เมื่อเวลา 09.30 น. วันที่ 31 พ.ค. ที่รัฐสภา ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ชี้แจงรายละเอียดร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2566 วงเงิน 3.185 ล้านล้านบาทว่า งบประมาณปี 2566 วงเงิน 3,185,000 ล้านบาท เพื่อมาขับเคลื่อนประเทศให้บรรลุตามเป้าหมายและฟื้นฟูเศรษฐกิจภายหลังการแพร่ระบาดโควิด-19 ทั้งนี้เศรษฐกิจไทยปี 2565-2566 คาดว่าจะขยายตัว 3.2% - 4.2% ส่วนอัตราเงินเฟ้ออยู่ที่ 0.5% - 1.5% ซึ่งคาดว่าปี 2566 เศรษฐกิจจะค่อยๆฟื้นตัว โดยคาดการณ์ว่าจะจัดเก็บรายได้อยู่ที่ 2,614,100 ล้านบาท เพิ่ม 4.1% ส่วนฐานะทางการคลัง หนี้สาธารณะคงค้าง 9,951,962.7 ล้านบาท สำหรับระบบการเงินโดยรวมยังมีเสถียรภาพ
สำหรับงบประมาณปี 2566 จำนวน 3,185,000 ล้านบาท แบ่งออกดังนี้ งบกลาง 590,470.0 ล้าน ,รายจ่ายหน่วยรับงบประมาณ 1,090,329.6 ล้าน ,รายจ่ายบูรณาการ 218,477.7 ล้าน ,รายจ่ายบุคลากร 772,119.1 ล้าน ,รายจ่ายสำหรับทุนหมนุเวียน 206,985.6 ล้าน ,รายจ่ายเพื่อชำระหนี้ภาครัฐ 306,618 ล้าน
“สำหรับระบบการเงินโดยรวมมีเสถียรภาพ แต่ภาคธุรกิจและภาคครัวเรือนมีความเปราะบางขึ้นในบางกลุ่มจากปัญหาค่าครองชีพและต้นทุนที่มีการปรับเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มที่รายได้ยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่และมีภาระหนี้ที่อยู่ในระดับสูง คณะกรรมการนโยบายการเงินจึงมีมติให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายต่อเนื่องที่ร้อยละ 0.50 ในการประชุมเดือน ก.พ.และ มี.ค. 2565 เพื่อให้ภาวะการเงินโดยรวมยังคงผ่อนคลาย และสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่ยังมีความไม่แน่นอนสูง ส่วนฐานะการเงินด้านต่างประเทศของไทยในปัจจุบันอยู่ในเกณฑ์ดี มูลค่าเงินสำรองระหว่างประเทศ ณ วันที่ 22 เม.ย. 2564 มีจำนวน 2.33 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็นประมาณ 3.15 เท่าของหนี้ต่างประเทศระยะสั้น ซึ่งถือว่าอยู่ในระดับที่แข็งแกร่ง” นายกฯกล่าว
พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า การจัดทำร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวรัฐบาลได้ดำเนินการให้เป็นไปตามกรอบของ พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ.2561 และสอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบัน จำแนกเป็นรายจ่ายประจำ จำนวน 2.39 ล้านล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 75.26 รายจ่ายลงทุน จำนวน 6.95 แสนล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 21.82 และรายจ่ายชำระคืนต้นเงินกู้ จำนวน 1 แสนล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 3.14 ทั้งนี้ รายจ่ายชำระคืนต้นเงินกู้เป็นรายจ่ายลงทุนกรณีการกู้เพื่อการลงทุนของรัฐวิสาหกิจ จำนวน 7,000 ล้านบาท ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวอยู่ภายในกรอบวินัยการเงินการคลัง
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ส่วนรายจ่ายงบกลางเพื่อรองรับกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น จำนวน 9.59 หมื่นล้านบาท เพื่อสำรองไว้เป็นค่าใช้จ่ายในการป้องกัน หรือแก้ไขสถานการณ์อันกระทบต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชน ความมั่นคงของรัฐ การเยียวยา หรือบรรเทาความเสียหายจากภัยพิบัติสาธารณะร้ายแรง ภารกิจที่เป็นความจำเป็นเร่งด่วนของรัฐ และการบรรเทา แก้ไขปัญหา และเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 รวมทั้งชดเชยค่างานสิ่งก่อสร้างเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการ
ทั้งนี้ พล.อ.ประยุทธ์ ได้กล่าวตอบโต้ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ในฐานะผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร ที่อ้างว่ามีการลงทุนน้อยนั้น ว่า จากที่เคยขอไป 624,399 ล้าน แต่เมื่อถึงการอภิปรายของฝ่ายนิติบัญญัติกลับถูกปรับลด พร้อมถามว่าตั้งงบฯ มาแล้วใครตัด นอกจากนี้ย้ำว่าโครงการต่างๆที่ลงไปในพื้นที่ต่างจังหวัดทุกโครงการลงไปด้วยความจำเป็น ไม่เหมือนสมัยก่อนที่ต้องมีการระบุว่า "ถ้าไม่เลือก ก็ไม่ให้"
ส่วนกรณีถูกกล่าวหาว่ามีการส่อโกง พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ให้ไปพิสูจน์ในกระบวนการยุติธรรม พร้อมบอกขอให้กลับไปดูว่า กระบวนการยุติธรรมที่ผ่านมามีติดคุก หนีคดีหรือไม่