วิจัยฉบับหนึ่ง ซึ่งตีพิมพ์ใน Nature Climate Change วารสารวิทยาศาสตร์รายเดือน ระบุว่า เด็กหญิงอายุ 10-14 ปี เป็นกลุ่มที่สามารถโน้มน้าวใจคนรุ่นพ่อ รุ่นแม่ ให้หันมาสนใจปัญหาการเปลี่ยนแปลงทางสภาพอากาศ และตระหนักว่ามนุษย์คือต้นเหตุของปัญหาได้ดีที่สุด และดีกว่าการโน้มน้าวของผู้เชี่ยวชาญ หรือนักข่าวเสียด้วยซ้ำ
วิจัยฉบับดังกล่าว ทำการศึกษาโดยนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยนอร์ธ แคโรไลนาสเตต โดยสำรวจผ่านเด็กอเมริกัน 238 คน อายุ 10-14 ปี และพ่อ-แม่ของพวกเขา โดยเด็กๆ เข้ารับหลักสูตรอบรมการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ โดยมุ่งเน้นการให้ความรู้แบบผสมผสานจากนักนิเวศวิทยา นักวิชาการ และนักวิทยาศาสตร์ ก่อนเด็กๆ กลุ่มนั้นจะแชร์ความรู้เหล่านั้นให้ผู้ปกครองของพวกเขาอย่างน้อย 1 คน จากนั้นนักวิจัยจะวิเคราะห์ว่า พ่อและแม่ของเด็กๆ มีความตระหนักถึงปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแตกต่างกันระหว่างช่วงก่อนและหลังการพูดคุยกับเด็กๆ หรือไม่ อย่างไร
"มันได้ผลนะคะ โดยเฉพาะกับพ่อ-แม่ที่ก่อนหน้านี้ไม่ค่อยสนใจอะไรเกี่ยวกับปัญหาการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศเลย และมันได้ผลมากๆ หากเด็กคนนั้นเป็นลูกสาว" แดเนียล ลอว์สัน หัวหน้าคณะวิจัย ระบุ
คณะวิจัย ให้เหตุผลเสริมว่า ผู้ปกครองจะรับฟังและเปิดกว้างมากขึ้นเมื่อคนที่เข้ามาพูดคุยคือลูกของพวกเขา เพราะผู้ปกครองส่วนใหญ่เชื่อว่าลูกของพวกเขา 'เป็นกลาง' และความสัมพันธ์ของพ่อ-แม่ กับลูกๆ เป็นความสัมพันธ์ที่อาศัยความไว้เนื้อเชื่อใจเป็นหลัก
"เด็กๆ สร้างความเปลี่ยนแปลงได้ในการสื่อสาร ซึ่งเราอาจจะไม่สามารถเห็นความเปลี่ยนแปลงนี้ได้ในการสื่อสารประเภทอื่นๆ" ลอว์สัน กล่าว
ส่วนเหตุผลว่าทำไม เด็กผู้หญิง สามารถโน้มน้าวใจได้มากกว่า ลอว์สันสันนิษฐานว่า เป็นเพราะในช่วงขวบวัย 10-14 ปี เป็นช่วงที่เด็กหญิงมีความสามารถในการสื่อสาร พูดคุยมากกว่า
ลอว์สันยอมรับว่า เด็กๆ อาจจะเป็นผู้ส่งสาส์นได้ดีที่สุดในเรื่องเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ วิจัยระบุว่า ปัจจัยที่ทำให้เด็กๆ สนใจเกี่ยวกับปัญหาดังกล่าว เป็นเพราะพวกเขาเติบโตมาในยุคที่ได้รับผลกระทบจากสิ่งแวดล้อมต่างๆ อย่างชัดเจน และด้วยอายุที่ยังน้อย พวกเขาจึงยังไม่มีอคติต่อประเด็นต่างๆ เหมือนดังเช่นผู้ใหญ่ ที่มักจะเชื่อฝังใจในหลายๆ เรื่อง ทำให้ไม่เปิดรับข้อเท็จจริงที่ไม่สอดรับต่อโลกทัศน์หรืออุดมการณ์ทางการเมืองของตนเอง
ซัลมา ราฟี เด็กหญิงจากแวนคูเวอร์ แคนาดา วัย 15 ปี คือหนึ่งในเด็กที่พยายามโน้มน้าวให้พ่อ-แม่ของเธอให้ความสำคัญกับการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ และอยากให้เข้าใจว่า คนในยุคของเธอ จะเผชิญหน้ากับอะไรบ้างในอนาคตหากมนุษย์ไม่เปลี่ยนแปลงนิสัยและการใช้ชีวิต
"พ่อของฉันสนใจนะคะ ว่าอะไรเกิดขึ้นกับโลกของเรา แต่เขาไม่เข้าใจคอนเซ็ปต์ว่าทำไมมันเกิดขึ้น และไม่ตระหนักว่ามันเกิดเพราะฝีมือมนุษย์น่ะค่ะ" ราฟี บอก
แม้ว่าในวัยนี้ เธอจะไม่สามารถโหวตเพื่อเปลี่ยนแปลงประเทศหรือสังคมได้ แต่ในฐานะลูกคนหนึ่ง เธอสามารถพูดคุยกับพ่อ-แม่ของเธอ เพื่อให้พ่อ-แม่ของเธอเปลี่ยนความคิดได้ ซึ่งมันสามารถนำไปสู่แอคชั่นทางการเมืองได้จริง
ในระยะหลัง ปัญหาการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศส่งผลกระทบไปทั่วโลก ทั้งน้ำท่วม สึนามิ การละลายของน้ำแข็งทั่วโลก ตลอดจนพายุหิมะที่กินระยะเวลากว่าเดือน แบบที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญหลายแขนงออกมาให้ความรู้และเรียกร้องต่อสาธารณะชน โลกก็ได้เห็นปรากฏการณ์การขับเคลื่อนเพื่อต่อสู้กับปัญหาด้านสภาพอากาศจากกลุ่มเยาวชนทั่วโลกด้วยเช่นกัน
เกรต้า ทุนเบิร์ก ชาวสวีดิช วัย 16 ปี คือหนึ่งในเยาวชนที่สร้างแรงกระเพื่อมให้คนหันมาสนใจปัญหาสภาพการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ และเป็นข่าวดังระดับโลกหลังจากเธอได้ขึ้นเวที เวิลด์ อีโคโนมิกส์ ฟอรัม (WEF) ปาฐกถาเรียกร้องให้ผู้นำทั่วโลกสนใจปัญหานี้อย่างจริงจัง ก่อนหน้านี้ เธอโดดเรียนมานั่งชูป้ายประท้วงหน้ารัฐสภากรุงสตอกโฮล์มทุกวัน เพื่อให้ผู้บริหารประเทศหันมาให้ความสำคัญกับโลก ที่พวกเธอและคนรุ่นถัดไป จะต้องใช้ชีวิตอยู่ไปอีกนานแสนนาน
หลังจากนั้น นักเรียนในหลายประเทศก็ได้โดดเรียน ออกมาเดินขบวนประท้วงบนท้องถนน อาทิ นักเรียนในแคนาดา และสหราชอาณาจักร ขณะที่นักเรียนในสหรัฐอเมริกาก็ยื่นฟ้องรัฐบาลกลาง ด้วยเหตุผลว่ารัฐบาลไม่ได้ดำเนินการอย่างจริงจังเพื่อระงับปัญหาโลกร้อน
ที่มา :