งานวิจัยชิ้นล่าสุดภายใต้ชื่อ 'จ้างงานไทยมืดมิดจากพิษ COVID-19' จากจากฝ่ายวิจัยเศรษฐกิจและกลุยุทธ์ กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร (KKP Research) สะท้อนให้เห็นว่าวิกฤตโรคระบาดในครั้งนี้อาจสร้างความเสี่ยงในการถูกเลิกจ้างหรือถูกพักงานโดยไม่มีรายได้ของประชาชนสูงสุดถึง 4.4 ล้านคน ส่งให้มีผู้ว่างงานมีทั้งสิ้น 4.9 ล้านคน หรือคิดเป็นร้อยละ 13.2 ของแรงงานไทยทั้งหมด
ในจำนวนดังกล่าวกลุ่มแรงงานนอกระบบที่ไม่ได้ประกันตนตามระบบประกันสังคมมาตรา 33 และแรงงานที่อยู่ในกลุ่มธุรกิจเอสเอ็มอีมีความเสี่ยงมากที่สุด เพราะอุตสาหกรรมหลักที่กลุ่มคนเหล่านี้ทำงานต้องแบกรับความฝืดเคืองของสถานะการเงินจากมาตรการปิดประเทศที่ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจหยุดชะงักและธุรกิจขาดสภาพคล่องจนเป็นสาเหตุให้ต้องปิดกิจการและเลิกจ้างแรงงาน แรงงานเหล่านี้ก็ยังไม่มีสวัสดิการรองรับเมื่อต้องขาดรายได้
เมื่อลงไปมองรายธุรกิจ รายงานพบว่า เมื่อคิดเป็นสัดส่วนการจ้างงานที่ลดลง วงการโรงแรมและร้านอาหารมีสัดส่วนมากที่สุดถึงร้อยละ 34 หรือคิดเป็นตัวเลขคนงานราว 9.9 แสนคน
อย่างไรก็ตาม เมื่อนับตามตัวเลขแรงงานที่จะถูกเลิกจ้าง อุตสาหกรรมค้าส่งและค้าปลีกมีแนวโน้มปลดพนักงานมากถึง 1.5 ล้านคน หรือคิดเป็นร้อยละ 25 ของจำนวนการจ้างงานเดิม
นอกจากนี้ ในฝั่งธุรกิจบันเทิง ก่อสร้าง และธุรกิจขนส่งจะได้รับผลกระทบราวร้อยละ 24-28 ขณะที่ในภาคการผลิตที่ได้รับผลกระทบทั้งจากคำสั่งซื้อจากในและต่างประเทศที่ลดลง การติดขัดในห่วงโซ่การผลิต และสต๊อกสินค้าคงคลังเดิมที่อยู่ในระดับสูง คาดว่าการจ้างงานจะลดลง 5.8 แสนคนหรือคิดเป็นร้อยละ 10 จากระดับการจ้างงานก่อนมีสถานการณ์การแพร่ระบาด
รายงานยังย้ำด้วยว่าความเสี่ยงต่อการเลิกจ้างสามารถเพิ่มสูงขึ้นได้หากสถานการณ์ยืดเยื้อกว่าที่ประเมินไว้
ซ้ำร้าย แรงงานที่ถูกเลิกจ้างเหล่านี้ยังไม่สามารถผันตัวกลับไปทำเกษตรกรรมเหมือนในวิกฤตครั้งก่อนๆ ได้ด้วย เนื่องจากสถานการณ์ในภาคเกษตรเองก็เปราะบางอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นจากภัยแล้งที่ส่งผลต่อเนื่องให้ปริมาณผลผลิตพืชเศรษฐกิจหลักลดลง โดยเฉพาะข้าวซึ่งแม้ราคาตลาดโลกจะเพิ่มสูงขึ้นมาก แต่ครัวเรือนเกษตรกรส่วนใหญ่ไม่สามารถเข้าถึงแหล่งชลประทานได้จึงไม่สามารถเก็บเกี่ยวผลิตผลได้เพียงพอต่อการสร้างรายได้ ประกอบกับตัวเลขการว่างงานในครั้งนี้สูงมากเกินกว่าที่อุตสาหกรรมเกษตรจะดูดซับได้เพียงพอ
รายงานยังชี้ว่าสถานการณ์สำหรับนักศึกษาที่กำลังจะจบในช่วงกลางปีนี้จะไม่สดใสนัก เนื่องจากเด็กจบใหม่ในปีนี้จะมีออกสู่ตลาดแรงงานราว 340,000 คน อย่างไรก็ตามด้วยภาวะเศรษฐกิจที่ถูกซ้ำเติมจากการแพร่ระบาด ทำให้อาจมีเพียง 1 ใน 3 ของบัณฑิตจบใหม่ที่สามารถหางานเหมาะสมกับระดับทักษะได้ โดยส่วนมากจะกระจุกตัวอยู่ในกลุ่มที่ศึกษามาในสายวิชาชีพหรือเทคโนโลยี ที่ยังเป็นที่ต้องการในหลายภาคธุรกิจ
อย่างไรก็ตาม บัณฑิตจบใหม่ที่เหลืออาจจำเป็นต้องเลือกทำงานต่ำกว่าระดับทักษะตนเอง หรือตัดสินใจไม่เข้าสู่ตลาดแรงงานแทน นอกจากนี้บัณฑิตเหล่านี้ยังขาดช่องทางในการเสริมทักษะจากความไม่พร้อมของสถานศึกษาในการจัดการเรียนการสอน ซึ่งเท่ากับว่าเป็นค่าเสียโอกาสสำคัญต่อเศรษฐกิจไทย โดยเฉพาะหากเศรษฐกิจต้องอยู่ในภาวะชะงักงันเป็นเวลานาน
ผู้วิจัยชี้ว่า นอกจากมาตรการเยียวยาระยะสั้นที่รัฐบาลออกมาปรับใช้แล้ว จำเป็นต้องมีมาตรการเชิงรุกเพื่อรักษาการจ้างงานให้อยู่ระดับที่พร้อมต่อการขับเคลื่อนธุรกิจเมื่อสถานการณ์คลี่คลาย ซึ่งอาจทำได้ 4 วิธี
1. การกำหนดเงื่อนไขในการรักษาระดับการจ้างงานขั้นต่ำในการขอรับความช่วยเหลือ โดยอาจมีข้อยกเว้นได้ในบางกรณี
2. การอุดหนุนการจ่ายค่าจ้างให้แก่พนักงานหรือลูกจ้างเป็นสัดส่วนตามผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 ซึ่งรวมถึงผลกระทบจากคำสั่งปิดเมืองของภาครัฐ
3. การออกแบบโครงสร้างความช่วยเหลือให้ผู้ที่อยู่ในการจ้างงานและธุรกิจที่คงตำแหน่งงาน ได้รับประโยชน์จากมาตรการไม่น้อยไปกว่าการพักงานหรือการเลิกจ้าง
4. สนับสนุนให้แรงงานนอกระบบเข้าระบบประกันตนเองในภาคสมัครใจเพิ่มมากขึ้น โดยให้ความช่วยเหลือเพิ่มเติมเพื่อเป็นแรงจูงใจมากกว่าการสงเคราะห์อุดหนุนจากภาครัฐในแบบเดิม
นอกจากนี้ ภาครัฐควรมีมาตรการที่เป็นรูปธรรมในการรองรับแรงงานที่ถูกเลิกจ้างเพื่อให้แรงงานยังสามารถรักษาทักษะ มีรายได้ และเพิ่มทักษะใหม่เพื่อรองรับงานประเภทใหม่ได้ ที่ก่อให้เกิดประโยชน์จริงต่อเศรษฐกิจ อาทิ การลงทุนพัฒนาแหล่งกักเก็บน้ำเพื่อบรรเทาปัญหาภัยแล้ง หรือการลงทุนในด้านสุขอนามัยและเวชภัณฑ์ที่มีการจ้างงานด้านสาธารณสุขรวมไปถึงการเสริมทักษะแรงงานที่ถูกเลิกจ้าง เพื่อให้แรงงานสามารถพัฒนาศักยภาพของตน เรียนรู้ทักษะใหม่ เพื่อประโยชน์ในการหางานในอนาคตเมื่อสถานการณ์บรรเทาลง