตรวจค้น โดยอ้างตัวว่าเป็นปลัดอำเภอและเจ้าหน้าที่อาสารักษาดินแดน เบื้องต้น ยังคงให้การปฏิเสธว่าไม่ได้มีส่วนร่วมในการล่าสัตว์ดังกล่าว ทางเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติไทรโยค จึงนำตัวกลุ่มออฟโรดดังกล่าว ไปทำบันทึกจับกุมยังที่ทำการอุทยานแห่งชาติไทรโยค จากนั้น จะได้นำตัวกลุ่มบุคคลดังกล่าวส่งพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรไทรโยค ดำเนินคดีในข้อหาร่วมกันล่าสัตว์ป่าคุ้มครองโดยไม่ได้รับอนุญาต และ ข้อหาร่วมกันมีซากสัตว์ป่าคุ้มครองไว้ในความครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต
ขณะที่ นายจีระเกียรติ ภูมิสวัสดิ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดกาญจนบุรี กล่าวว่า เบื้องต้นได้รับรายงานข้อมูลบางส่วนแล้ว แต่ยังไม่ทราบรายละเอียดทั้งหมด ทั้งนี้ หากเรื่องดังกล่าวมีเจ้าหน้าที่ของรัฐเข้าไปเกี่ยวข้องจริง ก็จะต้องมีการตั้งคณะกรรมการสอบการกระทำผิดวินัยร้ายแรงและหากพบว่า บุคคลที่เป็นเจ้าหน้าที่รัฐกระทำผิดจริงก็จะมีโทษสูงสุดคือการไล่ออกจากราชการ
"ศรีสุวรรณ" จี้ผู้ว่าฯกาญจนบุรีไล่ออกปลัดอำเภอกับพวกฆ่าหมีขอ
นายศรีสุวรรณ จรรยา นายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน ออกแถลงการณ์ถึงกรณีดังกล่าวว่า การกระทำดังกล่าวของปลัดอำเภอและ อส. ในฐานะที่เป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองของรัฐ ย่อมมีสำนึกรู้ว่าการพกพาอาวุธปืนพร้อมเครื่องกระสุนเข้าไปในเขตอุทยานแห่งชาติและฆ่าหมีขอหรือมีซากสัตว์ป่าคุ้มครองฯ เป็นการจำนนด้วยหลักฐาน แม้จะพยายามปฏิเสธก็ฟังไม่ขึ้น ย่อมต้องมีความผิดตามกฎหมายหลายกระทง อาทิ
1)ร่วมกันพกพาอาวุธปืนไปในเมือง หมู่บ้าน ทางสาธารณะ โดยไม่ได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ ตามมาตรา 8 ทวิ วรรคหนึ่ง พรบ.อาวุธปืน เครื่องกระสุนปืนฯ พ.ศ. 2490 ต้องระวางโทษตามมาตรา 72 ทวิ วรรคสอง จำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือ ทั้งจำทั้งปรับ
2)ร่วมกันทำด้วยประการใด ๆ ให้เป็นอันตรายแก่สัตว์ตามมาตรา 16(3) พรบ.อุทยานแห่งชาติ 2504 มีความผิดตามมาตรา 24 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
3)ร่วมกันล่าสัตว์ป่าคุ้มครองโดยไม่ได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ มีความผิดตามมาตรา 16 พรบ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2535 ต้องระวางโทษตามมาตรา 47 จำคุกไม่เกิน 4 ปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
4)ร่วมกันมีซากสัตว์ป่าไว้ในความครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ ตามมาตรา 19 พรบ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2535 ต้องระวางโทษตามมาตรา 47 จำคุกไม่เกิน 4 ปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ทั้งนี้ พฤติกรรมดังกล่าวของปลัดอำเภอและ อส.ถือได้ว่าไม่เกรงกลัวกฎหมาย เพราะเป็นถึงเจ้าพนักงานของรัฐกลับปฏิบัติโดยมิชอบ เข้าข่ายฐานความผิด “ประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง” อันถือได้ว่าเป็นการไม่ปฏิบัติตามมาตรา 85 (7) ประกอบมาตรา 82(10) สมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อนจึงขอเรียกร้องให้ผู้ว่าราชการจังหวัดกาญจนบุรีควรสั่งลงโทษโดยการไล่ออกจากราชการ ตามมาตรา 88 (5) พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ.2551 เพื่อไม่ให้เป็นเยี่ยงอย่างที่ไม่ดีต่อสังคมและต่อข้าราชการอื่น ๆ ต่อไป และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าทุกฝ่ายจะไม่ใช้ความเป็นข้าราชการด้วยกันในการช่วยเหลือเกื้อกูลกันจนทำให้น้ำหนักคดีอ่อนลงจนทำให้ผู้ต้องหาหลุดไปได้ในที่สุด
กรมอุทยานฯ เร่งสอบผู้กระทำผิดลักลอบล่าหมีขอในพื้นที่อุทยานแห่งชาติไทรโยค
ด้านนายจงคล้าย วรพงศธร รองอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช กล่าวถึงกรณีเจ้าหน้าที่กรมอุทยานฯ ตรวจสอบรถยนต์ออฟโรด 6 คัน ที่กำลังเดินทางออกจากพื้นที่อุทยานแห่งชาติไทรโยค จังหวัดกาญจนบุรี เมื่อวันที่ 7 ต.ค. ที่ผ่านมา โดยเจ้าหน้าที่ได้แสดงตัวและขอตรวจค้น พบมีผู้โดยสารรวม 15 คน กับรถยนต์ 6 คัน พร้อมอาวุธปืน และอุ้งตีนหมีขอ
จากการตรวจสอบเบื้องต้น กรมอุทยานฯ ได้แจ้งดำเนินคดีเนื่องจากหมีขอเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง ลำดับที่ 194 ตาม พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2535 อยู่ในกลุ่มเสี่ยงใกล้สูญพันธุ์ ซึ่งกลุ่มบุคคลดังกล่าวไม่ให้ข้อมูลใดๆ และอ้างว่าอุ้งตีนหมีขอซื้อมาจากข้างนอก แต่ถือว่ามีความผิดทั้งการพกอาวุธปืนเข้าอุทยานฯ และมีซากสัตว์ป่าคุ้มครองในครอบครอง โดยจากนี้จะขยายผลไปยังกลุ่มล่าด้วย โดยจะทำซากดังกล่าวไปตรวจพิสูจน์ทางนิติวิทยาศาสตร์ว่าเป็นหมีที่ถูกล่าในพื้นที่อุทยานฯ หรือซื้อมา
นอกจากนี้ นายจงคล้ายยังเปิดเผยว่า วันนี้ (8 ต.ค.) เจ้าหน้าที่ตำรวจพิสูจน์หลักฐานจะเข้าพื้นที่ไปตรวจสอบอย่างละเอียดร่วมกับเจ้าหน้าที่กรมอุทยานฯ โดยที่ผ่านมามีการแอบอ้างเป็นเจ้าหน้าที่รัฐขอเข้าพื้นที่อยู่บ่อยครั้ง จึงกำชับให้เข้มงวดมากขึ้น ส่วนกลุ่มอนุรักษ์ที่ออกมาเคลื่อนไหวโยงกับคดีเสือดำ ขอให้เป็นเครื่องของกระบวนการยุติธรรมและการทำงานของตำรวจ พร้อมยืนยัน ไม่มีเจ้าหน้าที่อุทยานฯ เข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องแน่นอน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :