ไม่พบผลการค้นหา
กรมการค้าต่างประเทศชี้ ส่งออกข้าว ขั้นตอนไม่ยุ่ง ไม่มีการกำหนดโควต้า แต่ผู้ค้าต้องขึ้นทะเบียนเป็นผู้ส่งออก ย้ำหนุนผู้ผลิตข้าวอินทรีย์รายย่อย หลังผู้ส่งออกข้าวอินทรีย์จากเชียงรายโอดสารพัดอุปสรรคทำข้าวอินทรีย์ส่งออก ตัดพ้อรัฐไม่สนใจแก้ปัญหา

กรมการค้าต่างประเทศชี้แจงขั้นตอนส่งออกข้าว หลังเกิดความเข้าใจผิด ระบุแม้จะขายทีละไม่มาก หรือขายผ่านทางออนไลน์ ก็ต้องขึ้นทะเบียนเป็นผู้ส่งออก และไม่ได้มีขั้นตอนยุ่งยาก ย้ำการส่งออกข้าว ไม่มีการกำหนดโควต้า สามารถส่งไปที่ไหนก็ได้ทั่วโลก ยกเว้นตลาดสหภาพยุโรป (อียู) ที่มีโควตาพิเศษ เผยยังได้จัดสรรโควตาให้กับเกษตรกรที่ผลิตข้าวอินทรีย์ด้วย  

นายอดุลย์ โชตินิสากรณ์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยถึงกรณี 'แมคนีน่า ฟาร์ม' ซึ่งเป็นกลุ่ม Young Smart Farmer ที่ผลิตข้าวอินทรีย์ ได้ให้ข้อมูลว่าการส่งออกข้าวมีขั้นตอนยุ่งยาก และยังมีการกำหนดโควตาส่งออกข้าวนั้น

กรมฯ ขอชี้แจง ว่าหากต้องการที่จะส่งออกข้าวไปขายยังตลาดต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นการส่งออกครั้งละไม่มาก เช่น 10-20 กิโลกรัม หรือส่งออกผ่านช่องทางการสั่งซื้อออนไลน์ จะต้องดำเนินการตามที่กฎหมายกำหนด และต้องขึ้นทะเบียนเป็นผู้ส่งออก ซึ่งไม่ได้มีขั้นตอนที่ยุ่งยากแต่อย่างใด ยกเว้นกรณีที่ส่งออก โดยมิใช่เพื่อการค้าที่มีปริมาณไม่เกิน 20 กิโลกรัม กำหนดให้ไม่ต้องขออนุญาตส่งออกได้ 


"กรณีที่กลุ่มแมคนีน่า ฟาร์ม ได้มีการระบุว่า มีการส่งออกข้าวทางออนไลน์ครั้งละ 10-20 กิโลกรัม และไม่ต้องขึ้นทะเบียนเป็นผู้ส่งออก เพราะการขึ้นทะเบียนมีขั้นตอนยุ่งยาก กรมฯ ขอชี้แจงว่า เป็นการเข้าใจที่ไม่ถูกต้อง เพราะการส่งออกดังกล่าว เป็นการทำเพื่อการค้า ต้องขึ้นทะเบียนให้ถูกต้อง และไม่ได้ยุ่งยากอะไร" นายอดุลย์ กล่าว


ส่วนกรณีที่มีการระบุว่า มีการกำหนดโควตาส่งออกข้าวให้กับผู้ส่งออกรายใหญ่ กรมฯ ขอยืนยันว่า การส่งออกข้าวไปต่างประเทศ ไม่มีการกำหนดโควตาส่งออกแต่อย่างใด ผู้ส่งออกสามารถส่งออกข้าวไปขายได้ทุกประเทศทั่วโลก โดยไม่จำกัดชนิดและปริมาณ ยกเว้นการส่งออกข้าวไปยังสหภาพยุโรป (อียู) ที่มีการลดภาษีเป็นพิเศษ ซึ่งได้มีการกำหนดวิธีการในการจัดสรรโควตาให้แก่ผู้ประกอบการชัดเจน และในปี 2561 ก็ได้มีการนำโควตาข้าวอียูบางส่วนมาจัดสรรให้กับผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการเชื่อมโยงตลาดข้าวอินทรีย์ ซึ่งเป็นการเชื่อมโยงให้กับชาวนาทั่วไปที่จับกลุ่มแปลงอินทรีย์ให้สามารถส่งออกข้าวไปยังอียูได้ โดยกลุ่มชาวนาที่จะเป็นผู้ส่งออกสามารถจดทะเบียนเป็นผู้ส่งออกได้เช่นกัน และมีกลุ่มที่มีความเข็มแข็งได้มาขอขึ้นทะเบียนเป็นผู้ส่งออกข้าวแล้ว

สำหรับการเชื่อมโยงตลาดข้าวอินทรีย์ เป็นหนึ่งในแนวทางการขยายตลาดส่งออกให้กับเกษตรกรที่ผลิตข้าวที่มีคุณภาพตามที่รัฐบาลสนับสนุน ซึ่งมีเกษตรกรและกลุ่มชาวนาเข้าร่วมโครงการเป็นจำนวนมาก และช่วยให้เกษตรกรมีรายได้ที่ดีขึ้นกว่าปีที่ผ่านมา หากกลุ่มแมคนีน่า ฟาร์ม ที่เป็นผู้ผลิตข้าวอินทรีย์ และได้รับการรับรองมาตรฐาน USDA สนใจ ก็สามารถเข้าร่วมโครงการได้ 

ทั้งนี้ ขอเเนะนำให้หาตลาดก่อนการผลิต ซึ่งเป็นแนวทางที่รัฐบาลสนับสนุนตามหลักตลาดนำการผลิต (Demand driven) โดยสามารถช่วยเชื่อมโยงตลาดให้ล่วงหน้า

เผยสารพัดอุปสรรคส่งออก 'ข้าวอินทรีย์'

ด้านนางสาวขวัญชนกและนางสาวเชษฐกานต์ เหล่าสุนทร เจ้าของแมคนีน่าฟาร์ม จ.เชียงราย เปิดเผยกับ 'วอยซ์ ออนไลน์' ว่า ปัญหาที่เกิดขึ้น มาจากหลังเข้าร่วมโครงการข้าวอินทรีย์กับกรมการข้าว สำหรับการปลูกข้าวอินทรีย์รอบปี 2559/2560 ซึ่งเป็นการทำงานร่วมกับเกษตรกรผู้ปลูกข้าวอินทรีย์ กว่า 100 ครัวเรือน ครอบคลุม 11 อำเภอ ในจ.เชียงราย มีพื้นที่ปลูกข้าวรวมทั้งสิ้น 2,000 ไร่ ได้ผลผลิตประมาณ 400 ตัน 

จึงมีแผนส่งออกข้าวให้กับลูกค้า ซึ่งมีคำสั่งซื้อ (ออเดอร์) มาเรียบร้อยแล้ว แต่พอจะส่งออกกลับพบปัญหาว่า ส่งออกข้าวไม่ได้ ทั้งที่ ได้จดทะเบียนทำเอกสารขออนุญาตส่งออกข้าว รวมทั้งจ่ายเงินร่วม 1 แสนบาทเพื่อทำเรื่องเกณฑ์มาตรฐานข้าวอินทรีย์ตามที่ตลาดในต่างประเทศกำหนด แต่กลับมาพบอุปสรรคว่า บริษัทขาดคุณสมบัติสำหรับการส่งออกข้าวล็อตดังกล่าวตามเกณฑ์ของกรมการค้าต่างประเทศ จนทำให้ต้องขอยกเลิกออเดอร์ลูกค้าไว้ก่อน เพราะไม่ต้องการถูกขึ้นแบล็กลิสต์ส่งมอบสินค้าไม่ได้


"เรามีความตั้งใจทำโครงการข้าวอินทรีย์ เพื่อยกระดับเกษตรกรในจ.เชียงราย ให้เปลี่ยนนาอินทรีย์ เราเข้าร่วมโครงการของรัฐ ทำทุกอย่างถูกต้อง แต่กลับมาพบว่า ขาดคุณสมบัติเพราะยอดส่งออกข้าวไม่ถึง 10 ล้านบาทต่อปี ทำให้ส่งออกไปตามออเดอร์ของลูกค้าที่มีไม่ได้ ใช้เวลาอยู่หลายเดือนตั้งแต่ปลายปี 2560 ที่ผ่านมา เพื่อติดต่อกับเจ้าหน้าเกษตรจังหวัด พาณิชย์จังหวัด รวมถึงที่กระทรวงพาณิชย์ สนามบินน้ำ แต่กลับไม่มีผลอะไรเลย" นางสาวเชษฐกานต์ กล่าว


ด้านนางสาวพรธิดา วงศ์ภัทรกุล ประธานเจ้าหน้าที่การตลาด และผู้ร่วมก่อตั้ง บริษัท สยาม ออแกนนิก จำกัด ผู้ผลิตข้าวอินทรีย์แบรนด์ 'JASBERRY' กล่าวว่า จากประสบการณ์ผู้ส่งออกข้าวอินทรีย์บรรจุถุง บริษัทมีใบอนุญาตค้าข้าวสำหรับการส่งออกในกรณีที่เป็นข้าวบรรจุถุง ไม่ต่ำกว่า 20 กิโลกรัม ซึ่งมีค่าธรรมเนียมปีละ 2 หมื่นบาท และไม่เคยประสบปัญหาการส่งออกไม่ได้ หรือถูกจำกัดเรื่องโควต้า นอกเสียจากผู้นำเข้า ซึ่งเป็นคู่ค้าปลายทางมีโควต้า ก็เป็นเรื่องของฝั่งคู่ค้า 

อย่างไรก็ตาม คาดว่า ปัญหาที่เกิดขึ้น อาจเป็นเพราะผู้ผลิตข้าวอินทรีย์รายดังกล่าว มีการส่งเป็นข้าวแบบยกกอง (บราวซ์) ก็จะมีใบอนุญาตอีกประเภทหนึ่ง ซึ่งในกรณีผู้ผลิตข้าวส่งออกรายย่อยๆ ก็จะไม่ใช่วิธีส่งออกแบบยกกองแบบนั้น เพราะควบคุมคุณภาพข้าวไม่ได้ นอกจาก มีผู้ส่งออกรายใหญ่ที่ส่งยกกองและทำเป็นข้าวอินทรีย์ด้วย จึงจะขอส่งออกพ่วงไป ซึ่งก็จะมีค่าใช้จ่ายขั้นต่ำ อาทิ ร้อยละ 0.05 ของปริมาณข้าวทั้งหมดที่ส่งออก เป็นต้น 

ข่าวเกี่ยวข้อง :