ไม่พบผลการค้นหา
การเกิดอุบัติเหตุแท้จริงแล้วเราสามารถป้องกันได้ หากทุกคนมีจิตสำนึกหรือสร้างความระมัดระวัง โดยสถาบันการศึกษาร่วมกับ สอจร. ตระหนักถึงการเรียนรู้ จึงจัดการเรียนการสอนให้รู้ถึงความปลอดภัย พร้อมขอความร่วมมือผู้ปกครองให้ทำเป็นแบบอย่าง จนเกิดการเปลี่ยนแปลง

น.ส.พรทิพพา สุริยะ นักวิชาการสนับสนุนการป้องกันอุบัติเหตุจราจร (สอจร.) ในฐานะผู้จัดการโครงการขยายผลศูนย์พัฒนาเด็กเล็กต้นแบบสู่โรงเรียน เปิดเผยว่า โรงเรียนเทศบาล 1 วัดเทพมงคล จ.อำนาจเจริญ และโรงเรียนเทศบาล4 พระเจ้าองค์ตื้อ จ.อุบลราชธานี  เป็น 2 ใน 16 สถาบันการศึกษา จาก 8 จังหวัดทั่วประเทศ ที่จัดให้มีการเรียนการสอนเกี่ยวกับการป้องกันอุบัติเหตุ ซึ่งการเลือกโรงเรียนดังกล่าว เนื่องจากตั้งอยู่ในพื้นที่จราจรแออัด และมีความเสี่ยงเกิดอุบัติเหตุ ประกอบกับการสำรวจเรื่องการสวมหมวกนิรภัยขอนักเรียนและผู้ปกครองระหว่างการขี่รถจักรยานยนต์ พบว่าน้อยกว่าร้อยละ 2

น.ส.พรทิพพา กล่าวว่า ระยะแรกสิ่งที่ดำเนินการเพื่อการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมลดความเสี่ยงเกิดอุบัติเหตุ เน้นดำเนินการใน 3 เรื่อง ประกอบด้วย การมีส่วนร่วมของครูและผู้ปกครอง เริ่มจากการวิเคราะห์จุดเสี่ยงตั้งแต่บ้านนักเรียนจนถึงโรงเรียน โดยแบ่งความเสี่ยงเป็น 3 กลุ่ม คือ สีแดง คือ เสี่ยงมาก สีเหลือง คือ เสี่ยงปานกลาง และสีเขียว คือ ปลอดภัย จากนั้นปรับพฤติกรรมเสี่ยง โดยเก็บข้อมูลพฤติกรรมผู้ปกครอง ส่งต่อมายังเด็ก เช่น การไม่สวมหมวกนิรภัย ไม่คาดเข็มขัดนิรภัย เล่นโทรศัพท์ขณะขับรถ สุดท้ายคือการจัดการเรียนการสอนให้เหมาะสมกับช่วงวัย รวมถึงจัดสภาพแวดล้อมให้เอื้อต่อการเรียนรู้ ปลูกฝังพฤติกรรมการรับรู้ ให้นักเรียนสามารถบอกต่อผู้ปกครองให้ตระหนักถึงความปลอดภัยในการขับขี่และการใช้รถใช้ถนน

น.ส.พรทิพพา กล่าวว่า ระยะที่สองขยายสู่โรงเรียนระดับประถม ต่อเนื่องจากศูนย์เด็กเล็ก และเมื่อขยับกลุ่มจากเด็กเล็กมาที่เด็กโต ต้องพัฒนาชุดข้อมุลความรู้ให้เข้ากับช่วงวัย และที่สำคัญได้รับความร่วมมือจากท้องถิ่น ทำให้เกิดการส่งเสริมให้มีการปลูกฝังเรียนรู้ภายในสถานศึกษามากขึ้น

ติดตามขยายผลจากศูนย์เด็กเล็กไประดับเตรียมอนุบาล

ด้านนายกิตติพงษ์ โพธิ์มาตย์ รองผู้อำนวยการโรงเรียนเทศบาล1 วัดเทพมงคล กล่าวว่า การใส่หมวกนิรภัยหลายคนมองว่าเป็นเรื่องที่แปลกและทรมานมาก รวมไปถึงการปฏิบัติตามกฎและเครื่องหมายจราจร เชื่อว่าทุกคนรู้ความหมาย แต่ไม่ทำตาม ซึ่งปัญหาเช่นนี้ โรงเรียนไม่อยากเข้าไปบังคับผู้ปกครองโดยตรง แต่เมื่อได้รับประสานจากเครือข่าย สอจร. ว่าต้องการเข้ามาดำเนินโครงการดังกล่าว เพื่อติดตามนักเรียนที่มาจากศูนย์เด็กเล็กว่าเด็ก ที่มาเรียนต่อในชั้นเตรียมอนุบาลและผู้ปกครองมีพัฒนาการและยังคงพฤติกรรม การสวมหมวกนิรภัยอยู่หรือไม่ ซึ่งเราเห็นว่าเป็นโครงการที่ดีมาก โดยในระยะเริ่มต้นทีมเครือข่าย สอจร. นักวิจัย และครู ได้ร่วมกันวางแผนดำเนินงาน ร่วมกันพัฒนาหลักสูตรบูรณาเข้าไปในรายวิชาที่เกี่ยวข้อง และสรุปเป็นแนวทางปฏิบัติที่ชัดเจน แบ่งเป็นการปลูกฝังเรียนรู้ที่เหมาะสมกับเด็กช่วงวัยต่างๆ โดยปัจจุบันอยู่ในระยะขยายความรู้ไปยังผู้ปกครอง และชุมชนรอบข้างต่อไป

“หลายครั้งเรามักจะได้ยินว่า ทำไมโรงเรียนไม่สอนเด็ก ให้มีความรู้และปฏิบัติตามกฎจราจร เราจึงให้ความสำคัญกับประเด็นนี้ เพราะทุกวันนี้อุบัติเหตุทางถนน เป็นปัญหาสำคัญของสังคมไทย โดยการจัดทำหลักสูตรการเรียนการสอน และบูรณาการเข้าไปในรายวิชา ให้นักเรียนได้เข้าถึงองค์ความรู้และข้อมูลที่สำคัญ เกี่ยวกับพฤติกรรมการใช้รถใช้ถนนที่ปลอดภัย ซึ่งภายหลังดำเนินการพบว่า ทั้งนักเรียนและผู้ปกครองให้ความร่วมมือ และมีพฤติกรรมตระหนักถึงความปลอดภัยมากขึ้น” นายกิตติพงษ์ กล่าว


S__30769185.jpg

สร้างความตระหนักรู้ให้มากขึ้น เพื่อป้องกันอุบัติเหตุ

ขณะที่นางขวัญมณี จันทิมา ผู้อำนวยการกองสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม จ.อำนาจเจริญ กล่าวว่า การดำเนินโครงการปลูกฝังพฤติกรรมและเรียนรู้กฎจราจรผู้ปกครอง โรงเรียน รวมถึงหน่วยงานท้องถิ่น มีส่วนสำคัญมาก โดยเฉพาะการช่วยกันกำหนดจุดเสี่ยงและแก้ไข ป้องกัน เพื่อไม่ให้เกิดอุบัติเหตุซ้ำในอนาคต โดยก่อนเริ่มดำเนินการมีการสูญเสีย ประมาณ 2-3 รายต่อปี เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่มีเส้นทางเชื่อมต่อไปยังอำเภอและจังหวัดรอบข้าง โดยก่อนหน้านี้มักจะปัญหาการมีส่วนร่วม จากผู้ปกครองที่มักมองว่า การขี่มอเตอร์ไซค์ส่งบุตรหลานมาโรงเรียนในแต่ละวัน เป็นระยะทางที่ใกล้ๆ ส่วนใหญ่จึงไม่สนใจใส่หมวกนิรภัย แต่เนื่องจากเส้นทางมายังโรงเรียนนั้น ต้องผ่านทางแยกใหญ่ 3-4 จุด ทำให้เมื่อเกิดอุบัติเหตุจึงมักบาดเจ็บรุนแรง หรืออาจหนักถึงขั้นเสียชีวิต แต่ภายหลังพบว่าผู้ปกครองตระหนักถึงความสำคัญ โดยเฉพาะการสวมหมวกนิรภัย เพราะทุกคนเห็นภาพชัดเจนว่า เมื่อเกิดอุบัติเหตุโดยเฉพาะเวลารถล้มหากศรีษะกระแทกกับของแข็งหรือพื้น เกิดบาดแผลน่ากลัวเหมือนลูกแตงโมแตก


20191216_102754.jpg

สสส.หนุนสร้างความปลอดภัยทางถนนในศูนย์พัฒนาเด็กเล็กฯ ขยายเพิ่มอีก 2 ศูนย์

ส่วนการดำเนินงานสร้างความปลอดภัยจากอุบัติเหตุที่โรงเรียนเทศบาล 4 พระเจ้าองค์ตื้อ นายประชา กิจตรงศิริ รองนายกเทศมนตรีนครอุบลราชธานี เปิดเผยว่า สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เห็นความสำคัญของการสร้างความปลอดภัยทางถนนให้กับเด็กเล็ก และได้สนับสนุนงบประมาณ ถือเป็นการใช้เม็ดเงินที่ได้ประโยชน์อย่างเต็มที่ เพราะเข้าถึงชุมชนในการแก้ปัญหาจุดเสี่ยง และปรับเปลี่ยนพฤติกรรมขับขี่ ใช้รถใช้ถนนให้ปลอดภัยมากขึ้น ที่ผ่านมาเราเน้นฝึกอบรมให้ความรู้กับผู้ใหญ่ แต่ไม่ประสบความสำเร็จเท่าใดนัก จึงหันมาเน้นให้ความรู้กับเด็ก โดยมีต้นแบบจากประเทศแคนาดา แม้จะต้องใช้เวลาในช่วงเริ่มต้น แต่เชื่อว่าระยะยาว 5-10 ปีจากนี้ จะประสบผลสำเร็จ ทั้งนี้ได้จัดทำหลักสูตรจริงจังและขยายผล โดยขยายไปอีก 2 ศูนย์เด็กเล็ก และ ร.ร.ในเขตเทศบาล

“ในช่วงเริ่มต้นหนักใจว่าจะไม่สำเร็จ แต่ปรากฏว่าได้ผลดีมากเกินคาด ครู ผู้ปกครอง และตัวเด็กเอง ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี ซึ่งในระยะต่อไปเทศบาลพร้อมจะขยายโครงการนี้ ไปยังศูนย์เด็กเล็กแห่งอื่นมากขึ้น โดยผู้บริหารได้บรรจุเป็นแผนดำเนินงานในระยะต่อไป” นายประชา กล่าว


IMG_20191216_101741_HDR.jpg

ปรับพฤติกรรมเด็กส่งต่อไปยังผู้ปกครอง

ด้าน น.ส.กาญจนา ทองทั่ว หัวหน้าภาคโครงการขยายผลศูนย์พัฒนาเด็กเล็กต้นแบบสู่โรงเรียนความปลอดภัยทางถนนโดยการมีส่วนร่วมของชุมชนและองค์การบริหารส่วนท้องถิ่น และ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาชุมชนท้องถิ่น จ.อุบลราชธานี กล่าวว่า ศูนย์เด็กแห่งนี้เป็นจุดเริ่มต้นโครงการต้นแบบความปลอดภัยทางถนนโดยมีส่วนร่วม วางเป้าหมายว่าจะทำอย่างไรให้ศูนย์เด็กเล็กเป็นต้นแบบของชุมชน จึงเน้นปลูกฝังพฤติกรรมที่ถูกต้อง โดยในระยะแรกพบว่าประสบความสำเร็จอย่างดี ทั้งในด้านลดพฤติกรรมเสี่ยง บรรจุหลักสูตรการเรียนการสอน และปรับปรุงจุดเสี่ยงในพื้นที่ ภาคอิสานจุดเด่นด้านการจัดการเรียนการสอน ออกแบบโดยเชื่อมโยง แผนการเรียนการสอนชุดประสบการณ์ 5 วัน 6 กิจกรรมหลัก ส่งผลต่อการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเด็ก และยังส่งต่อไปยังผู้ปกครองด้วย

“เงิน 300 บาท ในการซื้อหมวกนิรภัยให้ลูก ในบางครอบครัวถือเป็นค่าใช้จ่ายที่สูงเหมือนกัน แต่ด้วยความร่วมมือจากหน่วยงานต่างๆ และพ่อค้า แม่ค้า ผู้ประกอบการ ได้เกิดเป็นการบริจาคเพื่อซื้อหมวกกันน็อกให้เด็กๆ ” น.ส.กาญจนา กล่าว 


20191216_080625.jpg

นำความสูญเสียมาถ่ายทอดเพื่อเป็นแรงบันดาลใจแก้ปัญหา

ขณะที่นางพิณผกา แก่นอาษา หัวหน้าศูนย์พัฒนาเด็กเล็กพระเจ้าใหญ่องค์ตื้อ กล่าวว่า สิ่งที่ทำให้เกิดแรงบันดาลใจ เพราะเด็กเคยประสบอุบัติเหตุหน้าโรงเรียน ในปีการศึกษา 2560 เมื่อได้รับงบประมาณสนับสนุนโครงการความปลอดภัยทางถนนในศูนย์เด็กเล็ก ให้งบประมาณพัฒนาหลักสูตรและพัฒนาสื่อการเรียนการสอนของเราเอง โดยสอดแทรกในหลักสูตรสาระการเรียนรู้ความปลอดภัยทางถนน และได้รับแรงจากพี่เลี้ยงจากสถาบันราชภัฎอุบลราชธานี เข้ามาส่งเสริมการเรียนรู้ หลังดำเนินการ 1 ปี เกิดผลโดยตรง เด็กเข้าใจการดูแลตนเองให้ปลอดภัย ซึ่งส่งผลต่อไปยังผู้ปกครองกลับไปบ้าน มีการสื่อสารกับพ่อแม่ ในเรื่องการปฎิบัติตามกฎจราจร ขณะนี้เราได้พัฒนาเป็นแหล่งเรียนรู้และต้นแบบถ่ายทอดความรู้ รวมถึงยังสามารถส่งนวัตกรรมสื่อการเรียนการสอนไปยังศูนย์เด็กเล็กอื่นๆ ด้วย

“เราสอนเด็กเล็กตามหลักสูตรแกนกลางอย่างเดียวไม่เพียงพอ เพราะในกลุ่มสาระการเรียนรู้มีแค่เรื่องปลอดภัยไว้ก่อนและเด็กดีมีวินัย แต่ไม่พูดถึงเรื่องกฎจราจรและความปลอดภัยทางถนน ซึ่งทั้งสองสิ่งถือเป็นสิ่งที่ต้องปลูกฝังให้เด็กเข้าใจ ซึ่งพฤติกรรมเหล่านี้จะติดตัวเมื่อเติบโตไปในอนาคต” นางพิณผกา กล่าว 


20191217_104936.jpg