น.ส.สิริธิดา พนมวัน ณ อยุธยา ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายระบบการชำระเงินและเทคโนโลยีทางการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า เนื่องจากปัจจุบันการโอนเงินทางอิเล็กทรอนิกส์เพิ่มมากขึ้น หลังจากธนาคารต่างๆ ประกาศลดค่าธรรมเนียม หรือ ค่าฟี ให้เป็นศูนย์ถึงสิ้นปีนี้ ส่งผลให้ปริมาณธุรกรรมการโอนเงินผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์เพิ่มขึ้นหลายเท่าตัว
ขณะที่ผ่านมา ธปท. ได้ขยายวงเงินการโอนเงินด้วยหมายเลขโทรศัพท์และหมายเลขประจำตัวประชาชนบนระบบพร้อมเพย์ โดยไม่มีค่าธรรมเนียมสำหรับการโอนเงินสูงสุดไม่เกิน 2 ล้านบาทต่อรายการ
ล่าสุด ธนาคารได้ประกาศขยายวงเงินการโอนเงินด้วยหมายเลขที่บัญชี ผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ (โมบายแบงกิ้ง, อินเทอร์เน็ตแบงกิ้ง, เอทีเอ็ม) เพิ่มเป็นไม่เกิน 699,999 บาทต่อรายการ จากวงเงินเดิมไม่เกิน 50,000 บาทต่อรายการ โดยไม่มีค่าธรรมเนียม ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. นี้ โดยธนาคารพาณิชย์ต่างๆ จะทยอยเพิ่มวงเงินสูงสุดในการโอนเงิน ตามระดับการบริหารความเสี่ยงที่เหมาะสมของแต่ละธนาคาร
"เนื่องจากที่ผ่านมา การโอนผ่านหมายเลขบัญชีที่กำหนดเพดานไม่คิดค่าธรรมเนียมไว้ที่ 50,000 บาทต่อรายการ ทำให้ผู้ใช้บริการต้องแบ่งโอนหลายครั้ง ซึ่งไม่สะดวก และยังทำให้มีจำนวนธุรกรรมมากขึ้น ดังนั้น เพื่อแก้ปัญหานี้ และลดความสับสนของผู้ใช้บริการทางการเงิน และลดความแออัดของการโอนเงินผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ช่วงสิ้นเดือน จึงได้ประกาศขยายวงเงินสำหรับการโอนผ่านหมายเลขบัญชี" น.ส.สิริธิดา กล่าว
ข้อมูลจาก ธปท. ระบุว่า การทำธุรกรรมโอนเงินทางอิเล็กทรอนิกส์มีปริมาณเพิ่มขึ้นมาก การใช้งานบริการพร้อมเพย์เติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่องเฉลี่ยร้อยละ 35 ต่อเดือน โดยเฉพาะช่วงไตรมาส 2/2561 ธุรกรรมการโอนเงินผ่านระบบพร้อมเพย์ มีปริมาณเพิ่มขึ้นถึง 6 เท่า อันเป็นผลจากการลดค่าธรรมเนียมการโอนเงินผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ของธนาคารพาณิชย์ต่าง ๆ และพบว่าผู้ใช้บริการส่วนใหญ่นิยมใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ (mobile device) ในการโอนเงิน โดยคิดเป็นสัดส่วนมูลค่ากว่าร้อยละ 81% ของมูลค่าธุรกรรมทั้งหมด และมีอัตราเติบโตเฉลี่ยร้อยละ 31% ต่อเดือน สอดคล้องกับความนิยมในการใช้โมบาย แบงกิ้งที่เพิ่มสูงขึ้น
ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายระบบการชำระเงินและเทคโนโลยีทางการเงิน ธปท. ยังกล่าวถึงกรณีการโอนเงินผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ล่มในช่วงสิ้นเดือนที่ผ่านมา ว่าหลังเกิดปัญหา ได้เชิญระดับประธานเจ้าหน้าที่ด้านสารสนเทศ (CIO) ของแต่ละธนาคารมาหารือร่วมกัน และได้กำหนดแนวทางในการป้องกันปัญหาแล้ว คือ หนึ่ง ให้แต่ละธนาคารขยายท่อเพื่อรองรับปริมาณธุรกรรมการโอนเงินผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ที่เพิ่มขึ้น โดยภายสิ้นปีนี้ต้องขยายให้ได้ 2 เท่าของช่วงที่มีจำนวนธุรกรรมสูงสุด (พีค) และ สอง ให้ทำ Dashboard หรือ ตารางติดตามความเคลื่อนไหวของข้อมูลธุรกรรม เพื่อดูแลและแก้ปัญหาได้ทันที
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :