ไม่พบผลการค้นหา
สภาที่ 3 วิพากษ์รัฐบาลประยุทธ์ 2 แย่กว่ายุค คสช. มีอำนาจเบ็ดเสร็จยังแก้เศรษฐกิจไม่ได้ ซ้ำยังเอา 'ประยุทธ์' ที่ไม่มีความรู้ มาคุมเศรษฐกิจ แนะ อิงจีนให้มากขึ้นในสงครามการค้า

คณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา 35 ร่วมกับสภาที่ 3 จัดเสวนา วิพากษ์และเสนอแนะนโยบายรัฐบาลประยุทธ์ ว่าด้วยการแก้ปัญหาเศรษฐกิจปากท้องและการป้องกันผลกระทบจากสงครามการค้าโลก

นายพิชัย นริพทะพันธุ์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน มองว่า ในเรื่องเศรษฐกิจ "รัฐบาลประยุทธ์ 2" แย่กว่า "รัฐบาลประยุทธ์ 1" เพราะขนาดรัฐบาล คสช.มีอำนาจควบคุมสั่งการได้หมด ยังแก้ปัญหาหรือพัฒนาเศรษฐกิจไม่ได้ และยิ่งแย่หนักที่ให้พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ซึ่งมีความรู้น้อยกว่านายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีอย่างชัดเจน มาคุมงานด้านเศรษฐกิจ ซึ่ง อาจมองได้ 2 สาเหตุ คือ นายสมคิด รู้ว่าเศรษฐกิจจะแย่ จึงปัดให้พล.อ.ประยุทธ์ มาดูแลเอง เมื่อแก้ไขปัญหาไม่ได้ก็จะโยนกลับมาให้นายสมคิด ซึ่งนายสมคิดก็จะได้ทั้งขึ้นทั้งล่องในเรื่องนี้ กับ สาเหตุที่ 2 คือ การเป็นรัฐบาลร่วมหลายพรรคควบคุมยาก จึงต้องใช้พลเอกประยุทธ์ มาควบคุมสั่งการพรรคร่วม 

นายพิชัย กล่าวด้วยว่า ปัญหาคือ พล.อ.ประยุทธ์เอง ก็ไม่รู้ว่าจะสั่งการพรรคร่วมในเรื่องเศรษฐกิจอย่างไร จึงเป็นไปไม่ได้ที่เศรษฐกิจไทยจะกระเตื้องขึ้น พร้อมเสนอว่า สิ่งแรกที่ควรทำ คือ เปลี่ยนตัวผู้นำ ซึ่งยุคปัจจุบันผู้นำประเทศจะต้องมีรู้เรื่องเศรษฐกิจ และทบทวนความสามารถของรัฐมนตรีที่นั่งในกระทรวงต่างๆ ว่าเชี่ยวชาญงานที่รับผิดชอบหรือไม่ ท่ามกลางสงครามการค้าของประเทศมหาอำนาจ รัฐบาลควรดูประเทศเวียดนามเป็นตัวอย่าง ที่สามารถสร้างความเติบโตทางเศรษฐกิจได้ โดยภาพรวมควรใกล้ชิดกับจีนให้มากขึ้นกว่านี้ขณะเดียวกันก็ไม่ทำให้สหรัฐอเมริกาหวาดระแวง

ธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล
  • นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล

นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ระบุว่า รัฐบาล "ประยุทธ์ 1" กับ "ประยุทธ์ 2" ส่งผลต่อเศรษฐกิจและมีความเปลี่ยนแปลงน้อยและผู้มีอำนาจบอกว่าเปลี่ยนจากเรือแป๊ะเป็นเรือเหล็กที่จะเอาคนทั้งประเทศไปให้ถึงฝั่ง แต่กัปตันและคนถือหางเสือยังเป็นคนเดิม ตัวละครใหม่ ซึ่งหมายถึงพรรคร่วมรัฐบาลก็ถูกกันอยู่ในวงนอก แล้วตลอด 5 ปีที่ผ่านมาในยุค คสช.ไม่มีการปฏิรูปอะไร ซึ่งความจริงต้องปฏิรูปด้านเศรษฐกิจขนาดใหญ่ ไม่ใช่เอื้อประโยชน์เจ้าสัวใหญ่เท่านั้น รวมถึงโครงสร้างการเกษตรต้องปรับเปลี่ยนด้วย ซึ่งจะใช้แค่การประกันรายได้นั้นไม่เพียงพอ

