คริปโตเคอเรนซี หรือสกุลเงินดิจิทัล เริ่มเป็นที่รู้จักในกลุ่มคนไทยตั้งแต่กลางปี 2560 ที่ผ่านมา หลังราคาคริปโตสกุลหลักๆ อย่างบิทคอยน์เพิ่มขึ้นหลายเท่าตัว จากระดับ 888 ดอลลาร์สหรัฐต่อ 1 บิทคอยน์ ในต้นปี 2560 มาจบสิ้นปีที่ 17,172 ดอลลาร์สหรัฐ ต่อ 1 บิทคอยน์ หรือ เพิ่มขึ้นร้อยละ 1,833
กระแสเงินดิจิทัลร้อนแรง ทำให้การระดมทุนในรูปแบบใหม่เกิดขึ้นมากมาย โดยเฉพาะการระดมทุนผ่านเงินสกุลดิจิทัล ที่เรียกว่า ICO (Initial Coin Offering) โดยการระดมทุนดังกล่าว คือการเสนอโครงการ หรือ นวัตกรรมด้านเทคโนโลยีต่างๆ ที่ผู้ระดมทุนมองว่าจะสามารถเปลี่ยนแปลงการใช้ชีวิตและต้องมาใช้บริการของผู้ที่ระดมทุน และทำลายธุรกิจที่มีอยู่ดั้งเดิม
ผลที่นักลงทุนจะได้ คือ มูลค่าของเหรียญที่ได้รับจากการเข้าลงทุนจะเพิ่มขึ้นรวดเร็ว สร้างกำไรที่มหาศาลกับผู้ลงทุนในระยะสั้น ทำให้การระดมทุนไอซีโอได้รับความนิยมสูงสุด ไม่ว่าไอซีโอนั้นจะทำอะไรก็ตาม นักลงทุนก็เข้ามาจองซื้อเหรียญกันอย่างหนาแน่น
แต่สิ่งที่นักลงทุนต้องตระหนักคือ สถิติการระดมทุนในต่างประทเศพบว่า ไอซีโอกว่าร้อยละ 95 มักจะล้มเหลวและสร้างความเสียหายให้กับผู้ลงทุน ขณะเดียวกัน การหลอกลวงผ่านการระดมทุนไอซีโอนั้นมีเต็มไปหมด
ร้อยละ 95 ของไอซีโอมักจะขาดทุน
นายไพบูลย์ นลินทรางกูร นายกสมาคมนักวิเคราะห์การลงทุน เปิดเผยว่า การลงทุนในไอซีโอนั้น มีความเสี่ยงอย่างมาก สถิติในต่างประเทศพบว่า ร้อยละ 95 ของการลงทุนในไอซีโอมักจะล้มเหลว หรือขาดทุน และการระดมทุนไอซีโอมักจะเป็นธุรกิจหรือการให้บริการรูปแบบใหม่ที่ไม่เคยมีมาก่อน ผู้ระดมทุน มักจะขายไอเดียให้กับผู้ที่สนใจลงทุน ไอเดียนั้นจะต้องเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของผู้คน หรือทำลายธุรกิจเดิมและสร้างธุรกิจใหม่
"การลงทุนในไอซีโอนั้นมีโอกาสจะล้มเหลวสูงมาก จากการเก็บสถิติในต่างประเทศ จะพบว่า ร้อยละ 90 -95 มักจะเกิดการขาดทุนจากการลงทุนในไอซีโอ"
ดังนั้น ความเสี่ยงของการะดมทุนยังมีมาก ในเรื่องการประมาณการการเติบโตที่ไม่มีรายละเอียดมาก่อน ไม่สามารถประเมินการเติบโตผ่านงบการเงินได้ ไม่มีอะไรมาเป็นสินทรัพย์ค้ำประกัน ต่างจากการประเมินมูลค่าของบริษัทจดทะเบียนที่มีการจัดทำงบการเงินทุกไตรมาส มีผู้ตรวจสอบบัญชีคอยช่วยดู และมีนักวิเคราะห์ประเมินปัจจัยพื้นฐานการลงทุนให้
ส่วนสาเหตุที่ทำให้นักลงทุนให้ความสนใจมาก เพราะผลตอบแทนอยู่ในระดับที่สูงมากหากไอซีโอประสบความสำเร็จ ซึ่งนักลงทุนที่ต้องการลงทุนต้องมีความเชี่ยวชาญและศึกษารายละเอียดการลงทุน
อย่างไรก็ตาม นายไพบูลย์ ให้ความเห็นว่าผู้ที่จะเข้าลงทุนได้ต้องมีความเชี่ยวชาญในระดับเดียวกับนักลงทุนสถาบัน หรือธุรกิจร่วมลงทุน ไม่เช่นนั้นมีโอกาสที่จะที่เกิดการขาดทุนได้สูง
นักลงทุนต้องดูแลตัวเอง
นายมนตรี ศรไพศาล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์ เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า การซื้อขายเงินสกุลดิจิทัลและการระดมทุนทุนผ่านไอซีโอมีความคึกคักอย่างมาก โดยเริ่มเห็นมีสกุลเงินต่างๆ เข้ามามากขึ้น แต่ราคาจะผันผวนสูง การลงทุนในไอซีโอมูลค่าปัจจัยพื้นฐานขาดสิ่งที่จะมารองรับชัดเจนต่างจากสกุลเงินหลัก อย่างสกุลเงินบาทหรือสกุลทางการอื่นๆ ที่มีรัฐบาลรับรอง มีความแข็งแรงมั่นคง
พอมีเงินดิจิทัลหลายสกุลความน่าเชื่อถือก็น้อยลง มีผู้ที่นำเอาคริปโตเคอเรนซีมาพัฒนาด้านอื่นๆ เช่น ไอซีโอเป็นการระดมเหรียญเพื่อพัฒนาแพลตฟอร์มใหม่ๆ ระดมทุนเพื่อพัฒนานวัตกรรม ผู้ที่ลงทุนต้องเข้าใจว่าการลงทุนไม่มีความชัดเจน เป็นนวัตกรรมอนาคต มีได้และมีเสีย ถ้าลงไปแล้วไม่ได้ผลก็ขาดทุน แต่ถ้านวัตกรรมนั้นทำลายระบบเดิม สร้างคุณค่าทางเศรษฐกิจก็มีผลเพิ่มพูนมหาศาล ก็จะสร้างกำไรให้กับนักลงทุน
ดังนั้น เมื่อมองไปข้างหน้า จะเกิดไอซีโอหรือไม่นั้น มองว่าสิ่งสำคัญคือไม่อยากเห็นการหลอกลวง หรือการระดมทุนในโปรเจกต์ที่ไม่มีจริง ดังนั้น ผู้ลงทุนต้องรอบคอบและระมัดระวัง ถ้าเราจะดูไอซีโอต้องดูว่าเอาไปทำอะไร น่าเชื่อถือแค่ไหน
สำหรับการออกกฏเกณฑ์ของภาครัฐต่อคริปโตเคอเรนซี หรือสกุลเงินดิจิทัล และการทำไอซีโอนั้น นายมนตรี ให้ความเห็นว่า น่าจะเป็นลักษณะการดูในกรอบกว้างๆ เท่านั้น ต้องหาสมดุลการกำกับดูแลให้เจอ เพราะลักษณะการระดมทุนต่างจากการทำไอพีโอที่ระดมทุนในธุรกิจ มีการพิสูจน์ตัวเองพอสมควร ส่วนไอซีโอที่ยังไม่มีอะไรมาพิสูจน์ ก็ต้องเอาความคิดมาพัฒนาให้เกิดขึ้นจริง เป็นข้อจำกัดการระดมทุน ดังนั้นจึงต้องมีการกำกับให้เป็นไปอย่างสุจริต ป้องกันการทุจริต การฉ้อโกงเงินประชาชน แต่ถ้านักลงทุนจะลงทุน ต้องจดจำไว้ว่า ลงทุนแล้วโทษใครไม่ได้ ต้องดูแลตัวเอง ต้องรับรู้ความเสี่ยงและดูแลความเสี่ยงด้วยตนเอง
ทางการเร่งออกมาตรการควบคุม
อย่างไรก็ตาม กระทรวงการคลังเร่งออกแนวทางดูแลเงินดิจิทัล โดยเตรียมเสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีพิจารณาร่างพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) เพื่อให้อำนาจหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าไปกำกับดูแลมาตรการกำกับดูแลการระดมทุนด้วยการเสนอขายเหรียญไอซีโอ ที่ปัจจุบันยังไม่มีกฎหมายใดรองรับ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่สามารถเข้าไปกำกับดูแลได้ ทำให้เกิดความไม่มั่นใจและมีความเสี่ยงต่อการลงทุน จึงต้องหาแนวปฏิบัติเพื่อรองรับนวัตกรรมและเทคโนโลยีทางการเงิน เพื่อสร้างเกราะป้องกันให้กับผู้ลงทุน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง: