เหตุไล่ยิงย่านประตูน้ำระหว่างแก๊งวัยรุ่น 2 กลุ่มบริเวณประตูน้ำ ซึ่งทำให้นักท่องเที่ยวชาวอินเดียเสียชีวิต 1 ราย และมีผู้ได้รับบาดเจ็บหลายคน ได้ทำให้คนหันมาสนใจปัญหาเรื้อรังเกี่ยวกับความรุนแรงจากอาวุธปืนของไทย
เหตุดวลปืนอาก้าของ 2 แก๊งเริ่มต้นจากความขัดแย้งที่โต๊ะสนุกเกอร์และออกมาไล่ยิงกันบนท้องถนน ทำให้ผู้คนที่เดินอยู่ในบริเวณใกล้เคียงเสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บ ในจำนวนนี้ผู้บาดเจ็บเป็นชาวลาวด้วย 1 คน ต่อมา เจ้าหน้าที่พบปลอกกระสุน AK-47, 7.62 มม. และ 9 มม. รวมถึงยึดปืน .38 ไว้ได้ พร้อมแถลงว่ากำลังตามจับผู้ก่อเหตุมาดำเนินคดีฆาตกรรมและพยายามฆ่า
สำนักข่าว Asian Correspondent ระบุว่า ไทยเพิ่งประสบปัญหานักท่องเที่ยวจีนเดินทางมาท่องเที่ยวน้อยลง หลังเกิดเหตุเรือเฟอร์รีอับปางเมื่อเดือน ก.ค. ซึ่งทำให้มีนักท่องเที่ยวจีนเสียชีวิตกว่า 40 ราย และเมื่อไม่นานก็เพิ่งมีเหตุเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยของสนามบินทำร้ายนักท่องเที่ยวจีน ทำให้ไทยจำเป็นต้องรีบตอบสนองต่อเหตุการณ์ใดๆ ที่อาจกระกับการท่องเที่ยวอีก
ด้าน พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ์ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม เพิ่งระบุว่า เจ้าหน้าที่เพิ่มความเข้มงวดในการปราบปรามการครอบครองอาวุธปืนโดยผิดกฎหมายและยึดอาวุธปืนผู้กระทำผิด
เมื่อต้นปีที่ผ่านมา วิจัยของมหาวิทยาลัยวอชิงตัน ระบุว่า มีเหตุฆาตกรรมโดยการใช้อาวุธปืนมากกว่า 3,000 ครั้งในสหรัฐฯ ช่วงปี 2016 คิดเป็น 3.85 คน ต่อประชากร 100,000 คน แต่อัตราการเสียชีวิตที่เกี่ยวข้องกับอาวุธปืนต่อหัวของไทยสูงกว่าสหรัฐฯ เสียอีก อยู่ที่ 4.45 คน ต่อประชากร 100,000 คน ซึ่งตัวเลขของไทยสูงเป็นอันดับ 2 ของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นรองเพียงฟิลิปปินส์เท่านั้นที่ 7.42 คน ต่อประชากร 100,000 คน
อัตราการเสียชีวิตจากอาวุธปืนของไทยเกือบ 5 เท่าของมาเลเซีย และตัวเลขการเสียชีวิตจากอาวุธปืนในไทยสูงเทียบเท่ากับอิรัก ซึ่งเป็นหนึ่งในประเทศที่อันตรายที่สุดในโลก แต่เหตุฆาตกรรมส่วนใหญ่ในไทยมักเกี่ยวข้องกับอาชญากรรม ความรุนแรงจากกลุ่มแก๊งต่างๆ หรือความขัดแย้งส่วนตัว ไม่ใช่การกราดยิงเพื่อสังหารหมู่อย่างในสหรัฐฯ
นอกจากนี้ อาวุธปืนหลายล้านกระบอกมีอยู่ทั่วประเทศและหลายกระบอกก็เป็นปืนเถื่อนและไม่ได้ขึ้นทะเบียน
ที่มา : Asian Correspondent, SCPR