นายธีระชัย มองว่าปัญหาหนึ่งเกิดจากรัฐบาล คสช.ที่ต้องการสืบทอดอำนาจและทำสำเร็จ ลงพื้นที่แบบตาเหล่ คือเล็งผลการเลือกตั้ง เน้นการสร้างฐานเสียง และความนิยมชั่วคราว ทั้งมีลักษณะประชานิยมมากที่สุด โดยเฉพาะบัตรคนจน ดังนั้นจึงมองไม่เห็นว่า แม้มีอำนาจเบ็ดเสร็จตลอด 5 ปียังไม่มีการปฏิรูปในอนาคตยุค "ประยุทธ์ 2" จะปฏิรูปและเศรษฐกิจจะดีขึ้นได้อย่างไร

นายธีระชัย ยังเสนอทางออกท่ามกลางสงครามการค้าที่สหรัฐอเมริกาจะไม่ยอมให้จีน ตีเข้ามาเสมอตัวเองและแซงไปในที่สุด ทั้งในเชิงเศรษฐกิจ ทางการเมืองหรือการทหาร ว่าเป็นทั้งโอกาสและความเสี่ยงของประเทศในเอเชีย ซึ่งไทยต้องใกล้ชิดกับจีน แต่อย่าตีห่างจากสหรัฐอเมริกามากเกินไป ในทางปฏิบัติต้องวางแผนกับจีนหรือจับมือร่วมกันให้มากกว่านี้ และปิดเป้าโจมตีทั้งเรื่องค่าเงินและเรื่องสิทธิมนุษยชนในประเทศ ที่จะทำให้สหรัฐอเมริกาและยุโรปไม่คบค้าหรือโจมตีไทยได้

ปรีดา เตียสุวรรณ์-พิชัย นริพทะพันธุ์
  • นายปรีดา เตียสุวรรณ์ - นายพิชัย นริพทะพันธุ์

นายปรีดา เตียสุวรรณ์ ประธาน กรรมการบริษัท แพรนด้า จิวเวลรี่ จำกัด นักธุรกิจส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับชั้นนำ ยืนยันว่า ตัวเลขส่งออกไทยระยะหลังตกต่ำแน่นอน แม้ว่าไม่ติดลบก็ตาม และสิ่งที่น่ากังวลคือ ไทยจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ โดย 40 ปีจากนี้จะเหลือประชากรเพียง 60 ล้านคน ขณะที่ประเทศอาเซียนอื่นๆ เพิ่มขึ้น และเมื่อประชากรน้อยส่งผลต่ออำนาจการต่อรอง ถ้าไม่สามารถยกระดับอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP) ของประเทศให้สูงขึ้น และกระทบกับแรงงานอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

เมื่อแรงงานลดย่อมทำให้ผลิตภาพลดลงด้วย ซึ่งต้องสร้างผลิตภาพที่มีคุณภาพ ขณะที่โครงการขนาดใหญ่ใช้ทุนและเครื่องจักรเป็นหลักและที่แย่คือไทยไม่สามารถสร้างเครื่องจักรได้เอง ถ้าผลิตภัณฑ์เกิดจากเครื่องจักร ผู้ที่ได้ประโยชน์คือต่างชาติที่ไทยนำเครื่องจักรเข้ามา และผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพคือต้องมาจากแรงงานหรือทรัพยากรในประเทศ เพื่อนำรายได้มาช่วยมิติอื่นๆ โดยเฉพาะด้านสังคมผู้สูงอายุ ด้านการศึกษาและการสาธารณสุข

พร้อมกันนี้ยังระบุถึงความเหลื่อมล้ำในระบบเศรษฐกิจ ที่เห็นได้ชัดคือกิจการรายย่อยหรือวิสาหกิจไทยเป็นมีรายย่อยร้อยละ 98.8 ขณะที่ 300 บริษัทใหญ่ในไทย คุม GDP ถึงร้อยละ 51 หากคำนวณบริษัทเหล่านี้จ้างงานได้ 3 ล้านจากแรงงานทั้งหมดประมาณ 40 กว่าล้านคน หรือราวร้อยละ 8 ของแรงงาน แต่แรงงานที่เหลือร้อยละ 92 หรือเกือบ 40 ล้าน ทำผลผลิตอยู่ที่ร้อยละ 48-49 ซึ่งเป็นสิ่งยืนยันอย่างชัดเจนว่า ใช้ทรัพยากรไม่คุ้มค่าแน่นอน พร้อมเสนอทางออกว่า ไทยต้องเอาแรงงานร้อยละ 92 ออกมาสร้างประโยชน์ให้เต็มที่ และต้องเร่งทำเพราะวันนี้ไม่มีเวลาหรือถือว่าดำเนินการช้าไปแล้ว

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :