นักวิทยาศาสตร์จากคณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชฟฟิลด์ ประเทศอังกฤษ ร่วมมือกับสถาบันเดิร์มทรีท จากกรุงโคเปนเฮเกน ประเทศเดนมาร์ก ซึ่งเชี่ยวชาญด้านการพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตแผ่นพลาสเตอร์ด้วยกาวชีวภาพ และสามารถย่อยสลายได้ คิดค้นพลาสเตอร์ปิดแผลช่องปาก เพื่อปฏิวัติการรักษาอาการเจ็บปวด
พลาสเตอร์ดังกล่าวชื่อว่า ‘ริเวลิน แพทช์’ (Rivelin Patch) เป็นวัสดุปิดแผลเทคโนโลยีเส้นใยนาโน 2 ชั้น ผลิตจากโพลิเมอร์ชนิดพิเศษ มาพร้อมคุณสมบัติยึดเกาะกับพื้นผิวเปียกชื้น และส่งสเตียรอยด์เข้ารักษาอาการเจ็บป่วยจากแผลบริเวณช่องปาก และภาวะเยื่อบุช่องปากอักเสบ (Stomatitis) ได้
ความสำเร็จของการคิดค้นพลาสเตอร์อันล้ำสมัย นับเป็นการปฏิวัติวิธีการรักษาโรคช่องปาก และความก้าวหน้าของการพยายามบำบัดอาการผิดปกติของเยื่อเมือกช่องปาก ทั้งบริเวณเหงือก กระพุ้งแก้ม หรือเพดานปาก เนื่องจากพลาสเตอร์ทำหน้าที่สร้างกำแพงป้องกันรอบๆ รอยแผล เพื่อช่วยลดระยะเวลาของกระบวนการรักษาให้เร็วยิ่งขึ้น โดยเฉพาะกับโรคไลเคนพลานัสในช่องปาก (Oral lichen planus) เป็นภาวะแสบร้อนร่วมกับการเกิดคราบขาว และ แผลร้อนในเรื้อรัง ซึ่งทำให้เกิดบาดแผลเปื่อย อาการเจ็บปวดอย่างมาก และส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิต
จวบจนปัจจุบัน การรักษาแผลช่องปาก หรืออาการร้อนใน หลักๆ แล้วทำกันด้วยวิธีการทาครีม ขี้ผึ้ง และใช้น้ำยาบ้วนปาก ซึ่งผู้ป่วยต้องทุกข์ทรมานอยู่กับความพุพอง เคี้ยวอาหารยากลำบาก และน่ารำคาญอยู่นานประมาณ 1-2 สัปดาห์ แตกต่างกันออกไปตามความรุนแรง อย่างไรก็ตาม พลาสเตอร์ริเวลิน แพทช์ สามารถยึดเกาะช่องปากได้เป็นเวลานาน และยืดหยุ่นสูง เหมาะกับพื้นผิวบริเวณช่องปาก
ระหว่างการศึกษาค้นคว้า ริเวลิน แพทช์ ถูกนำไปทดสอบด้วยการติดบริเวณเหงือก ลิ้น และกระพุ้งแก้ม ของอาสาสมัครจำนวน 26 คน นาน 15 นาที พบว่า การยึดเกาะของวัสดุให้ความรู้สึกสบาย เหมือนเกาะป้องกันบาดแผล และช่วยสนับสนุนการรักษาให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
สำหรับผลการวิจัยฉบับเต็มตีพิมพ์อยู่ในวารสารไบโอแมททีเรียลส์