นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี อดีตผู้ร่วมก่อตั้งโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า หรือ 30 บาทรักษาทุกโรค โพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊ก วิเคราะห์สถานการณ์หลังจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน เพื่อยับยั้งการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 โดยระบุในหัวข้อ แนวรบโควิด-19 ว่าด้วยคณิตศาสตร์โควิดและ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ว่า
1) โรคโควิด-19 เป็นโรคใหม่ เพิ่งอุบัติขึ้นในโลกของมนุษย์ได้เพียง 4 เดือน ความรู้เกี่ยวกับโควิดจึงมีน้อยมาก ต้องเรียนผิดเรียนถูก ไม่มีใครรู้จริง เราทุกคนต่างเป็นนักเรียนน้อย เพียงแต่บางคน บางประเทศ ต้องจ่ายค่าเล่าเรียนด้วยราคาแพง
2) การทำนายอัตราการป่วยของโควิดมีหลายโมเดล แต่การทำนายด้วยกราฟเส้นตรงโดยใช้อัตราเพิ่มเป็นเปอร์เซ็นต์ เป็นการทำนายที่คร่าวๆ ที่สุด ไม่มีหลักเกณฑ์ทางระบาดวิทยา ไม่มีการนำตัวแปรต่างๆ มาประกอบการทำนาย เช่น วัฒนธรรม เศรษฐศาสตร์พฤติกรรม ความตื่นตัวในการป้องกันและควบคุมโรค ฯลฯ มาประกอบการพิจารณาดังนั้นจึงมีความเป็นไปได้ แต่ก็มีโอกาสผิดพลาด
3) ตัวเลขการทำนายจำนวนผู้ป่วยที่ปรากฎออกมาในช่วงต้นสัปดาห์ ทำให้เกิดความตื่นตระหนก เพราะทำนายว่า ในวันที่ 15 เมษายน หากเราไม่ทำอะไร จะมีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น 33 เปอร์เซ็นต์ ทุกวัน และมีผู้ป่วยโควิด 350,000 คน ตาย 7,000 คน หากร่วมกันอยู่บ้าน ใช้มาตรการแรง จะมีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น 20 เปอร์เซ็นต์ ทุกวัน และมีผู้ป่วยโควิด 24,000 คน ตาย 485 คน
4) แต่ปรากฎว่า ตัวเลขผู้ป่วยใหม่ย้อนหลัง 4 วันที่กระทรวงสาธารณสุขแถลงออกมา มีประมาณ 100 รายเศษทุกวัน ไม่มีการเพิ่ม 20 เปอร์เซ็นต์ หรือ 33 เปอร์เซ็นต์แต่อย่างใด
ยกเว้นวันที่มีผู้ป่วยใหม่กว่า 180 รายเกิดขึ้น ทั้งนี้เป็นเพราะมีการเปลี่ยนเกณฑ์ในการวินิจฉัยผู้ป่วย จากที่เคยต้องยืนยันด้วยการตรวจเชื้อ 2 ครั้ง เปลี่ยนเป็นยืนยันด้วยการตรวจเชื้อเพียงครั้งเดียว ทำให้ตัวเลขพุ่งสูงขึ้นมากในวันนั้นเพราะเป็นการเอาตัวเลข 2 วันมารวมกัน แต่หลังจากนั้น จำนวนผู้ป่วยใหม่ก็ลดลงมาเหลือวันละ 100 กว่าๆ เล็กน้อยติดต่อกันมา
5) หากลองคำนวณว่า มีจำนวนผู้ป่วยใหม่เพิ่มขึ้นประมาณ 100-120 คนทุกวัน จนถึง 15 เมษายน จะมีผู้ป่วยสะสมประมาณ 3,000-3,500 คน และถ้ามีผู้เสียชีวิตที่อัตรา 2% จะเท่ากับเสียชีวิต 60-70 คน
6) ตัวเลขในข้อ 5 ไม่ต่างนักจากที่นักระบาดวิทยาของกรมควบคุมโรคเคยทำนายไว้ว่า ผู้ป่วยสะสมก่อนวันสงกรานต์ 2563 จะเท่ากับประมาณ 2,500 คน
7) ประเทศไทยควบคุมโรคโควิดได้ผลดีมาตลอดตั้งแต่เดือนมกราคมและกุมภาพันธ์ 2563 จนเคยมีการตั้งคำถามว่า กระทรวงสาธารณสุขปิดบังตัวเลขหรือไม่ ซึ่งผมเชื่อว่าไม่เป็นเช่นนั้น เพราะมั่นใจในความเป็นมืออาชีพของนักระบาดวิทยาในกรมควบคุมโรค
8) จุดเปลี่ยนของสถานการณ์โควิดในไทย เริ่มต้นจากเวทีมวยลุมพินีเมื่อวันที่ 6 มีนาคม ซึ่งเกิด Super Spreader คล้ายกับผู้ป่วยรายที่ 31 ของเกาหลีใต้ และนำมาซึ่งจำนวนผู้ติดเชื้อมากมายหลังจากนั้น
9) เราโชคดีที่คุณแมทธิว ดีน ซึ่งได้รับเชื้อ และเปิดเผยว่า ตนเป็นโรคโควิดทันทีที่มีการยืนยันผลเมื่อวันที่ 13 มีนาคม ทำให้มีการสอบสวนโรคย้อนกลับไปถึงผู้ร่วมอยู่ในเหตุการณ์วันนั้น และสะกัดกั้นการแพร่ระบาดได้ผลพอสมควร เร็วกว่าที่เกิดขึ้นในกรณี Super Spreader ของเกาหลีใต้
10) สถานการณ์โควิดในไทยวันนี้ จึงคล้ายคลึงกับเกาหลีใต้ ดังนั้น น่าศึกษาวิธีการที่เกาหลีใต้ใช้ในการควบคุมโรคโควิด ว่าเขาใช้วิธีอะไรบ้าง
11) เกาหลีใต้เน้นอยู่ 4 เรื่องคือ ก. การตรวจคัดกรองหาผู้ป่วยถึงกว่า 300,000 คน ข. การกักตัวกลุ่มเสี่ยงติดเชื้อ 14 วัน ค. การปูพรมค้นหาผู้สัมผัสใกล้ชิดผู้ป่วย ง. Social distancing โดยไม่มีการปิดเมือง ยกเว้นเมืองแทกู ซึ่งเป็นแหล่งระบาดของโรคโควิด ไม่ห้ามการสัญจรระหว่างเมือง ไม่มีเคอร์ฟิว แต่เน้นเรื่องการใส่หน้ากากและการล้างมืออย่างจริงจัง
12) มาตรการที่สำคัญยิ่งของเกาหลีใต้อีกประการหนึ่งคือ การเปิดเผยข้อมูลอย่างโปร่งใส ให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการแสดงความเห็น
13) หากพิจารณาจากมาตรการต่างๆที่เกาหลีใต้ทำ มาตรการเหล่านั้นสามารถปฎิบัติการอย่างจริงจังด้วยพระราชบัญญัติโรคติดต่อ โดยไม่จำเป็นต้องอาศัยอำนาจตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน
14) ที่น่าเป็นห่วงคือ พ.ร.ก.ฉุกเฉินอาจสร้างบรรยากาศแห่งความกลัว ทำให้สื่อมวลชนและประชาชนไม่กล้าแสดงความเห็น, ประชาชนไม่กล้าแจ้งเหตุที่ตนกังวลและต้องการให้รัฐบาลแก้ไข, ประชาชนไม่กล้าร้องเรียนปัญหาที่พบเห็นในการควบคุมโรค การร้องเรียนแบบที่เกิดขึ้นก่อนหน้านี้ในเรื่องหน้ากากอนามัยยังจะทำได้หรือไม่, แพทย์และโรงพยาบาลจะยังแจ้งความเดือดร้อนผ่านสื่อสังคมออนไลน์ได้หรือไม่, ประชาชนจะร้องเรียนเรื่องการปฎิบัติงานที่หละหลวมของเจ้าหน้าที่ได้หรือไม่
"ตัวอย่างที่เกิดขึ้นแล้วคือ กรณีการโพสต์เรื่องปัญหาการขาดประสิทธิภาพในการคัดกรองผู้เดินทางเข้ามาที่สนามบินสุวรรณภูมิ แทนที่ผู้โพสต์จะถูกจับ แต่เขาควรได้รับคำขอบคุณ หรือได้รางวัลด้วยซ้ำไปมิใช่หรือ รัฐบาลไม่ต้องจ้างผู้ตรวจสอบ (Auditor) แต่มีประชาชนช่วยตรวจสอบไม่ดีกว่าหรือ"
15) ผลกระทบทางเศรษฐกิจจะยิ่งรุนแรงขึ้น ถ้ามีการบังคับใช้มาตรการเคอร์ฟิว มาตรการห้ามเดินทางระหว่างเมือง หรือมาตรการอื่นๆที่ทำให้วิถีชีวิตของผู้คนต้องเปลี่ยนแปลงอย่างมากมายในช่วงเวลายาวนานถึง 36 วัน (นานกว่าระยะเวลา 22 วันที่ปิดโรงเรียน ร้านค้า ศูนย์การค้า ซึ่งส่งผลกระทบทางเศรษฐกิจมากอยู่แล้ว และ พ.ร.ก.ฉุกเฉินยังใช้บังคับหลังจากสิ้นสุดการปิดโรงเรียน มหาวิทยาลัย ศูนย์การค้า ห้างร้านต่างๆ อีกถึง 18 วัน)
16) สิ่งสำคัญยิ่งกว่าที่รัฐบาลต้องทำคือ การรณรงค์ Social Distancing อย่างจริงจัง, การจัดหาหน้ากากให้ประชาชนทุกคนได้ใช้ระหว่าง 22 วันที่ปิดทำการแหล่งชุมชนต่างๆ, การจัดหาแอลกอฮอล์เจลเพื่อล้างมือให้ประชาชนหาซื้อได้อย่างสะดวก, การตรวจคัดกรองผู้ป่วยอย่างจริงจังกว้างขวาง โดยลดหย่อนเกณฑ์ในการตรวจ PCR, การปูพรมค้นหาผู้เสี่ยงต่อการรับเชื้อและให้กักกันตัวเอง 14 วัน มาตรการข้างต้นนี้เท่านั้นที่ต้องใช้อย่างจริงจังและต่อเนื่อง ไม่ใช่เคอร์ฟิว ไม่ใช่การห้ามสัญจรระหว่างจังหวัด ซึ่งไม่ได้ผลนักในการควบคุมโรค และไม่สามารถทำได้ต่อเนื่องยาวนาน
ในชั้นนี้เห็นด้วยกับมาตรการ Mild Lockdown แบบที่ฮ่องกง, สิงคโปร์ และกรุงเทพมหานครทำก่อนประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน แต่ไม่เห็นด้วยกับ Massive Lockdown (หรือ ปิดเมือง) แบบที่อู่ฮั่นทำ
17. ถ้ารัฐบาลมีปัญหาประสิทธิภาพและเอกภาพในการทำงาน ก็เป็นปัญหาที่รัฐบาลต้องแก้ไขการบริหารจัดการภายในกันเอง แต่ไม่ใช่ด้วยการออก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน แล้วออกมาตรการที่อาจกระทบกับวิถีชีวิตและเศรษฐกิจของคนไทย 65 ล้านคน และการออก พ.ร.ก.ฉุกเฉินก็ไม่ได้เป็นหลักประกันว่า ปัญหาประสิทธิภาพในการควบคุมโรคจะได้รับการแก้ไข
18. โควิดไม่น่ากลัว ถ้าไม่ประมาทและป้องกันควบคุมอย่างถูกวิธี เหมือนที่ไต้หวัน ฮ่องกง สิงคโปร์ ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ ดำเนินการอยู่ แต่ที่น่ากลัวคือ
"ความไม่เข้าใจองค์ความรู้เรื่องโควิดของผู้รับผิดชอบ และการไม่ติดตามข้อมูลโควิดที่เปลี่ยนแปลงทุกวัน การรับมือโควิดอย่างสะเปะสะปะ ขาดการวางแผน และไร้ประสิทธิภาพ และการไม่รับฟังเสียงสะท้อนของประชาชน"
ข่าวที่เกี่ยวข้อง: