นายแพทย์ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา กล่าวว่า สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้กำกับดูแลการผลิตน้ำปลาที่ผลิตในประเทศไทยทั้งก่อนจำหน่ายและหลังจำหน่ายสู่ท้องตลาดอย่างเข้มงวด โดยสถานที่ผลิตต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์วิธีการที่ดีในการผลิตอาหาร (มาตรฐาน GMP) ซึ่งมีข้อกำหนดเรื่องการควบคุมกระบวนการผลิต ตั้งแต่การรับวัตถุดิบ การควบคุมกระบวนการผลิต การบรรจุ และการเก็บรักษาผลิตภัณฑ์ รวมถึงผลิตภัณฑ์น้ำปลาที่ผลิตและจำหน่ายในประเทศไทยจะต้องมีคุณภาพ มาตรฐานเป็นไปตามประกาศกระทรวงว่าด้วยเรื่อง น้ำปลา โดยต้องไม่พบจุลินทรีย์ที่ทำให้เกิดโรค และสารพิษจากเชื้อแบคทีเรียคลอสตริเดียม โบทูลินัม (Clostridium botulinum)
ทั้งนี้ เมื่อปี 2560 กระทรวงสาธารณสุขโดย อย. และกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ได้ตรวจสอบการปนเปื้อนของเชื้อแบคทีเรียคลอสตริเดียม โบทูลินัม และสารพิษโบทูลินัม ในตัวอย่างน้ำปลา รวม 48 ตัวอย่าง ซึ่งผลการตรวจวิเคราะห์ไม่พบทั้งสารพิษโบทูลินัมและเชื้อแบคทีเรียคลอสตริเดียม โบทูลินัม ในน้ำปลาทุกตัวอย่าง จึงขอให้ผู้บริโภคทั้งชาวไทยและต่างประเทศเชื่อมั่นในคุณภาพและความปลอดภัยของน้ำปลาที่ผลิตจากผู้ผลิตในประเทศไทย
นพ. พูลลาภ ฉันทวิจิตรวงศ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา กล่าวเพิ่มเติมว่า จากกรณีมีข่าวองค์การอาหารและยา สหรัฐอเมริกา หรือ U.S. FDA ออกประกาศห้ามนำเข้าน้ำปลาจากประเทศไทย นั้น อย. ขอชี้แจงเพื่อสร้างความมั่นใจให้แก่ผู้บริโภคว่า กรณีดังกล่าวเกี่ยวข้องกับการเตรียมหลักฐานเพื่อให้เป็นไปตามข้อกำหนดของทางสหรัฐอเมริกาไม่ใช่ประเด็นการตรวจพบความไม่ปลอดภัยของน้ำปลาจากประเทศไทย
ทั้งนี้ อย. จะเชิญผู้ประกอบการตามที่เป็นข่าวมาหารือและชี้แจงในประเด็นดังกล่าว พร้อมทั้งเข้าตรวจสอบกระบวนการผลิตของโรงงานผลิตน้ำปลา และจะประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อทำความเข้าใจกับ U.S. FDA เรื่องความปลอดภัยในกระบวนการผลิตน้ำปลาของประเทศไทยต่อไป
นอกจากนี้ อย. จะทบทวนมาตรฐานน้ำปลา ทั้งในเรื่องมาตรฐานจุลินทรีย์ สารปนเปื้อนบางชนิด และมาตรฐานอื่น ๆ ผ่านคณะทำงานวิชาการ เพื่อให้ปรับปรุงข้อกำหนดให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันยิ่งขึ้น และยินดีให้ร่วมมือกับหน่วยงานทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องสนับสนุนให้น้ำปลาไทยสามารถส่งออกและสามารถแข่งขันในตลาดต่างประเทศต่อไปได้
กรมประมง แจงสหรัฐฯ ห้ามนำเข้า 'น้ำปลาไทย' บางยี่ห้อ ไม่ใช่ทั้งระบบ
นายอดิศร พร้อมเทพ อธิบดีกรมประมง ชี้แจงหลังกรณีสื่อมวลชนนำเสนอข่าว น้ำปลาจากประเทศไทยมีปัญหาในการนำเข้าสหรัฐอเมริกา ว่า กรมประมงในฐานะหน่วยงานที่รับผิดชอบกำกับดูแลการตรวจสอบคุณภาพมาตรฐานสินค้าประมงก่อนส่งออกไปต่างประเทศ ได้เร่งประสานข้อเท็จจริง ซึ่งพบว่าสาเหตุที่ทางองค์การอาหารและยาแห่งสหรัฐ (U.S. FDA) ได้ขึ้นบัญชี Import Alert เลขที่ 16-120 ประเภท Detention without Physical Exam (DWPE) โรงงานผู้ผลิตน้ำปลาจากประเทศไทยบางแห่งไว้ เนื่องจากมีการตรวจพบว่ากระบวนการควบคุมการผลิต (HACCP) ของโรงงานไม่สอดคล้องกับข้อกำหนดการควบคุมความปลอดภัย HACCP (21 CFR 123.3) ของ U.S. FDA ซึ่งอาจจะก่อให้เกิดสารโบลูทินัม และสารฮีสตามีนในผลิตภัณฑ์ หากตรวจพบในปริมาณที่เกินมาตรฐานกำหนดจะเป็นอันตรายต่อผู้บริโภค
ทั้งนี้ U.S. FDA ได้เสนอแนวทางแก้ไขกรณีดังกล่าว 2 แนวทาง คือ
1. ให้โรงงานผู้ผลิตน้ำปลาของไทยปรับกระบวนการผลิตให้มีขั้นตอนการผ่านความร้อน
หรือ 2. นำเสนอข้อมูลในเชิงวิทยาศาสตร์มายืนยันว่ากระบวนการผลิตน้ำปลามีการควบคุมที่เทียบเท่ากับข้อกำหนด HACCP ของ USFDA และสามารถป้องกันการเกิดสารพิษดังกล่าวได้ ซึ่งขณะนี้ โรงงานฯ ได้มีการจัดส่งเอกสารชี้แจงตามข้อกำหนดการควบคุมความปลอดภัย HACCP ให้ USFDA แล้วแต่มีการเรียกขอข้อมูลเพิ่มเติม
โดยโรงงานฯ อยู่ระหว่างการดำเนินการแก้ไขและจัดส่งเอกสารหลักฐานเพิ่มเติมให้เจ้าหน้าที่ U.S. FDA พิจารณา
ทั้งนี้ กรมประมง อยู่ระหว่างการจัดทำและรวบรวมข้อมูลงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมกระบวนการหมักน้ำปลาที่สามารถป้องกันการเกิดสารโบลูทินัม และฮีสตามีนในผลิตภัณฑ์เพื่อใช้เป็นหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ในการนำเสนอแนวทางการป้องกันปัญหากับ U.S. FDA ต่อไป ส่วนกระบวนการให้ความร้อนซึ่งเป็นอีกแนวทางที่ U.S.FDA เสนอนั้นผู้ผลิตส่วนใหญ่ของไทยไม่นิยมนำมาใช้ปฏิบัติ เนื่องจากจะทำให้กลิ่นและรสเฉพาะของน้ำปลาเปลี่ยนแปลง
ประกอบกับกระบวนการผลิตน้ำปลามีการใช้เกลือในปริมาณสูงเพียงพอที่จะยับยั้งการเกิดเชื้อโรคและสารที่เป็นอันตรายต่อผู้บริโภค อีกทั้ง กระบวนการผลิตน้ำปลาของไทย ซึ่งไม่ได้ใช้วิธีการต้ม แต่ก็เป็นการผลิตตามมาตฐานการผลิตน้ำปลา(Standard for Fish Sauce; Codex Stan 302-2011) ของ CODEX ซึ่งเป็นที่ยอมรับกันทั่วโลก
อธิบดีกรมประมง กล่าวว่า การออกประกาศเตือน Import Alert น้ำปลาไทยในครั้งนี้ จึงไม่ได้มีเหตุเชื่อมโยงที่จะนำไปสู่การห้ามนำเข้า (Import Ban) น้ำปลาจากประเทศไทยทั้งหมดอย่างที่เป็นข่าว แต่เป็นการห้ามนำเข้าเฉพาะโรงงานที่อยู่ใน Import Alert เท่านั้น และไม่ได้มีประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการสุ่มตรวจสารก่อมะเร็งแต่อย่างใดทั้งสิ้น เพราะ U.S.FDA ไม่ได้มีข้อกำหนดให้ตรวจสารก่อมะเร็งในผลิตภัณฑ์น้ำปลาตามที่เป็นข่าวแต่อย่างใดเนื่องจากไม่มีความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นในการผลิตน้ำปลา ประกอบกับประกาศ Import Alert เลขที่ 16-120 ก็มิได้มีการกล่าวถึงการสุ่มตรวจสารก่อมะเร็งในน้ำปลาด้วย
อย่างไรก็ตาม สหรัฐอเมริกามีระบบการควบคุมการนำเข้าสินค้าอย่างเข้มงวด โดยมี U.S. FDA เป็นหน่วยงานที่กำกับดูแล มีการใช้ระบบการป้องกันอันตรายจากสินค้าที่นำเข้าที่ U.S.FDA เชื่อว่าไม่ได้ปฏิบัติตามกฎหมายและกฎระเบียบของสหรัฐอเมริกา (Import Alert) การประกาศ Import Alert เป็นวิธีการของ U.S.FDA ในการแจ้งเจ้าหน้าที่ของตนที่ประจำอยู่ที่ด่านตรวจต่างๆ ให้ทราบว่าจะจัดการกับสินค้าดังกล่าวอย่างไร ซึ่งถือว่าเป็นเหตุการณ์ปกติที่มีการออกประกาศฯ เป็นประจำของ U.S.FDA ที่จะเตือนและให้มีการกักกันสินค้าจากผู้ส่งออก/ผู้ผลิตของประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกที่มีสารอันตรายปนเปื้อนหรือไม่ได้มาตรฐานตามที่ FDA กำหนด
การออกประกาศเตือน (Import Alert) มิได้มีเหตุเชื่อมโยงที่จะนำไปสู่การประกาศ Import Ban ประเทศผู้ส่งออกแต่อย่างใด โดยเหตุผลหลักที่สินค้าถูกระบุ Import Alert แบ่งเป็น 2 ประเด็น ได้แก่ สินค้าไม่เป็นไปตามมาตรฐานคุณภาพและความปลอดภัยที่ USFDA กำหนด และระบบการควบคุมการผลิตของโรงงานไม่เป็นไปตามข้อกำหนดการควบคุมความปลอดภัยของกฎระเบียบ HACCP (21 CFR 123.3)
อย่างไรก็ตาม การประเมินระบบ HACCP ของ USFDA จะประเมินจากเอกสารคู่มือคุณภาพที่โรงงานส่งให้และมีระบบการสุ่มตรวจโดยการส่งเจ้าหน้าที่มาตรวจ ณ โรงงานผู้ผลิตเป็นครั้งคราว หลังจากถูกประกาศขึ้น List แล้ว การจะหลุดจาก List ได้ผู้ผลิต/ผู้ส่งออกต้องมีการพิสูจน์ตนเอง หมายความว่า หากพบว่าระบบการควบคุมการผลิต (HACCP) ไม่ได้มาตรฐานโรงงานต้องจัดทำเอกสารเพื่อพิสูจน์ว่ามีการควบคุมตามข้อกำหนด ในกรณีสินค้าไม่เป็นไปตามมาตรฐานฯ USFDA จะสุ่มตรวจสินค้าที่เข้ามาใหม่โดยต้องไม่มีปัญหาใด ๆ อีกอย่างน้อย 5 Shipments แล้วจึงทำการยื่นเรื่องต่อ USFDA ขอถอดถอนรายชื่อตนจาก List ปัจจุบันสหรัฐอเมริกาประกาศรายชื่อประเทศผู้ส่งออกใน Import Alert เลขที่ 16-120 กว่า 40 ประเทศ และมีโรงงานในรายชื่อดังกล่าวกว่า 200 โรงงาน
อธิบดีกรมประมง ได้กล่าวเน้นย้ำให้ผู้ส่งออกของไทยเคร่งครัดปฏิบัติตามกฎระเบียบของ USFDA เพื่อให้สินค้าของตนเป็นไปตามเกณฑ์ที่สหรัฐกำหนดและสามารถส่งออกไปขายสหรัฐได้ และขอให้ประชาชนผู้บริโภค อย่าเพิ่งวิตกกังวลต่อกรณีดังกล่าว
Photo by Percy Pham on Unsplash
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง :