ไม่พบผลการค้นหา
รมว.แรงงาน เผย 1 ก.ค.61 เริ่มตรวจเข้มแรงงานต่างด้าว หากพบไม่มีใบอนุญาตทำงาน มีโทษทั้งนายจ้างและต่างด้าว ย้ำนายจ้างเร่งพาแรงงานดำเนินการพิสูจน์สัญชาติให้ทันภายใน 30 มิ.ย.นี้

พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า กระทรวงแรงงานได้จัดระเบียบการทำงานของคนต่างด้าว สัญชาติกัมพูชา ลาว เมียนมา เพื่อให้ถูกต้องตามกฎหมาย ได้รับสิทธิประโยชน์และการคุ้มครองตามกฎหมาย ตามมาตรฐานสากล ซึ่งที่ผ่านมา ได้ประสานกับประเทศต้นทางเข้ามาพิสูจน์สัญชาติในประเทศไทย และเปิดให้มีการจัดทำ/ปรับปรุงทะเบียนประวัติ ตรวจลงตรา (วีซ่า) และขออนุญาตทำงาน ณ ศูนย์บริการเบ็ดเสร็จ (OSS) โดยมีแรงงานที่ต้องพิสูจน์สัญชาติทั้งสิ้น 134,491 คน เป็นกัมพูชา 104,457 คน ลาว 12,327 คน เมียนมา 17,707 คน

ขณะนี้ดำเนินการไปแล้ว 98,803 คน คงเหลืออีก 35,688 คน เป็นกัมพูชา 28,760 คน ลาว 6,349 คน เมียนมา 579 คน โดย 5 จังหวัดคงเหลือต้องเข้าพิสูจน์สัญชาติ ได้แก่ 1. กรุงเทพมหานคร 13,220 คน 2. ชลบุรี 11,491 คน 3. ตราด 4,703 คน 4. จันทบุรี 2,320 คน 5. ฉะเชิงเทรา 1,113 คน ส่วนแรงงานที่ต้องเข้าศูนย์ OSS ตามมติ ครม. 16 มกราคม 2561 มีจำนวน 1,320,035 คน โดยดำเนินการไปแล้วภายใน 31 มีนาคม 2561 จำนวน 961,946 คน และต่อมามติ ครม.ได้มีการขยายเวลาให้เจ้าหน้าที่ในการดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 30 มิถุนายน 2561 ซึ่งมียอดที่ต้องเข้าศูนย์ OSS ในระยะ 2 อีก 360,222 คน ขณะนี้ดำเนินการแล้ว 261,744 คน คิดเป็นร้อยละ 72.66 คงเหลืออีก 98,478 คน คิดเป็นร้อยละ 27.34 โดย 5 จังหวัดคงเหลือต้องเข้าศูนย์ OSS ได้แก่ 1. กรุงเทพมหานคร 22,529 คน 2. ชลบุรี 17,835 คน 3. ปทุมธานี 10,737 คน 4. สมุทรปราการ 5,836 คน 5. ระยอง 5,606 คน 

รมว.แรงงาน กล่าวว่า ขณะนี้เหลือเวลาอีก 3 สัปดาห์เท่านั้น จึงขอให้นายจ้างเร่งพาแรงงานต่างด้าวไปดำเนินการให้ทันภายในกำหนด โดยกระทรวงแรงงานพร้อมจะให้บริการเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับนายจ้างและแรงงานต่างด้าวอย่างเต็มที่ และขอยืนยันชัดเจนว่ารัฐบาลจะไม่มีการผ่อนปรน ไม่ขยายเวลาอย่างแน่นอนพ้น 30 มิถุนายน 2561 ยังไม่มาดำเนินการ แรงงานต่างด้าวจะไม่สามารถอยู่และทำงานต่อไปได้

ทั้งนี้ช่วงสัปดาห์สุดท้ายจะมีแผนระดมกวาดล้างผู้กระทำผิดกฎหมายครั้งใหญ่ เริ่ม 1 กรกฎาคมนี้ หากพบคนต่างด้าวทำงานโดยไม่มีใบอนุญาตทำงานหรือทำงานนอกเหนือจากที่มีสิทธิจะทำได้ จะมีโทษปรับ 5,000 – 50,000 บาท และเมื่อชำระค่าปรับแล้ว คนต่างด้าวจะถูกส่งกลับออกไปนอกราชอาณาจักร และห้ามขออนุญาตทำงานภายใน 2 ปี นับแต่วันที่ได้รับโทษ

ขณะเดียวกันนายจ้างที่จ้างคนต่างด้าวโดยไม่มีใบอนุญาตทำงานหรือทำงานนอกเหนือจากที่มีสิทธิจะทำได้ จะมีโทษปรับ 10,000-100,000 บาทต่อคนต่างด้าวที่จ้างหนึ่งคน หากกระทำผิดซ้ำต้องมีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับตั้งแต่ 50,000 – 200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และห้ามจ้างคนต่างด้าวทำงานเป็นเวลา 3 ปี แห่งพระราชกำหนดการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2560 และที่แก้ไขเพิ่มเติม อย่างไรก็ตามหากแรงงานต่างด้าวที่ประสงค์จะทำงานในประเทศไทยจะต้องเข้ามาในรูปแบบการนำเข้าตามระบบ MOU เท่านั้น


อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง