ไม่พบผลการค้นหา
ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ประกาศเรื่องถอดถอนสมณศักดิ์ จำนวน 7 รูป มีการกระทำทุจริตเกี่ยวโยงคดีเงินทอนวัด

เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ประกาศ เรื่อง ถอดถอนสมณศักดิ์โดยมี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นผู้รับสนองพระราชโองการ เนื้อหาในประกาศระบุว่า สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร มีพระราชโองการโปรดเกล้า โปรดกระหม่อมให้ประกาศว่า ด้วยปรากฏว่ามีกรณีพระภิกษุถูกกล่าวหาว่า กระทําการทุจริตและถูกดําเนินคดีอาญาในความผิดฐานสนับสนุนเจ้าพนักงานยักยอกทรัพย์และปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบหรือ

โดยทุจริตอาศัยอํานาจตามประมวลกฎหมายอาญา และความผิดฐานร่วมกันฟอกเงิน ตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 ตามความในมาตรา 5 ตรี แห่งพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. 2505 แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2535

จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ถอดถอนสมณศักดิ์ จํานวน 7 รูป ดังนี้

1. พระพรหมสิทธิ (ธงชัย สุขโข) วัดสระเกศ ราชวรมหาวิหาร

2. พระพรหมเมธี (จํานงค์ เอี่ยมอินทรา) วัดสัมพันธวงศาราม

3. พระพรหมดิลก (เอื้อน กลิ่นสาลี) วัดสามพระยา

4. พระราชอุปเสณาภรณ์ (สมณศักดิ์เดิมคือ พระเมธีสุทธิกร) (สังคม สังฆะพัฒน์) วัดสระเกศ ราชวรมหาวิหาร

5. พระราชกิจจาภรณ์ (สมณศักดิ์เดิมคือ พระวิจิตรธรรมาภรณ์) (เทอด วงศ์ชะอุ่ม) วัดสระเกศ ราชวรมหาวิหาร

6. พระอรรถกิจโสภณ (สมทรง อรรถกฤษณ์) วัดสามพระยา

7. พระศรีคุณาภรณ์ (บุญทวี คํามา) วัดสระเกศ ราชวรมหาวิหาร

ทั้งนี้ ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป ยกเว้นลําดับที่ 3, 5, 6 และ 7 ตั้งแต่วันที่ 24 พฤษภาคม 2561 ซึ่งเป็นวันที่ถูกจับกุมและสละสมณเพศ

ทั้งนี้ พันตำรวจโทพงศ์พร พราหมณ์เสน่ห์ ผู้อำนวยการสำนักพุทธศาสนา หรือ ผอ.พศ. ปฏิเสธการตอบคำถามถึงกรณีการเดินทางมารายงานเกี่ยวกับการกระทำผิด ของพระชั้นผู้ใหญ่ ต่อนายสุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี โดยระบุว่า ไม่สะดวกที่จะให้ในรายละเอียด ส่วนการสืบสวนสอบสวนคดีที่ผ่านมาทางสำนักงานพระพุทธศาสนาไม่ได้เกี่ยวของกับรูปคดีแต่อย่างใด เป็นเรื่องของเจ้าหน้าที่ตำรวจเป็นผู้ดำเนินการ

สำหรับสำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติหรือป.ป.ช ที่จะพิจารณาคดีเกี่ยวกับการกระทำผิดของพระชั้นผู้ใหญ่ในล็อตที่ 3 นี้ พันตำรวจโทพงศ์พร ระบุว่า ไม่ทราบในรายละเอียด แต่ได้มีการประสานขอพยานหลักฐาน ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่ควรยุ่งเกี่ยว และปฏิเสธการตอบคำถามการรายงานถึงพระชั้นผู้ใหญ่ เมื่อทางเจ้าหน้าที่ตำรวจร้องขอพยานหลักฐานมา

ด้าน นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายกฏหมาย กล่าวถึง ราชกิจจานุเบกษา ประกาศถอดสมณศักดิ์ พระสงฆ์ 7 รูป ที่ถูกดำเนินคดีเงินทอนวัด สามารถกลับมาบวชได้อีกหรือไม่นั้น ว่าการถอดสมณศักดิ์กับการบวชไม่เกี่ยวกัน ต้องแยกความผิดทางโลกกับทางธรรม ออกจากกัน เช่นการอยู่กับสีกาเป็นความผิดทางธรรม แต่ทางโลกไม่ผิด การสึกจะมีปัญหา เพราะกฏหมายใช้คำว่าบังคับให้สละสมณเพศ ไม่ใช่การสึก ไม่ใช่การสมัครใจ เอาไว้ต่อสู้เมื่อคดีพ้นไปแล้ว ส่วนสมณศักดิ์ เป็นเรื่องที่ได้รับพระราชทาน สามารถเรียกคืนได้ ที่เรียกว่าถอดถอน พระบางรูปอาจเจอทั้งถอดสมณศักดิ์และสมณเพศ พร้อมยกตัวอย่างพระพิมลธรรม ซึ่งต่อมาเป็นสมเด็จพุฒาจารย์ ถูกให้ลาสละสมณเพศ และถอดจากสมณศักดิ์ ต่อมาเป็นคดีอาญา เมื่อศาลตัดสินว่าไม่ผิดก็ได้รับสมณศักดิ์กลับคืน และกลับมาครองจีวรนตามเดิม เพราะถือว่าไม่เคยเปล่งวาจาสึก และไปกราบพระผู้ใหญ่วัดใดก็รับไหวทั้งนั้น ตามปกติพระจะไม่รับไหว้ฆราวาส ดังนั้นเมื่อไหว้พระรูปนั้นยังเป็นพระ และนำไปสู่ขั้นตอนการขอพระราชทานสมณศักดิ์คืน แต่ถือว่าเป็นคนละเรื่อง แต่อาจนำไปสู่จุดหมายเดียวกันได้

อ่านเพิ่มเติม