ไม่พบผลการค้นหา
การประกวดมิสยูนิเวิร์สปีนี้สิ้นสุดลงแล้ว แต่ดราม่าที่ตามมายังไม่จบ รวมถึงการวิพากษ์วิจารณ์สิ่งละอันพันละน้อยจากเวทีประกวด หนึ่งในหัวข้อที่คนทั่วโลกสนใจก็คือสัญลักษณ์สำคัญที่สุดของงานอย่าง "มงฯ" ที่ปีนี้เราได้เห็นการกลับมาของมงกุฎมิกิโมโตอันโด่งดัง ไปดูกันว่าที่ผ่านมา มงกุฎมิสยูนิเวิร์สเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร จากสัญลักษณ์ของราชวงศ์มาสู่กลไกธุรกิจ

มงกุฎมิกิโมโตที่กลับมาประดับศีรษะมิสยูนิเวิร์สอีกครั้งในปีนี้ นับตั้งแต่ใช้ครั้งสุดท้ายเมื่อปี 2007 กลายเป็นประเด็นที่ทำให้แฟนนางงามกล่าวถึงแทบจะเท่าๆกับนางงามที่ได้รับมงกุฎ เพราะโดยปกติ มงกุฎมิสยูนิเวิร์สจะเปลี่ยนไปเรื่อยๆ ไม่กลับไปใช้ของเก่าอีก 

นับตั้งแต่ปี 2014 มีการเปลี่ยนมือผู้จัดการประกวดจากบริษัทของโดนัลด์ ทรัมป์ มาสู่ IMG จึงมีการเปลี่ยนมาใช้มงกุฎจาก Diamond International Corporation (DIC) บริษัทสัญชาติเช็ก ซึ่งได้รับฉายาว่า "มงกุฎเฟรนช์ฟราย" หรือ "มงกุฎทรัมป์ทาวเวอร์" เนื่องจากได้รับแรงบันดาลใจจากอาคารสำนักงานใหญ่มิสยูนิเวิร์สในนิวยอร์ก ปรากฏว่า IMG ได้ยกเลิกสัญญาและฟ้องร้อง DIC ฐานละเมิดสัญญา ไม่จ่ายเงิน 2 งวด จึงมีการเปลี่ยนนำมงกุฎเก่ากลับมาใช้ และมงกุฎที่ IMG เลือก ก็เป็นมงกุฎที่ว่ากันว่าเป็นหนึ่งในมงกุฎที่สวยงามที่สุดในประวัติศาสตร์มิสยูนิเวิร์สอย่างมิกิโมโต 

มงกุฎมิกิโมโตออกแบบโดยบริษัทไข่มุกชื่อดังของญี่ปุ่น มิกิโมโต รูปทรงสื่อถึงขนนกฟีนิกส์ สัญลักษณ์แห่งความอมตะและอำนาจ ตัวเรือนประดับด้วยเพชร 500 เม็ด หนักรวมเกือบ 30 กะรัต และไข่มุกมิกิโมโตกับอาโกยา 120 เม็ด ขนาด 3-18 มิลลิเมตร ราคารวม 250,000 ดอลลาร์ หรือ 8.15 ล้านบาท โดยมงกุฎนี้เคยใช้เมื่อปี 2002-2007 

มงกุฎทรัมป์ เปีย วูร์ทซบัค 2015.jpg

เปีย วูร์ทซบัค มิสยูนิเวิร์สปี 2015 จากฟิลิปปินส์ โด่งดังจากดราม่าประกาศรางวัลผิดโดยสตีฟ ฮาร์วี พิธีกร ที่ทำให้ต้องมีการปลดมงกุฎที่สวมให้มิสโคลอมเบียแล้ว กลับมาให้เจ้าของรางวัลที่แท้จริง

แต่มิกิโมโตไม่ใช่มงกุฎที่แพงที่สุดในประวัติศาสตร์มงกุฎมิสยูนิเวิร์ส เพราะมงกุฎเฟรนช์ฟราย ซึ่งประกอบด้วยโทปาซ 5 เม็ด และแซฟไฟร์ 198 เม็ด ราคาสูงถึง 300,000 ดอลลาร์ หรือ 9.78 ล้านบาท 

มงกุฎสันติภาพ โอลิเวีย คัลโป 2012.jpg

โอลิเวีย คัลโป มิสยูนิเวิร์สปี 2012 จากสหรัฐฯ

ขณะที่มงกุฎก่อนหน้า ที่ใช้ตั้งแต่ปี 2009-2013 เป็นมงกุฎที่ไม่ปรากฏราคาที่แน่ชัด แต่มีคุณค่า เนื่องจากเป็นครั้งแรกและครั้งเดียวที่มีการเปิดให้คนทั่วโลกร่วมโหวต โดยกองประกวดทำแบบมงกุฎ 3 แบบ ภายใต้ชื่อ "สันติภาพ" "เอกภาพ" และ "ความหวัง" โดยมงกุฎ "สันติภาพ" ได้รับเลือก มงกุฎนี้ถูกยกย่องว่าเป็นมงกุฎรุ่นรักสิ่งแวดล้อม เพราะอัญมณีเป็นวัสดุสังเคราะห์ทั้งหมด ส่วนทับทิมตรงกลางลายมงกุฎ เป็นสัญลักษณ์ว่ามิสยูนิเวิร์สให้ความสำคัญกับโรคเอดส์ ไม่มีการเปิดเผยราคา แต่ถือว่านี่คือหนึ่งในมงกุฎรุ่นขวัญใจแฟนนางงาม

มงกุฎเหล็กดัด ดายานา เมนโดซา 2008.jpg

ดายานา เมนโดซา มิสยูนิเวิร์สปี 2008 จากเวเนซุเอลา เป็นคนเดียวที่ได้สวมมงกุฎเวียดนาม ก่อนจะมีการเปลี่ยนมงกุฎเนื่องจากถูกแฟนนางงามวิจารณ์หนัก

ในขณะที่มงกุฎสันติภาพเป็นรุ่นที่ได้รับคำชื่นชม มงกุฎที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์หนักที่สุดคือรุ่นก่อนหน้า ที่ใช้ในปี 2008 เพียงปีเดียว มงกุฎนี้ถูกออกแบบโดยบริษัทจิวเวลรีเวียดนาม CAO Fine Jewelry ทำจากทองคำและทองคำขาว อัญมณีกว่า 1,000 เม็ด โดยมีเพชรกว่า 44 กะรัต ราคา 120,000 ดอลลาร์ หรือเกือบ 4 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม มงกุฎนี้ถูกมองว่าเล็กและไม่สวยงาม ไม่สมศักดิ์ศรีมิสยูนิเวิร์ส จนถูกขนานนามว่า "มงกุฎเหล็กดัด"

มงกุฎซาราห์ โคเวนทรี อาภัสรา หงสกุล 1965.jpg

อาภัสรา หงสกุล มิสยูนิเวิร์สปี 1965 เป็นมิสยูนิเวิร์สคนแรกของไทย หนึ่งในผู้ได้สวมมงกุฎในตำนานของซาราห์ โคเวนทรี

ส่วนมงกุฎที่ถือว่าเป็นมงกุฎในตำนานของมิสยูนิเวิร์ส คือมงกุฎที่ซาราห์ โคเวนทรี ดีไซเนอร์จิวเวลรีชื่อดังเป็นผู้ออกแบบ มงกุฎมีขนาดใหญ่ และตรงกลางเป็นสัญลักษณ์รูปผู้หญิงถือคฑา สัญลักษณ์แห่งอำนาจ ที่เป็นตราเอกลักษณ์ของเวทีมิสยูนิเวิร์ส มงกุฎนี้ใช้ในปี 1963-1972 ก่อนจะถูกอัพเกรด เปลี่ยนแปลงแบบเล็กน้อยให้โปร่งขึ้น และปรับขนาดได้ กลายเป็นมงกุฎรุ่นแชนเดอเลีย ใช้ตั้งแต่ปี 1973-2001 เป็นรุ่นที่ใช้ต่อเนื่อยาวนานที่สุด และได้รับการยกย่องว่าสวยที่สุด ก่อนที่การเปลี่ยนมงกุฎจะกลายเป็นเรื่องของการหาสปอนเซอร์ จนทำให้มีการเปลี่ยนแบบมงกุฎบ่อยครั้ง

มงกุฎแชนเดอเลียร์ ภรณ์ทิพย์ นาคหิรัญกนก 1988.jpg

ภรณ์ทิพย์ นาคหิรัญกนก มิสยูนิเวิร์สปี 1988 จากประเทศไทย เป็นหนึ่งในผู้ได้สวมมงกุฎแชนเดอเลียร์

มงกุฎที่เป็นอีกหนึ่งหมุดหมายสำคัญของอุตสาหกรรมนางงาม ก็คือ "มงกุฎไรน์สโตน" ที่ใช้ในปี 1961-1962 ทำขึ้นในวาระครบรอบ 10 ปีของการประกวดมิสยูนิเวิร์ส เป็นครั้งแรกที่มงกุฎนางงามทำขึ้นจากพลอยเทียม หรือไรน์สโตนล้วนๆ และหลังจากนั้นก็มีการทำมงกุฎประกอบพลอยเทียมต่อกันมาจนเป็นธรรมเนียมปกติ

มงกุฎไรน์สโตน.JPG

นอร์มาน โนลาน มิสยูนิเวิร์สปี 1962 จากอาร์เจนตินา เป็นคนสุดท้ายที่ได้สวมมงกุฎไรน์สโตน

ก่อนหน้ามงกุฎไรน์สโตน มงกุฎนางงามถือเป็นการเลียนแบบมงกุฎของราชวงศ์ ต้องทำขึ้นจากอัญมณีล้ำค่าราคาแพง อย่างมงกุฎ "Star of the Universe" หรือ "ดวงดาวแห่งจักรวาล" ที่ใช้ในปี 1954-1960 ทำจากไข่มุกตะวันออกและไข่มุกดำกว่า 1,000 เม็ด ตัวเรือนเป็นแพลททินัมและทองคำ ประเมินกันว่ามีราคาสูงกว่า 500,000 ดอลลาร์ หรือ 16.3 ล้านบาท

มงกุฎดวงดาวแห่งจักรวาล 2.jpeg

อะกิโกะ โคะจิมะ มิสยูนิเวิร์สปี 1959 จากญี่ปุ่น เป็นมิสยูนิเวิร์สคนแรกที่มาจากเอเชีย เธอสวมมงกุฎดวงดาวแห่งจักรวาลอันล้ำค่า

มงกุฎทองแดง คริสตีน มาร์เทล 1953.jpg

คริสเตียน มาร์เทล มิสยูนิเวิร์สปี 1953 จากฝรั่งเศส เป็นคนเดียวที่ได้สวมมงกุฎทองแดง

ในทางตรงกันข้าม ก่อนหน้ามงกุฎอันแสนแพง มีการใช้มงกุฎที่ราคาถูกที่สุด และรูปทรงเป็นเอกลักษณ์ที่สุด ในปี 1953 คือมงกุฎทองแดง เป็นมงกุฎทรงเรียบทำจากทองแดง มีดาวประดับส่วนยอด โดยไม่มีอัญมณีใดๆประดับ 

มงกุฎโรมานอฟ อาร์มี กูเซลา 1952.jpg

อาร์มี กูเซลา มิสยูนิเวิร์สคนแรกของโลกชาวฟินแลนด์ สวมมงกุฎราชวงศ์โรมานอฟ ในปี 1952

มงกุฎอันเรียบง่ายอย่างที่สุดนี้ เป็นการปรับทิศทางของมิสยูนิเวิร์สอย่างชัดเจนหลังจากการประกวดปีแรก การมอบมงกุฎให้นางงามที่ชนะเลิศ เป็นการส่งเสริมการเป็น "ราชินีแห่งความงาม" โดยมอบมงกุฎให้เสมือนเป็นการยกย่องมิสยูนิเวิร์สเป็นราชินีจริงๆ มงกุฎที่มอบให้จึงเป็นของราชวงศ์โรมานอฟแห่งรัสเซีย อันทรงคุณค่า ประเมินค่ามิได้ ประกอบด้วยเพชร 1,529 เม็ด รวม 300 กะรัต หากประเมินราคาก็จะมากกว่า 500,000 ดอลลาร์ หรือ 16.3 ล้านบาท และเรื่องตลกร้ายก็คือนางงามคนเดียวที่ได้สวมมงกุฎราชวงศ์นี้ คือมิสฟินแลนด์ ประเทศที่เคยตกเป็นอาณานิคมของรัสเซียในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1

จากมงกุฎราชวงศ์โรมานอฟสู่มงกุฎของเหล่าสปอนเซอร์อย่างมิกิโมโต DIC หรือ CAO Fine Jewelry จะเห็นว่าการประกวดมิสยูนิเวิร์สค่อยๆปรับเปลี่ยนไป จากการเมืองไปสู่เกมธุรกิจ จนในปัจจุบัน การประกวดกลายเป็นกิจกรรมทางการตลาดที่สร้างมูลค่ามหาศาลจากทั้งค่าโฆษณาและสปอนเซอร์ทุกรูปแบบ