ไม่พบผลการค้นหา
แกนนำคนอยากเลือกตั้ง ยื่นอุทธรณ์คำสั่งศาล อนุญาตให้ฝากขังกรณีร่วมชุมนุมกับกลุ่มคนอยากเลือกตั้ง ยกรัฐธรรมนูญ กฎหมายอาญา และปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนฯ ระบุไว้ชัดว่า ผู้ถูกกล่าวหาควรมีอิสรภาพ เพราะยังถือเป็นผู้บริสุทธิ์

น.ส. ณัฏฐา มหัทธนา หรือ โบว์ แกนนำกลุ่มคนอยากเลือกตั้ง เดินทางไปศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก พร้อมด้วยนายนรินทร์พงษ์ จินาภักดิ์ ทนายความ เพื่อยื่นอุทธรณ์คำสั่งศาลอาญา ที่อนุญาตให้ฝากขังร่วมกับกลุ่มคนอยากเลือกตั้งรวม 15 คน กรณีผิดพระราชบัญญัติการชุมนุมในที่สาธารณะ และฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้า คสช. 3/2558 จากการชุมนุมในโอกาสครบรอบ 4 ปีการรัฐประหาร เมื่อวันที่ 22 พ.ค. ที่ผ่านมา

น.ส. ณัฏฐา ระบุว่า ไม่เห็นด้วยกับคำสั่งอนุญาตฝากขัง เพราะในรัฐธรรมนูญ มาตรา 29 บัญญัติไว้ชัดเจนว่า ในคดีอาญาให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่า ผู้ถูกกล่าวหาไม่มีความผิด จะปฏิบัติเหมือนมีความผิดไม่ได้ ซึ่งสอดคล้องกับปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ข้อ 11 และมาตรา 87 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ที่ระบุไว้ในทำนองเดียวกันว่า ไม่ควรมีการอนุญาตให้ควบคุมตัว หรือจำกัดสิทธิและเสรีภาพของผู้ถูกกล่าวหา

ส่วนการที่พนักงานสอบสวนอ้างความจำเป็น ในการขอฝากขังระหว่างการสอบสวนว่าจะต้องสอบพยานอีก 10 ปาก รวมทั้งรอผลตรวจลายนิ้วมือนั้น ถือเป็นข้ออ้างที่เลื่อนลอย และพยานที่จะสอบสวนเพิ่มก็ไม่ได้ระบุชัดเจนว่า เป็นบุคคลใด ทำให้ผู้ถูกกล่าวหาไม่สามารถคัดค้านได้

นอกจากนี้ ยังมองว่า การสอบสวนพยานไม่ได้เกี่ยวข้องกับการควบคุมตัว เนื่องจากพยานส่วนใหญ่เป็นคลิปวิดีโอที่ปรากฏอยู่ทั่วไปอยู่แล้ว และก็เป็นพยานของฝ่ายพนักงานสอบสวน ที่ผู้ถูกกว่าหาไม่สามารถเข้าไปยุ่งเหยิงได้ การไม่ถูกควบคุมตัว จึงไม่ได้เป็นอุปสรรคต่อการสอบสวน

อีกทั้ง การรอผลตรวจลายนิ้วมือ เป็นเรื่องภายใน ระหว่างพนักงานสอบสวน และกองพิสูจน์หลักฐาน ซึ่งเป็นหน่วยงานในสำนักงานตำรวจแห่งชาติด้วยกัน ดังนั้น การไม่ถูกควบคุมตัว ไม่ได้มีผลต่อการตรวจลายนิ้วมือ และไม่สามารถเข้าไปยุ่งเหยิงการตรวจสอบลายนิ้วมือได้เช่นกัน

น.ส.ณัฏฐา ยังชวนให้สังคมคิดตาม เกี่ยวกับหลักการฝากขังและหลักสิทธิเสรีภาพ เพราะตามหลักแล้ว หากการได้รับอิสรภาพ เป็นอุปสรรคต่อการสอบสวน เช่น การหลบหนี การยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน และเป็นบุคคลอันตราย ก็ควรควบคุมตัว แต่ตัวเอง และกลุ่มคนอยากเลือกตั้ง ไม่มีพฤติกรรมดังกล่าว เพราะได้ขอเข้ามอบตัว ไม่เคยยุ่งกับพยานหลักฐาน ซึ่งมีปรากฏอยู่ตามสื่อมวลชนทั่วไป และทั้งหมดก็ไม่ได้เป็นอาชญากรร้ายแรง จึงมองว่า การดำเนินคดี ผิดตั้งแต่ชั้นพนักงานสอบสวน ที่ดูเหมือนเป็นการกลั่นแกล้ง และยังผิดพลาดในชั้นศาล ที่ผู้ถูกกล่าวหา ไม่มีโอกาสได้คัดค้านการฝากขัง

การยื่นอุทธรณ์ครั้งนี้ เพื่อให้สังคมได้รับรู้ ถึงความมิชอบที่เกิดขึ้น หากการอุทธรณ์ได้ผล คำสั่งฝากขังก็จะถูกยกเลิก และคืนเงินประกัน 1.5 ล้านบาท ส่วนอีก 14 คนที่ถูกดำเนินคดีในเหตุการณ์เดียวกัน หากเห็นสอดคล้อง ก็จะมายื่นอุทธรณ์แบบเดียวกันในภายหลัง

น.ส.ณัฏฐา ระบุว่า ตั้งแต่ออกมาเรียกร้องเรื่องการเลือกตั้ง ถูกดำเนินคดีเป็นคดีที่ 4 แล้ว การยื่นประกันตัวแต่ละครั้ง ต้องใช้เงินไม่ต่ำกว่า 1 แสนบาท เช่นเดียวกับคนอยากเลือกตั้งคนอื่นๆ ซึ่งถือเป็นเงินจำนวนมากที่ต้องหามาจ่ายเพื่ออิสระภาพ แม้จะมีการระดมทุนช่วยเหลือ แต่ก็มองว่ามเป็นเงินที่ไม่ควรเสียไปกับการละเมิดสิทธิ โดยใช้กระบวนการยุติธรรมเป็นเครื่องมือ

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง