การได้รับเลือกจัดมหากรรมกีฬาระดับโลกอย่าง ‘โอลิมปิก’ หรือ ‘ฟุตบอลโลก’ ดูจะเป็นสิ่งที่น่ายินดีของคนในชาติ งานฉลองและการโห่ร้องยินดีเกิดขึ้นทันทีเมื่อคนในชาติรับรู้ว่าได้เป็นเจ้าภาพจัดมหากรรมกีฬาที่เป็นเหมือนความภาคภูมิใจของประเทศ หลายประเทศต่างแย่งชิงสิทธิการเป็นเจ้าภาพกีฬาระดับภูมิภาคหรือระดับโลก เหมือนเป็นเวทีฟาดฟันทางการเมืองระหว่างประเทศ ขนาดย่อมๆ ในการเสนอตัวเป็นเจ้าภาพมหากรรมกีฬาเหล่านี้ อาจดูตัวอย่างได้จาก สารคดีเรื่อง ‘World cup of spies’ ของผู้กำกับชาวเดนมาร์ก ที่เล่าเรื่องของอังกฤษและรัสเซีย สองประเทศที่ต่างใช้สงครามสายลับสืบหาความลับฝ่ายตรงข้าม โดยมีเป้าหมายเพียงเพื่อให้ประเทศของตัวเองได้รับเลือกให้เป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลก 2018 ที่ท้ายสุดชัยชนะเป็นของฝ่ายรัสเซียของรัสเซีย
แต่ไม่ใช่ทุกคนที่ยินดีไปด้วยกับการนำงบประมาณของประเทศหรือเมืองของพวกเขาไปใช้ในการจัดการแข่งขันกีฬา ในหลายที่ของโลกมีขบวนการณ์ต่อต้านการจัดมหกรรมกีฬาเหล่านี้อยู่เช่นกัน
“Need Food, Not Football - เราอยากได้อาหาร ไม่ใช่ฟุตบอล” เป็นวลีที่ถูกพ่นลงบนกำแพงหลายแห่งพร้อมภาพเด็กผู้หิวโหย ในช่วงการประท้วงรัฐบาลบราซิลที่ใช้เงินจำนวนนับหลายพันล้านไปกับการจัดฟุตบอลโลก 2014 การประท้วงจบลงด้วยการปราบปรามผู้ชุมนมอย่างรุนแรง ทั้งนี้ผู้ชุมนุมมองว่าแทนที่จะใช้เงินจำนวนมหาศาลนั้นไปปรับปรุงแก้ไขด้านสาธารณูปโภคในประเทศ อย่างการสร้างโรงพยาบาลหรือโรงเรียนที่มีปัญหาขาดแคลนมาอย่างยาวนาน และยังมีความเคลือบแคลงว่าการจัดฟุตบอลโลกจะเป็นเพียงการจับมือกันระหว่าง ‘นักธุรกิจ’ กับ ‘นักการเมือง’ เพื่อหมุนเงินเข้ากระเป๋าของพวกเขาผ่านโครงการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับฟุตบอลโลก และสิ่งที่ชาวบราซิลกังวลก็ดูจะเป็นความจริงด้วย
เมื่อเกิดกรณี ‘Operation Car Wash’ ที่ถือว่าเป็นการคอรัปชั่นครั้งใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ของบราซิล กรณีนี้ถูกเปิดโปงขึ้นมาว่ามีการติดสินบนเจ้าหน้ารัฐแลกกับการได้สัมปทานงานก่อสร้างโครงการต่างๆ ของภาครัฐ อันรวมไปถึงโครงการสร้างสนามแข่งขันฟุตบอลโลก 2014 และโอลิมปิกปี 2016 ที่บราซิลเป็นเจ้าภาพ มีการตรวจพบว่าสัญญาการก่อสร้างและซ่อมแซมสนามกีฬาหลายแห่งใช้เงินมากกว่าความเป็นจริง ท่ามกลางปัญหาเศรษฐกิจและสังคมมากมายที่คนบราซิลต้องเผชิญ แต่รัฐบาลกลับนำเงินไปใช้ในการจัดแข่งขันกีฬาและยังคอรัปชั่นโกงกินเงินภาษีของพวกเขาอีก
กรณีของบราซิล เป็นตัวอย่างที่เห็นภาพชัดเจนว่าไม่ใช่ทุกคนในประเทศจะเห็นด้วยและยินดีกับการเรื่องแบบนี้เสมอไป เว็บไซต์ playthegame.org ได้ทำการศึกษาเกี่ยวกับขบวนการภาคประชาสังคมที่คัดค้านการเสนอตัวเป็นเจ้าภาพการแข่งขันกีฬาระดับโลก โดยได้รวบรวมการยกเลิกการเสนอตัวเป็นเจ้าภาพโอลิมปิก ตั้งแต่ ปี 2013-2018 มีทั้งหมด 13 เมืองที่ถอนตัวออกจากเสนอตัวเป็นเจ้าภาพโอลิมปิกครั้งต่างๆ เช่น ออสโล ถอนตัวจากการตัวเองเป็นเจ้าภาพปี 2022 หรือ ฮัมบูร์กปี 2024 ซึ่งการถอนตัวแต่ละครั้งเกิดขึ้นจากการที่มีกลุ่มประชาชนออกมาเคลื่อนไหวเกือบทุกครั้ง (ดูตารางเต็มได้ที่นี่)
การรณรงค์คัดค้านการจัดโอลิมปิกนั้น เกิดขึ้นจากการถกเถียงภายในชุมชนของแต่ละเมือง ส่วนใหญ่จะหนีไม่พ้นประเด็นที่ว่าการเป็นเจ้าภาพนั้นอะไรคือผลประโยชน์แท้จริงที่ทุกฝ่ายจะได้รับ และความโปร่งใส่ของการใช้งบประมาณ มีเกิดกลุ่มรณรงค์เรื่องนี้แบบจริงจังอยู่หลายกลุ่ม อย่างกลุ่ม ‘No Boston Olympics’ ที่คัดการเสนอตัวเป็นเจ้าภาพโอลิมปิกปี 2024 ของเมืองบอสตันสหรัฐอเมริกา โดยตั้งคำถามถึงโปร่งใสของคณะกรรมการโอลิมปิกสากล (International Olympic Committee: IOC) ต้นทุนค่าเสียโอกาส ไปจนถึงการเรียกร้องให้นำเงินไปใช้ในสาธารณะประโยชน์อย่างอื่น ซึ่งกลุ่มที่เคลื่อนไหวแบบนี้เกิดขึ้นในหลายเมือง ร่วมถึงที่มีเป็นองค์เครือข่ายระดับประเทศอย่าง ‘NOlympia’ ที่เป็นกลุ่มเครือข่ายทำงานร่วมกันในเยอรมนีและประเทศในยุโรปอื่นๆ ส่งผลกระทบให้องค์กรกีฬาระดับนานาชาติต้องปรับตัวเพื่อกู้ศรัทธาด้านความโปร่งใสที่ถูกตั้งคำถามมาโดยตลอดโดยเฉพาะการคัดเลือกชาติเจ้าภาพในมหากรรมกีฬา ที่ว่ากันว่าเต็มไปด้วยผลเรื่องของผลประโยชน์ทับซ้อนมากมายทั้งทางธุรกิจและการเมือง โดยทางคณะกรรมการโอลิมปิกสากลได้ออกกฎใหม่สำหรับการเสนอตัวเป็นเจ้าภาพ ‘Olympic Agenda 2020’ ที่เปลี่ยนกระบวนการคัดเลือกเจ้าภาพโอลิมปิกเน้นความโปร่งใส่มากขึ้น เพิ่มหัวข้อเกี่ยวการมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างที่ไม่เคยมีมากก่อน
จากข้อมูลของ playthegame.org ที่น่าสนใจอีกสิ่งหนึ่งคือการทำประชามติ ได้เข้ามาเป็นตัวตัดสินว่าเมืองแต่ละเมืองจะเสนอชื่อตัวเองเป็นเจ้าภาพโอลิมปิกหรือไม่ ตั้งแต่ปี 2013 ถึง 2018 มีการยกเลิกการเสนอตัวเป็นเจ้าภาพโอลิมปิกถึง 6 ครั้งที่ต้องยกเลิกไปเพราะแพ้การทำประชามติจากคนในเมือง
“Something better than Olympic Games!” สโลแกน กลุ่ม ‘NOlympia Hamburg’ ที่ออกมาเคลื่อนไหวไม่เห็นด้วยกับเสนอชื่อเป็นเจ้าภาพโอลิมปิกของเมืองฮัมบูร์ก ประเทศเยอรมนี หลังมีการเสนอจากนักการเมืองและองค์กรด้านกีฬาให้เป็นเมืองหลักของโอลิมปิกเกมถึง 3 ครั้ง มีการรณรงค์จากทั้งสองฝั่งอย่าง ทั้งฝ่ายสนับสนุนและคัดค้านผ่านช่องทางสื่อของตัวเอง โทรทัศน์และหนังสือพิมพ์หลักของท้องถิ่นมักจะเสนอภาพดีของโอลิมปิกในเมืองอื่นๆ ส่วนทางกลุ่ม NOlympia Hamburg พยายามจะเสนอภาพข้อมูลถึงมูลค่าการแท้จริงที่คนเมืองต้องจ่าย ไม่ใช่แค่เรื่องของเงินแต่รวมไปคือโอกาสที่เสียไป และตั้งคำถามกับความยั่งยืนของสิ่งต่างๆ ที่ลงทุนไป ทำให้ในปี 2015 มีการจัดออกเสียงประชามติ ที่ประชาชนออกเสียงไม่เห็นด้วยกับการเป็นเจ้าภาพโอลิมปิก ร้อยละ 51 ต่อร้อยละ 49 ทำให้ฮัมบูร์กไม่ได้เสนอชื่อเป็นเจ้าภาพโอลิมปิกอีกครั้ง
การใช้งบประมาณมหาศาลในจัดมหกรรมกีฬา ไม่ใช่เรื่องการตัดสินใจของเพียงแค่รัฐบาลและกลุ่มผู้มีอิทธิพลอีกต่อไป เพราะปัจจุบันนี้การมีส่วนรวมของประชาชนเริ่มเข้ามามีบทบาทมากขึ้นเรื่อยๆ