10 ปี คือพรรษาทางการเมืองของรุ่นที่สองของตระกูลปริศนานันทกุล ที่สืบทอดดีเอ็นเอทางการเมืองจากผู้เป็นพ่อบังเกิดเกล้านา�� 'สมศักดิ์ ปริศนานันทกุล'
แต่ปัจจุบัน ตระกูลปริศนานันทกุล กลายเป็นอดีตของพรรคชาติไทยพัฒนาไปแล้ว
ด้วยเพราะ 'สมศักดิ์' ถูกตัดสิทธิทางการเมือง จากคำพิพากษาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองพิพากษาว่า นายสมศักดิ์ อดีต รมว.ศึกษาธิการ มีพฤติการณ์ร่ำรวยผิดปกติ จากกรณีไม่แสดงบ้านพักส่วนตัวใน จ.อ่างทอง ที่สร้างขึ้นในช่วงที่เป็น รมช.ศึกษาธิการ
'สมศักดิ์' น้อมรับคำพิพากษาของศาล โดยย้ำว่าเคารพในกติกา แม้คำพิพากษาดังกล่าวจะมีผลทำให้เขาต้องถูกตัดสิทธิทางการเมืองตลอดชีวิต ซึ่งเป็นข้อห้ามตามรัฐธรรมนูญ ปี 2560 ที่ห้ามไม่ให้ผู้ที่ถูกศาลตัดสินว่าร่ำรวยผิดปกติลงสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.
ด้วยเหตุดังกล่าว ทำให้เขาเป็นกังวลว่าอาจเป็นเหตุให้พรรคชาติไทยพัฒนาที่เขาผูกพันมานานกว่า 30 ปีต้องปิดฉากลงซ้ำรอย พรรคชาติไทย
เพราะ 'สมศักดิ์' ไม่ได้เป็นสมาชิกพรรคชาติไทยพัฒนา
6 พ.ย. 2561 'สมศักดิ์' โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัวอำลาพรรคชาติไทยพัฒนา "เราต้องเลือกรักษาบ้าน ยอมเสียสละ อวัยวะ เพื่อรักษาชีวิต 32 ปีกับบ้านที่แสนอบอุ่น ลาก่อน เพราะรัก...จึงต้องลา"
12 พ.ย. 2561 'ภราดร ปริศนานันทกุล' อดีต ส.ส.อ่างทอง 2 สมัย - 'กรวีร์ ปริศนานันทกุล' อดีต ส.ส.อ่างทอง 1 สมัย ประกาศร่วมสังกัดพรรคภูมิใจไทย
บรรทัดนับจากนี้คือ เบื้องลึกเบื้องหลังที่ 'วอยซ์ ออนไลน์' นัดสองพี่น้องเลือดอ่างทอง มาร่วมเปิดใจภายในที่ทำการพรรคภูมิใจไทย
มีเหตุผลอะไรต้องอำลาพรรคชาติไทยพัฒนาที่ตระกูลปริศนานันทกุลอยู่ร่วมพรรคนี้มากว่า 30 ปี
ภราดร ปริศนานันทกุล : ทำไมต้องย้ายพรรค ช่วงหลังมีคำถามมากพอสมควร ว่าทำไมครอบครัวปริศนานันทกุล จะอยู่กับพรรคต่อ หรือขยับขยายหลังจากที่คุณพ่อ (สมศักดิ์ ปริศนานันทกุล) ตัดสินใจจะเดินออกมาจากพรรค เพราะกังวลว่าพรรคชาติไทยพัฒนาจะถูกยุบพรรค เพราะท่านไม่ได้เป็นสมาชิกพรรคการเมืองและถูกตัดสิทธิทางการเมือง เป็นกังวลว่าท่านจะเป็นต้นเหตุให้พรรคชาติไทยพัฒนาถูกยุบพรรคหรือไม่ พวกผมเป็นลูก ก็เข้าใจ ความรู้สึกของท่านเคารพการตัดสินใจ และมีโอกาสนั่งคุยกัน เมื่อสถานการณ์การเมืองเป็นอย่างนี้ เรารู้ดีว่าพ่อ คือท่านสมศักดิ์ ด้วยความที่เป็นนักการเมืองมาอย่างยาวนาน เมื่อปี่กลองทางการเมืองดังขึ้น มี พ.ร.ฎ.เลือกตั้ง พวกผมทำงานที่พรรค คนเป็นพ่อจะรู้สึกเป็นห่วงจะต้องเข้าไปที่พรรค เมื่อคุณพ่อเข้าไปที่พรรคอาจเป็นประเด็นทางการเมืองในขณะนั้นแล้วนำไปสู่การยุบพรรค ดังนั้น เพื่อตัดปัญหาไม่ให้เป็นปัญหากับพรรคชาติไทยพัฒนา พวกเราจึงตัดสินใจออกมาจากพรรค
กรวีร์ ปริศนานันทกุล : เป็นเหตุผลเดียวกันได้พูดคุยกัน เรามีความผูกพันกับพรรคชาติไทยพัฒนา คุณพ่ออยู่ที่พรรคมา 30 ปี ภราดรอยู่มา 10 ปี ผมอยู่มาเกือบ 10 ปี เราไม่อยากให้เป็นต้นเหตุให้พรรคต้องถูกลงโทษจากครอบครัวปริศนานันทกุล ก็คิดว่าออกมาดีกว่า
ทำไมต้องเลือกพรรคภูมิใจไทย เพราะด้วยแบรนด์ของพรรคคล้ายกับพรรคชาติไทยพัฒนาหรือไม่
ภราดร ปริศนานันทกุล : ผมมองว่าพวกเราทำการเมืองไม่อยากจะเป็นคู่ขัดแย้งของใคร เราไม่อยากจะไปทะเลาะกับใคร เราไม่อยากจะเลือกข้างว่าอยู่ข้างซ้าย หรือข้างขวา ดังนั้น มองพรรคในประเทศไทยนอกจากพรรคชาติไทยพัฒนาแล้ว พรรคที่มีความเป็นกลางทางการเมืองก็คงมีแต่พรรคภูมิใจไทย และเมื่อได้มีโอกาสคุยกับนายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ทำให้ทราบทิศทางแนวทางของพรรคภูมิใจไทย ท่านตั้งใจให้โอกาสทุกคนได้มีโอกาสทำงาน ใครอยากจะทำงานให้เดินเข้ามาที่พรรคภูมิใจไทย จะหยิบยื่นโอกาสให้คนทำงานได้มีโอกาสทำงาน นโยบายพรรคเพิ่มอำนาจประชาชนลดอำนาจรัฐ การแก้ไขปัญหาปากท้อง
วันนี้หลายพรรคหรือพรรคการเมืองส่วนใหญ่พูดคุยแต่เรายืนข้างประชาธิปไตย เรายืนข้างเผด็จการ น้อยพรรคที่พูดว่าจะทำอะไรเพื่อประชาชนจะแก้ไขปัญหาปากท้องอย่างไร พอได้ฟังนโยบายบางส่วนของพรรคภูมิใจไทยก็รู้สึกชอบใจ นำมาให้มีผลทางปฏิบัติได้
(สมศักดิ์ ปริศนานันทกุล)
คุณพ่อให้คำปรึกษาทั้งสองท่านแค่ไหนที่มาอยู่พรรคภูมิใจไทย
กรวีร์ ปริศนานันทกุล : คุณพ่อไม่ได้บังคับเลย พวกผมเองสองคนได้พูดคุยปรึกษากัน หลังเราออกมาแล้วจะอยู่พรรคไหน เป็นการตัดสินใจของเราสองคน พอไปดูข้อกฎหมายก็ระบุชัดเจนด้วยพฤติกรรมที่เราทำงานการเมืองกับพรรคชาติไทยพัฒนา ก็ต้องยอมรับว่ามันสุ่มเสี่ยง เราไม่อยากให้พรรคมีอันเป็นไป หรือถูกลงโทษทางใดทางหนึ่ง
ภราดร ปริศนานันทกุล : คุณพ่ออยู่พรรคชาติไทยมามากกว่า 32 ปี เท่าอายุพวกเรา ส่วนผม 10 ปี ดังนั้นความผูกพันพรรคชาติไทยพัฒนาไม่ต้องพูดถึงอีกแล้ว ด้วยเหตุผลเพราะเรารักพรรคไม่อยากทำให้พรรคเสียหาย พวกเราจำเป็นต้องเดินออกมา
แต่เดิมอยู่พรรคชาติไทยพัฒนา คุณพ่อเคยบอกว่าต้องการสร้างดาวดวงใหม่ มาอยู่พรรคภูมิใจไทยจะทำได้เท่าของเดิมหรือไม่
ภราดร ปริศนานันทกุล : ผมว่าอย่าไปมองเป็นยังบลัดหรือคนรุ่นใหม่ ผมมาที่นี่ผมได้คุยกับหัวหน้าอนุทิน ท่านเป็นคนที่ให้โอกาสคน ผมเชื่อว่าใครอยากทำงานพรรคนี้พร้อมให้โอกาสทุกคน พวกผมวัยหนุ่มพร้อมผลักดันนโยบายต่างๆ
คนใน จ.อ่างทองเข้าใจแค่ไหนที่ออกจากพรรคชาติไทยพัฒนา
กรวีร์ ปริศนานันทกุล : ผมได้ทำความเข้าใจกับพี่น้องจังหวัดอ่างทองบางส่วน ถึงที่มาที่ไปความจำเป็น ทำไมเลือกภูมิใจไทยก็ได้รับการตอบรับอย่างดี พร้อมให้การสนับสนุน
มีข่าวลือมากว่าตระกูลปริศนานันทกุล ออกจากพรรคชาติไทยพัฒนาเพราะไม่พอใจการปรับโครงสร้างพรรคใหม่ที่ไม่เน้นคนรุ่นใหม่
ภราดร ปริศนานันทกุล : เอาจริงๆ ถามกันจริงๆ การปรับโครงสร้างพรรคที่พรรคชาติไทยพัฒนาจะพยายามวางตำแหน่งในสังคมว่าพรรคชาติไทยพัฒนาเป็นพรรคที่ให้โอกาสคนรุ่นใหม่เข้ามาทำหน้าที่กรรมการบริหารพรรค แต่วันหนึ่งในเมื่อผู้ใหญ่และกรรมการบริหารพรรคเห็นว่าสถานการณ์ทางการเมืองเป็นแบบนี้ ท่านปรับยุทธศาสตร์ ผมเอาความรู้สึกส่วนตัวก็รู้สึกอึดอัดเหมือนกัน แต่ทั้งนี้ เป็นความรู้สึกส่วนตัว ครั้งหนึ่งผมมีโอกาสทำงานเต็มที่ แต่ครั้งนี้ต้องทำงานอีกลักษณะหนึ่ง
ทั้งหมดไม่ได้เป็นเหตุผลที่เราจะย้ายพรรค เหตุผลย้ายพรรคมีเหตุผลเดียว คือ เหตุผลของพ่อ ถ้าจะเป็นเหตุผลปรับโครงสร้างพรรค ทำไมพวกเราไม่ย้ายมาพร้อมกับคุณสิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ อดีต ส.ส.ศรีสะเกษ ตั้งแต่แรกทำไมยังอยู่พรรคชาติไทยพัฒนา ผมว่าไม่ใช่เหตุผล
(กรวีร์ ปริศนานันทกุล)
"ผมเชื่อมั่นว่าการเมืองในประเทศไทย ไม่จำเป็นต้องเลือกว่าเอาเผด็จการหรือไม่เอาเผด็จการ" กรวีร์
การย้ายพรรคครั้งนี้ยืนยันว่าคุณพ่อจะไม่ยุ่งเกี่ยวกับการเมืองของลูก
ภราดร ปริศนานันทกุล : บทบาทสถานะของพ่อกับพรรคชาติไทยพัฒนาและพรรคภูมิใจไทยต่างกันมาก อยู่กับพรรคชาติไทยพัฒนา คุณพ่อเป็นสัญลักษณ์ของพรรคชาติไทย การขยับในนามของพรรคชาติไทยมีโอกาสสุ่มเสี่ยงถูกเป็นเป้าหมายทางการเมืองนำไปสู่การยุบพรรค ขณะที่พรรคภูมิใจไทย คุณพ่อยังไม่ได้เข้ามา สถานะของพ่อ ถ้าเอากัน ถ้ามากันก็ต่อแถว พวกเราก็ต่อแถว ถ้าเปรียบเป็นพระก็เหมือนเณร เปรียบสถานะของพ่อจึงไม่สุ่มเสี่ยงเหมือนพรรคชาติไทยพัฒนา ท่านตัดสินใจวางมือแล้ว
เล่นการเมืองมานาน 10 ปี คิดว่าคนใจ จ.อ่างทอง เลือก ส.ส.จากตัวบุคคลหรือพรรคการเมือง
ภราดร ปริศนานันทกุล : ผมว่ามันก็ประกอบกัน ในส่วนของพรรคมีนโยบายที่จะนำเสนอต่อประชาชน ดังนั้น สิ่งที่ประชาชนจับต้องได้คือนโยบายของพรรค และประชาชนจับต้องได้คือผู้แทน ตัวผู้แทนใครมีความใกล้ชิด ผูกพันกับชาวบ้านทำงานคลุกคลีปัญหาของชาวบ้านสะท้อนต่อพรรคการเมืองเป็นนโยบาย ดังนั้นตัวผู้แทนก็จะได้เปรียบ จะไปบอกว่าคนหรือพรรคมีบทบาทมากกว่าไปพูดแบบนั้นไม่ได้ ทั้งสองส่วนมีส่วนสนับสนุนให้คนตัดสินใจเลือก
จ.อ่างทองเหลือ ส.ส.เพียง 1 ที่นั่ง ทั้งสองวางตำแหน่งที่จะลงเลือกตั้งอย่างไร
กรวีร์ ปริศนานันทกุล : เราก็ทำงานการเมืองเหมือนเดิม ในช่วง 4 - 5 ปีที่ผ่านมาไม่ได้มีตำแหน่งทางการเมือง เรายังไปทำกิจกรรมไปมาหาสู่ชาวบ้าน จ.อ่างทองตลอดเวลา เขตเลือกตั้ง 2 เขตเหลือเขตเดียวไม่มีปัญหา เราคนใดคนหนึ่งลงเขต อีกคนก็ลงบัญชีรายชื่อ ผมคิดว่าเรื่องนี้ชาวบ้าน จ.อ่างทองเข้าใจได้
มีโอกาสจะได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อหรือไม่เพราะทั้งสองท่านก็มาพรรคภูมิใจไทยทีหลังคนอื่น
ภราดร ปริศนานันทกุล : พวกเรามาใหม่ ทั้งหมดแล้วแต่กรรมการบริหารพรรค คนที่มาก่อนอาจเป็นผู้สมัครในระบบเขตหรือบัญชีรายชื่อ แต่อำนาจตัดสินใจอยู่ที่กรรมการบริหารพรรค ให้พวกเราอยู่ตรงไหนเราไม่เกี่ยง
ตกลงได้ความชัดเจนหรือยังว่าพี่หรือน้องจะลง ส.ส.เขต
กรวีร์ ปริศนานันทกุล : ผมคิดว่าพี่แบด อยู่ในเวทีการเมืองมานานมีประสบการณ์ในพื้นที่ คิดว่าเป็นพี่แบดอยู่ในระบบเขต ส่วนผมลงบัญชีรายชื่อ พวกเราเข้ามาในพรรคภูมิใจไทยเป็นคนใหม่ ไม่เคยเข้ามาต่อรองว่าต้องอยู่อันดับต้นๆ สุดแท้แต่ผู้บริหารพรรคจะพิจารณา
ระบบเลือกตั้งปัจจุบันออกแบบให้พรรคขนาดกลางได้ ส.ส.มากขึ้น และเป็นตัวแปรในการจัดตั้งรัฐบาล ทำให้ทั้งสองท่านมองเป็นจุดหนึ่งในที่ร่วมพรรคขนาดกลาง
กรวีร์ ปริศนานันทกุล : พวกเราคิดอย่างนี้ ตอนนี้เราไม่อยากทำให้การเมืองมีเงื่อนไข ผมเชื่อมั่นว่าการเมืองในประเทศไทย ไม่จำเป็นต้องเลือกว่าเอาเผด็จการหรือไม่เอาเผด็จการ ผมเชื่อว่าสร้างทางเลือกให้ประชาชนให้เห็นทางเลือก ที่ไม่ต้องมาเถียงว่าอยู่ฝั่งเผด็จการหรือประชาธิปไตย จุดยืนของพรรคภูมิใจไทยพูดถึงการแก้ปัญหาปากท้อง ด้วยขนาดของพรรคไม่ได้เป็นคู่ขัดแย้งโดยตรงของสองฝั่ง เชื่อว่าจะผลักดันนโยบายเกิดขึ้นได้จริง
มาร่วมสังกัดพรรคภูมิใจไทย อาจถูกมองว่าทรยศต่อพรรคชาติไทยพัฒนา
กรวีร์ ปริศนานันทกุล : ถ้าเราอยู่แล้วทำให้พรรคเสียหาย ถูกยุบเราทรยศต่อพรรค ด้วยความเคารพที่อยากจะรักษาพรรคชาติไทยพัฒนาเอาไว้ ความสัมพันธ์ระหว่างผู้บริหารพรรคชาติไทยพัฒนา ผมกับพี่แบดมีความสัมพันธ์ที่ดีกันมาตลอด แม้เราจะออกจากพรรคก็ยังนับถือเหมือนเดิม
ภราดร ปริศนานันทกุล : เราย้ำอยู่เสมอ ผมพูดอยู่เสมอ ต้นแบบทางการเมืองของผม คือนายบรรหาร ศิลปอาชา อดีตนายกรัฐมนตรี ท่านทำงานเพื่อประชาชนเพื่อประเทศชาติอย่างแท้จริง อันนั้นคือต้นแบบทางการเมืองของผม ช่วงเวลาที่ครอบครัวผมอยู่กับพรรคชาติไทยพัฒนา ครอบครัวศิลปอาชา ให้ความเกื้อกูลครอบครัวผมมาตลอด จะเห็นได้ว่าวันที่พวกผมจะออกจากพรรค ท่านหัวหน้ากัญจนา ศิลปอาชา ยังอยากให้พวกผมอยู่ต่อ และความสัมพันธ์ระหว่างศิลปอาชากับปริศนานันทกุลไม่ใช่ลูกพรรคกับหัวหน้าพรรค แต่เป็นคนในครอบครัวเดียวกัน
(ภราดร ปริศนานันทกุล)
"เหตุผลย้ายพรรคมีเหตุผลเดียว คือ เหตุผลของพ่อ ถ้าจะเป็นเหตุผลปรับโครงสร้างพรรค ทำไมพวกเราไม่ย้ายมาพร้อมกับคุณสิริพงศ์ (อังคสกุลเกียรติ อดีต ส.ส.ศรีสะเกษ) ตั้งแต่แรก" ภราดร
ตระกูลปริศนานันทกุล เลือกแล้วว่าจะยึดอาชีพนักการเมืองแม้คุณพ่อจะวางมือ
ภราดร ปริศนานันทกุล : เมื่อตัดสินใจอย่างนี้ พวกเราได้ตัดสินใจแล้วก่อนเข้าสู่เส้นทางการเมือง เมื่อเข้ามาแล้วก็ทำหน้าที่ให้ดีที่สุด ไม่ใช่ทำครึ่งๆกลางๆ ถึงเวลาแล้วบอกลาประชาชน อย่างนี้คือการทรยศประชาชน เมื่อให้คำมั่นสัญญาเราต้องดำเนินการต่อ
ยังมั่นใจว่าการเลือกตั้งยังเป็น 24 ก.พ. 2562
กรวีร์ ปริศนานันทกุล : เราเคารพในกติกา ขออย่างเดียวให้กติกาที่ออกมาเป็นธรรมทุกฝ่ายทุกพรรค จะเลือกตั้งเมื่อไรขอให้ชัดเจน ถ้าประกาศออกมา เท่าที่ฟังข่าวยังไม่สรุปว่า 24 ก.พ. 2562 ผมเชื่อทุกพรรคต้องเดินหน้าสู่การเลือกตั้งเคารพกติกาที่เหมือนกัน
ภาพ - สุรศักดิ์ บงกชขจร / ฐานันด์ อิ่มแก้ว / เสกสรร โรจนเมธากุล
ข่าวที่เกี่ยวข้อง