ไม่พบผลการค้นหา
รมว.แรงงาน สั่ง กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานและกรมการจัดหางานตรวจสอบสนามกอล์ฟทั่วประเทศและชี้แจงนายจ้างลูกจ้างให้ปฏิบัติตามกฎหมาย เน้นย้ำ ต่างด้าว 3 สัญชาติทำงานได้เฉพาะกรรมกรและรับใช้ในบ้านเท่านั้น ฝ่าฝืนมีโทษ

จากกรณีที่มีการร้องเรียนว่า สนามกอล์ฟบางแห่งแคดดี้ไทยถูกนายจ้างบีบออกจากงาน เพราะมีการนำคนต่างด้าวเข้ามาทำหน้าที่แทนคนไทย ล่าสุดพล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้สั่งการให้กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานและกรมการจัดหางานลงพื้นที่ตรวจสอบสนามกอล์ฟทั่วประเทศแล้ว ซึ่งถ้าหากพบว่ามีการปลดแคดดี้คนไทยออกจากงานจริงตามที่เป็นข่าวกระทรวงแรงงาน โดยกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจะเข้าไปดูแลและให้การคุ้มครองตามกฎหมาย นอกจากนี้ ยังให้ชี้แจงนายจ้างและลูกจ้างปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด รวมทั้งได้มีหนังสือแจ้งไปยังผู้ประกอบการสนามกอล์ฟทั่วประเทศว่าไม่สามารถจ้างแรงงานต่างด้าวทำงานแคดดี้ได้ และเน้นย้ำสร้างความเข้าใจว่าแรงงานต่างด้าวทั้ง 3 สัญชาติ เมียนมา ลาว และกัมพูชา สามารถทำได้เฉพาะอาชีพกรรมกรและรับใช้ในบ้านเท่านั้น

พล.ต.อ.อดุลย์ฯ กล่าวต่อว่า ส่วนกรณีแคดดี้คนไทยของสนามกอล์ฟอินทนนท์ จ.เชียงใหม่ ร้องเรียนกับศูนย์ดำรงธรรมว่า สนามกอล์ฟหักค่าสนามเพิ่มมากขึ้นทำให้มีรายได้ลดลง ล่าสุดสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดเชียงใหม่ได้เข้าไปตรวจสอบข้อเท็จจริงแล้วทราบว่า แคดดี้กลุ่มนี้มิใช่ลูกจ้างของสนามกอล์ฟ แต่เป็นการตกลงจ้างของผู้มาตีกอล์ฟเท่านั้น โดยให้ค่าบริการแคดดี้ 300 บาทต่อ 1 รอบ ซึ่งแต่เดิมแคดดี้จะต้องจ่ายเงินให้กับสนามกอล์ฟรอบละ 40 บาท แต่ปัจจุบันสนามกอล์ฟมีลูกค้าลดลง จึงปรับขึ้นค่าสนามจาก 40 บาท เป็น 100 บาท ทำให้แคดดี้ไม่ยินยอมและออกมาร้องเรียนดังกล่าว ซึ่งสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดเชียงใหม่ได้ให้สองฝ่ายมาเจรจาตกลงกันจนได้ผลเป็นที่น่าพอใจว่า ในช่วง Low season (ก.ค.-ส.ค.) และ (ม.ค. - ก.พ.) จะเก็บค่าสนาม 100 บาทต่อรอบ ส่วนในช่วง High Season (มี.ค. - มิ.ย.) และ (ก.ย.-ธ.ค.) จะเก็บค่าสนาม 40 บาทต่อรอบ ทั้งนี้ เพื่อให้สนามกอล์ฟอยู่ได้และแคดดี้ทำงานต่อไปได้เช่นกัน

จากข้อมูลของกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ปัจจุบันสนามกอล์ฟในประเทศไทยกว่า 200 แห่ง หากนับรวมสนามไดรฟ์กอล์ฟด้วยรวมได้ประมาณ 500 แห่ง ทั้งนี้ ตาม พ.ร.ก.การทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2561 ระบุว่า คนต่างด้าวที่ทำงานโดยไม่ได้รับอนุญาตหรือทำงานนอกเหนือจากที่มีสิทธิจะทำได้ ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่ 5,000 – 50,000 บาท และถูกส่งกลับประเทศต้นทาง สำหรับนายจ้างที่รับคนต่างด้าวเข้าทำงานโดยไม่มีใบอนุญาตทำงานหรือทำงานนอกเหนือจากที่มีสิทธิจะทำได้ ต้องระวางโทษปรับ 10,000 - 100,000 บาท กรณีทำผิดซ้ำต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับตั้งแต่ 50,000 - 200,000 บาท ต่อคนต่างด้าวที่จ้าง 1 คน หรือทั้งจำทั้งปรับ และห้ามผู้นั้นจ้างคนต่างด้าวทำงานเป็นเวลา 3 ปี นับตั้งแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษ

นายสุทธิ สุโกศล อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (กพร.) กระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า กพร.ได้เข้าไปมีส่วนสนับสนุนตามภารกิจเกี่ยวกับการส่งเสริมและพัฒนาฝีมือแรงงาน รวมถึงผู้ประกอบกิจการ โดยเน้นการเสริมศักยภาพแคดดี้ไทย ให้มีความรู้ด้านงานบริการ เพิ่มขีดความสามารถด้านอาชีพ และการ ยกระดับทักษะ (skilled labour) 

ที่ผ่านมา กพร. ฝึกอาชีพให้กับแคดดี้ในหลักสูตรการฝึกยกระดับการสร้างบริการที่ประทับใจ ดำเนินการฝึกอบรมโดยหน่วยงานในสังกัด สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน (สพร.) และสำนักงานพัฒนาฝีมือแรงงาน (สนพ.) ซึ่งผู้เข้ารับการฝึกอบรมจะได้รับการเรียนรู้ทั้งภาคทฤษฎี ปฏิบัติ และการสร้างสถานการณ์จำลองเพื่อนำไปสู่การปฏิบัติงาน ภายใต้หัวข้อ ความสำคัญของงานบริการ เทคนิคการต้อนรับ การพัฒนาศักยภาพของผู้ให้บริการ รวมไปถึงฝึกภาษาต่างประเทศเพื่อรองรับชาวต่างชาติที่มาใช้บริการสนามกอล์ฟในประเทศไทย เช่น ภาษาอังกฤษ จีน ญี่ปุ่น และเกาหลี เป็นต้น ทั้งนี้เชื่อว่าหากมีการพัฒนาศักยภาพให้เป็นแคดดี้ที่รักงานบริการ และมีฝีมือจริง เช่นที่ผ่านมาจะสามารถช่วยส่งเสริมให้สถานประกอบกิจการด้านสนามกอล์ฟจ้างแคดดี้คนไทย และไม่จ้างแรงงานต่างด้าว ซึ่งเป็นการทำผิดกฎหมาย แรงงานที่ทำอาชีพเป็นแคดดี้ท่านอื่นๆ หากต้องการเปลี่ยนอาชีพ ก็สามารถมาฝึกอบรมกับทาง กพร. ได้เช่นกัน สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ สายด่วนกระทรวงแรงงาน 1506 กด 4 หรือเว็บไซต์กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน www.dsd.go.th หัวข้อกำหนดการเปิดฝึกอบรม 

ในส่วนของการฝึกอบรมภาคบริการ ปี 2561 กพร. มีเป้าหมาย 1,060 คน ดำเนินการแล้ว 860 คน การฝึกทักษะฝีมือด้านการบริการต่างๆ เพื่อรองรับการท่องเที่ยว นอกจากช่วยให้แรงงานมีทักษะเพิ่มขึ้น สามารถประกอบอาชีพด้วยตนเองได้แล้ว ยังเป็นการส่งเสริมด้านเศรษฐกิจไทยอีกทางหนึ่งด้วยการต้อนรับนักท่องเที่ยวทั้งคนไทย และชาวต่างชาติ นอกจากนี้ยังมีหลักสูตรที่รองรับการท่องเที่ยวอีกกว่า 60 หลักสูตร อาทิ สาขาช่างอุตสาหกรรมศิลป์ ได้แก่ หลักสูตร ช่างเย็บตัดเสื้อผ้าบุรุษ สตรี สาขาภาคบริการ ได้แก่ หลักสูตร การบริการโรงแรม ช่างแต่งผมบุรุษ สตรี การทำขนมไทย นวดไทยและนวดเท้าเพื่อสุขภาพ สาขาช่างก่อสร้าง ได้แก่ หลักสูตร การก่อสร้างบ้านดิน บ้านไม้ไผ่เพื่อการท่องเที่ยว การทำปูนปั้นม้านั่งไม้เทียม สาขาช่างอุตสาหกรรมศิลป์ ได้แก่ การออกแบบลายผ้าไหมอิงวัฒนธรรมท้องถิ่น การประดิษฐ์ของที่ระลึก เป็นต้น


ข่าวที่เกี่ยวข้อง