ไม่พบผลการค้นหา
ผู้ประท้วงเกือบ 600 คน ถูกจับกุมหลังจากรวมตัวประท้วงนโยบายปราบปรามผู้อพยพเข้าเมืองที่ไม่มีเอกสารทางกฎหมาย หรือ Zero Tolerance ของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ บริเวณหน้าตึกที่ทำการรัฐสภาในกรุงวอชิงตัน ดีซี

ตำรวจสหรัฐ จับกุมผู้ประท้วงจำนวน 575 คน ที่รวมตัวชุมนุมกันหน้าที่ทำการรัฐสภา เมื่อวานนี้ (28 มิ.ย.) ในการชุมนุมเรียกร้องให้ยกเลิกคำสั่งของสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองและศุลกากร รวมถึงยุติการแยกคุมตัวครอบครัวผู้อพยพ และนโยบายปราบปรามผู้อพยพเข้าเมืองที่ไม่มีเอกสารทางกฎหมายของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ช่วงกลางเดือนเมษายนที่ผ่านมา

063_986393034.jpg

ตำรวจได้ตั้งข้อหาชุมนุมประท้วงอย่างผิดกฎหมาย โดยผู้ที่ถูกจับกุมส่วนใหญ่เป็นกลุ่มผู้หญิงที่เดินทางมาจากรัฐต่างๆ ทั่วสหรัฐฯ และหนึ่งในนั้นมี ซูซาน ซาแรนดอน นักแสดงหญิงชื่อดัง รวมไปถึงนัการเมืองจากพรรคเดโมเครตทั้ง ส.ว.และส.ส. หลายคน เช่น เเทมมี่ ดักเวิร์ธ ส.ว.จากรัฐอิลลินอยส์ คริสเตน กิลลิแบรนด์ ส.ว.จากรัฐนิวยอร์ก เข้ารวมการประท้วงดังกล่าวด้วยเช่นกัน 

กลุ่มผู้ประท้วงได้ชูป้ายประท้วง พร้อมเขียนว่า 'We Care' (เราใส่ใจ) เป็นการเหน็บแนมนางเมลาเนีย ทรัมป์ สตรีหมายเลข 1 ภริยาของนายทรัมป์ ที่สวมเสื้อคลุมที่เขียนว่า 'I really don’t care, do u? (ฉันไม่สนใจ คุณล่ะ?) ขณะที่ไปเยี่ยมเด็กผู้อพยพในศูนย์กักกันที่ได้รับผลกระทบจากนโยบายผู้อพยพที่เข้มงวดที่รัฐเท็กซัส เมื่อวันที่ 22 มิ.ย.ที่ผ่านมา

ทั้งนี้ ผู้ชุมนุมประท้วงหลายพันคนจะรวมตัวกันอีกครั้งในวันเสาร์นี้ที่จตุรัสลาฟาเยตต์ ทางเหนือของทำเนียบขาวเพื่อประท้วงเรียกร้องให้ยุติมาตรการแยกครอบครัวและส่งคืนเด็กผู้อพยพกว่า 2,500 คน กลับคืนสู่ครอบครัวในศูนย์ผู้อพยพชายแดนทางใต้ของสหรัฐฯ

นโยบายปราบปรามผู้อพยพเข้าเมืองที่ไม่มีเอกสารทางกฎหมาย หรือ Zero Tolerance ของรัฐบาลสหรัฐฯ มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 15 เม.ย. โดยนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดี ย้ำว่าจำเป็นต้องบังคับใช้นโยบายดังกล่าว เพราะต้องการกำจัดอาชญากรรมที่เกี่ยวกับยาเสพติดและคดีข่มขืน ซึ่งทรัมป์ถูกวิจารณ์เช่นกันว่าบังคับใช้นโยบายเหยียดเชื้อชาติ ทั้งยังเหมารวมว่าผู้อพยพมีพฤติกรรมเชิงลบเพียงฝ่ายเดียว

การบังคับใช้นโยบายปราบปรามผู้อพยพอย่างเข้มงวดตั้งแต่เดือน เม.ย. ถึงปลายเดือน พ.ค. ทำให้เยาวชน 1,995 คน รวมถึงเด็กอ่อนที่อายุต่ำกว่า 5 ปี ถูกแยกมาจากผู้ปกครอง 1,940 คน ที่เป็นผู้อพยพเข้าเมืองโดยไม่มีเอกสารรับรอง

ที่มา: Washington Post / The Guardian

ข่าวที่เกี่ยวข้อง: