นายวีระ โรจน์พจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม (รมว.วธ.) เปิดเผยว่า กระทรวงวัฒนธรรมร่วมกับสวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิตสำรวจความคิดเห็นเด็ก เยาวชนและประชาชนต่อ 'วันภาษาไทยแห่งชาติ' จากกลุ่มตัวอย่าง 2,607 คนทั่วประเทศ โดย ผลสำรวจพบว่า เด็ก เยาวชนและประชาชน ร้อยละ 70.16 ทราบว่า วันภาษาไทยแห่งชาติตรงกับวันที่ 29 ก.ค. ของทุกปี และร้อยละ 78.14 ทราบว่า วธ.จัดกิจกรรมในวัน 'ภาษาไทยแห่งชาติ' เป็นประจำทุกปี
นอกจากนี้ยังได้สอบถามถึงปัญหาการใช้ภาษาไทยในปัจจุบันที่ต้องแก้ไขเร่งด่วนที่สุด พบว่า อันดับ 1 การพูด เพราะเป็นการสื่อสารที่ง่ายที่สุด วัยรุ่นปัจจุบันใช้ภาษาพูดแบบสั้นๆ ห้วนๆ มีศัพท์แสลงมากเกินไป และหากพูดในเรื่องสำคัญแต่ผิดเพี้ยนหรือสื่อความหมายผิด อาจส่งผลกระทบตามมาภายหลังได้
อันดับ 2 การเขียน เพราะปัจจุบันใช้คอมพิวเตอร์แทนการเขียนหนังสือมากขึ้นประกอบกับลายมือวัยรุ่นในปัจจุบันเขียนอ่านยากและตัวหนังสือเล็กมาก การเขียนคำและตัวสะกดมักเขียนผิดพลาดบ่อยๆ จึงควรให้เด็กฝึกคัดลายมือ ฝึกเขียนตัวบรรจง เพราะการเขียนเป็นการสื่อสารที่ชัดเจนอย่างหนึ่ง และเป็นการบันทึกช่วยจำได้อย่างดี
และอันดับ 3 การอ่าน เพราะเป็นพื้นฐานสำคัญสำหรับเด็กภาษาไทยมีการผสมคำ มีทั้งวรรณยุกต์ ตัวสะกด อักษรควบกล้ำ เวลาเด็กอ่านจะสับสนและเกิดปัญหาอย่างมาก คนไทยอ่านหนังสือน้อยและให้เวลาในการอ่านหนังสือน้อย
นายวีระ กล่าวว่า ยังมีคำศัพท์ที่วัยรุ่นนิยมใช้ในยุคปัจจุบันหรือคำศัพท์ที่กำลังฮิตในโลกออนไลน์ขณะนี้ ได้แก่ 1. หัวร้อน หมายถึง อารมณ์ร้อน 2. นก หมายถึง วืดหรือชวด 3.อิอิ หมายถึง เสียงหัวเราะ 4. โดนเท หมายถึง โดนทิ้ง 5.เตง หมายถึง ตัวเอง 6.บ่องต่ง หมายถึง บอกตรงๆ 7.อัลไล หมายถึง อะไร 8.เมพขิงๆ หมายถึง เทพจริงๆ และ 9. ตะมุตะมิ หมายถึง น่ารักน่าเอ็นดู
นอกจากนี้ ได้สำรวจความคิดเห็นว่า ตามยุทธศาสตร์ส่งเสริมวัฒนธรรมการอ่านสู่สังคมแห่งการเรียนรู้ของไทยภายใน 5 ปี ต้องการส่งเสริมให้คนไทยอ่านหนังสือเพิ่มขึ้นจากวันละ 60 นาที เป็น 90 นาทีทำได้หรือไม่ ร้อยละ 70.48 ระบุว่า ทำได้ หากภาครัฐมีมาตรการเข้มงวด ทุกฝ่ายให้ความร่วมมือ ผลิตหนังสือให้หลากหลาย น่าอ่าน น่าสนใจ ชี้แนะให้เห็นข้อดีและคุณค่าของการอ่านและปลูกฝังให้คนไทยรักการอ่านมากขึ้น และร้อยละ 29.52 คิดว่า ทำไม่ได้ เพราะคนส่วนใหญ่ใช้เวลาทำกิจกรรมอื่นๆ เช่น ชอบเล่นโซเชียลมากกว่าอ่านหนังสือ ไม่มีใครคอยบังคับ มองว่าการอ่านหนังสือเป็นสิ่งน่าเบื่อ เป็นต้น
ขณะเดียวกันได้สอบถามเกี่ยวกับแนวทางที่จะกระตุ้นหรือส่งเสริมให้คนไทยหันมาอ่านหนังสือเพิ่มขึ้นในแต่ละปี เด็ก เยาวชนและประชาชน เห็นว่าควรดำเนินการ ได้แก่ ภาครั��และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องผลักดันและสนับสนุนอย่างจริงจัง ผู้ปกครอง ครู อาจารย์ ช่วยปลูกฝัง ชี้แนะให้เห็นถึงความสำคัญสอนให้รักการอ่านตั้งแต่วัยเยาว์จัดกิจกรรมส่งเสริมการอ่านอย่างต่อเนื่อง จัดการประกวดชิงรางวัลเพื่อเกิดแรงจูงใจ ประชาสัมพันธ์ รณรงค์ เชิญชวนให้ทุกคนหันมาอ่านหนังสือ และใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ผ่านทางสื่อให้หลากหลายช่องทาง เช่น โทรทัศน์ วิทยุ เฟซบุ๊ก ไลน์ เป็นต้น และผลิตหนังสือดี ๆ มีความหลากหลายเพื่อจูงใจผู้อ่านรวมถึงมีห้องสมุด/มุมอ่านหนังสือที่ตกแต่งสวยงามบรรยากาศดี เหมาะแก่การอ่านหนังสือ
พร้อมกันนี้ได้สอบถามว่ามีข้อเสนอแนะถึงภาครัฐเกี่ยวกับวิธีการที่จะทำให้คนไทยและผู้ที่สนใจภาษาไทยใช้ภาษาไทยอย่างถูกต้องอย่างไร กลุ่มตัวอย่างระบุว่า ขอความร่วมมือสถานศึกษาทั่วประเทศ ส่งเสริม สนับสนุน ให้เด็กใช้ภาษาไทยอย่างถูกต้อง รณรงค์ประชาสัมพันธ์อย่างจริงจังและต่อเนื่องทั่วประเทศรณรงค์ โดยการใช้สื่อออนไลน์ ทำให้คนไทยเข้าถึงได้ง่าย มีแอปพลิเคชันพจนานุกรมให้ดาวน์โหลดนำมาใช้โดยมีการเขียนที่ถูกต้อง การทำเว็บไซต์ต่างๆ เกมที่เกี่ยวกับภาษาไทยจัดอบรมการใช้ภาษาไทย การเขียน อ่าน พูด ภาษาไทยให้ถูกต้อง และสื่อเผยแพร่สอนภาษาไทยให้กับประชาชน เช่น ทำตารางคำศัพท์ที่มักเขียนผิด รวมทั้งใช้บุคคลที่มีชื่อเสียงในสังคม เพื่อเป็นแบบอย่างที่ดีในเรื่องการใช้ภาษาไทยให้ถูกต้องและเหมาะสม เช่น นักการเมือง นักข่าว พิธีกร นักแสดง นักร้อง นักเขียน หรือบุคคลสาธารณะ
ทั้งนี้ วธ.จะนำผลสำรวจในครั้งนี้มาใช้เป็นข้อมูลประกอบการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์และแผนงานโดยบูรณาการความร่วมมือกับกระทรวงและหน่วยงานต่างๆ ในการส่งเสริมให้คนไทยอ่านหนังสือมากขึ้นและใช้ภาษาไทยอย่างถูกต้อง
ข่าวที่เกี่ยวข้อง: