ไม่พบผลการค้นหา
ไม่ว่าจะมีอาการปวดกล้ามเนื้อ ปวดกระดูก ปวดท้อง ปวดข้อ และปวดหลัง ยาแก้ปวดคือคำตอบของใครหลายคนที่จะใช้บรรเทาอาการ โดยเฉพาะ "พาราเซตามอล" แต่รู้หรือไม่ว่า หากรับประทานพร่ำเพรื่อ หรือรับประทานเกินขนาด นอกจากไม่ช่วยบรรเทาอาการแล้ว ยังส่งผลร้ายต่อร่างกาย จนถึงขั้นอาจเสียชีวิตได้

แม้จะเป็นยาที่สามารถหาซื้อมารับประทานได้เอง โดยไม่ต้องมีใบสั่งยาของแพทย์ แต่หากรับประทานเกินขนาดอาจส่งผลอันตรายต่อตับได้ จากการศึกษาในภูมิภาคต่างๆ ของโลก พิษจากยาพาราเซตามอลเป็นหนึ่งในสาเหตุที่พบบ่อยที่สุดของการเกิดภาวะตับวายซึ่งอาจเป็นอันตรายถึงชีวิต  

อีกทั้งเป็นความเข้าใจผิดๆ ที่ส่วนใหญ่มักเข้าใจว่าเป็นยาแก้ปวดสามารถรักษาได้ทุกอาการปวด แต่ในความเป็นจริงแล้ว ยาแก้ปวดแต่ละชนิดมีประสิทธิภาพในการรักษา และความปลอดภัยในการใช้ยาแตกต่างกัน


despair-513528_1920.jpg

ยาแก้ปวดออกเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มยาแก้ปวดที่ใช้ระงับปวดที่รุนแรงถึงรุนแรงมากที่สุด แต่ไม่มีฤทธิ์ลดไข้ เช่น มอร์ฟีน (morphine) ทรามาดอล (tramadol) ยากลุ่มนี้จะออกฤทธิ์ต่อระบบประสาทส่วนกลาง ใช้ระงับความเจ็บปวดที่รุนแรงจากอวัยวะภายใน มักใช้กับคนไข้ในโรงพยาบาลหรือคลินิกเป็นส่วนใหญ่ 

ทั้งนี้ ยากลุ่มดังกล่าวอาจก่อให้เกิดอาการข้างเคียงสูง โดยเฉพาะ ทรามาดอล ซึ่งจะทำให้มีอาการคลื่นไส้ มึนงง อาเจียน กดระบบหายใจ อีกทั้งยังอาจมีอาการทางจิตประสาท เช่น อารมณ์แปรปรวน เฉื่อยชา ไม่กระตือรือร้น และหากได้รับยาเกินขนาดจะทำให้เกิดภาวะอื่น ๆ ตามมา เช่น อาเจียน ระบบหัวใจและหลอดเลือดล้มเหลว ชักและระบบหายใจทำงานช้าลงจนถึงขั้นหยุดหายใจได้

ยาแก้ปวดอีกกลุ่มคือ กลุ่มยาแก้ปวดที่ใช้สำหรับอาการปวดไม่รุนแรง เช่น พาราเซตามอล แอสไพริน ยาต้านการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (non-steroidal anti-inflammatory drugs : nsaids) ซึ่งมีฤทธิ์แก้ปวด ลดไข้ และต้านการอักเสบ แต่ไม่ควรใช้ติดต่อกันนานๆ 


headache-1540220_1920 (1).jpg

สำหรับ ยาพาราเซตามอลที่มีการใช้อย่างแพร่หลายนั้น ควรใช้ในปริมาณที่เหมาะสม ผู้ใหญ่ไม่ควรรับประทานเกิน 4,000 มิลลิกรัมต่อวัน การใช้ยาแต่ละครั้งควรห่างกันทุก ๆ 4-6 ชั่วโมง และปริมาณที่ควรใช้ต่อครั้งไม่ควรเกิน 500-1,000 มิลลิกรัม

ที่สำคัญไม่ควรใช้ร่วมกับยาแก้ไอ ยารักษาอาการไข้หวัด ยาแก้แพ้ หรือยาแก้ปวดชนิดอื่น ๆ เพราะในยาเหล่านั้นมักมีส่วนผสมของพาราเซตามอล ซึ่งหากใช้ควบคู่กันอาจทำให้ได้รับยาเกินขนาดได้ ซึ่งอาจจะนำไปสู่การเกิดพิษต่อตับ จนนำไปสู่ภาวะตับวาย และเสียชีวิตในที่สุด

นอกจากนี้ ผู้ที่มีปัญหาโรคตับ เช่น ตับแข็ง ตับอักเสบ ควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้ยาทุกครั้ง ขณะที่ผู้ที่มีประวัติเป็นโรคพิษสุราเรื้อรัง ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาพาราเซตามอลในทุกกรณี

จะเห็นได้ว่า แม้ยาพาราเซตามอลจะเป็นยาสามัญประจำบ้าน ก็ไม่ควรใช้ยาพร่ำเพรื่อ ควรใช้เท่าที่จำเป็นเท่านั้น เพื่อความปลอดภัยโดยเฉพาะเด็ก ผู้สูงอายุ และผู้มีโรคเรื้อรังประจำตัว


ที่มา : คณะกรรมการอาหารและยา , pobpad.com , pharmacy.mahidol.ac.th ,