ไม่พบผลการค้นหา
"เราจะทำตามสัญญาขอเวลาอีกไม่นาน..." บทเพลงคืนความสุขให้ประเทศไทย เหมือนเพิ่งได้ฟังเมื่อวันวาน ใครจะเชื่อ 4 ปี ผ่านไปไวเหมือนโกหก คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ทำหน้าที่ฝ่ายบริหารเกินเทอม 4 ปีของรัฐบาลเลือกตั้ง

สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) 1 ในแม่น้ำ 5 สาย ที่ คสช.แต่งตั้ง โดยมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเมื่อวันที่ 31 ก.ค. 2557 ก็ทำหน้าที่ในรัฐสภาเทียบเท่า 4 ปีของสภาปกติ และอยู่เกินเทอมแล้วเช่นกัน

สภาพและบรรยากาศตลอด 4 ปี ที่ไร้ฝ่ายค้านคอยตรวจสอบ มีเหตุการณ์ใดคือที่สุดของ สนช.ชุดนี้ ไปติดตาม จะเป็นอย่างไร 'วอยซ์ ออนไลน์' รวบรวมเหตุการณ์ที่สุด และบางเหตุการณ์ก็สุดฉาวไว้ดังนี้   

  • 21 ส.ค. 2557 : ท่วมท้นดัน 'ประยุทธ์' นั่งนายกฯ

วาระประชุม สนช. ให้ความเห็นชอบบุคคลที่จะมาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ก่อนหน้านั้น วิป สนช. แจงยิบขั้นตอนเลือกท่านผู้นำ ช่วงปิดปรับปรุงประประชาธิปไตย ครั้งที่ 2 ในรอบ 8 ปี ผู้เสนอชื่อเป็นนายกฯ ต้องมีเสียง สนช.รับรอง 1 ใน 5 ต้องเสียบบัตร เพื่อลดการรับรองซ้ำซ้อนกรณีเสนอชื่อมากกว่า 1 คน ขั้นตอนออกเสียง ต้องใช้วิธีขานชื่อโดยเปิดเผย ใครได้รับเสียงเห็นชอบเกินกึ่งหนึ่งหรือ 99 คะแนน คือ นายกรัฐมนตรี คนที่ 29 

ขึงขังจริงจังไม่แพ้สภาเลือกตั้ง ที่สุดผลโหวตสภาที่มาจาก คสช. มีมติ 191 ต่อ 0 เสียง งดออกเสียง 3 หนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ. (ในขณะนั้น) และหัวหน้าคสช. ผู้แต่งตั้ง สนช. เป็นนายกรัฐมนตรีตามโผนอนมาอย่างไร้คู่แข่ง

"รายชื่อของบุคคลที่เหมาะสมจะมาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี นั้น ส่วนตัวยังไม่มีบุคคลใดที่เหมาะสมไปกว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ. หัวหน้าคสช. มีจุดแข็ง คือ มีความชัดเจน และความมุ่งมั่นต่อการทำงานและแก้ปัญหาเพื่อประเทศชาติตามโรดแมป และแนวทาง ที่สำคัญคือเป็นคนทำมากกว่าพูด" พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง สมาชิก สนช. ระบุ
ประยุทธ์ สภา 000_Hkg10090278.jpg
  • 30 ก.ย. 2557 : สนช. สู้ไม่ใช่นักการเมือง

รับตำแหน่งเรียบร้อย โหวตนายกฯ เรียบร้อย สนช. ที่อยู่ในฐานะ ส.ส.และ ส.ว. ทำหน้าที่ฝ่ายนิติบัญญัติ ก็ย่อมต้องรับการตรวจสอบทุกชนิด หนีไม่พ้นก็การยื่นบัญชีทรัพย์สินต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. เรื่องราวทำท่าไม่น่าจะมีปัญหา ทุกอย่างต้องยึดกติกา แต่ความลับก็ไม่มีในโลก 

เมื่อมีการเผยแพร่หมายนัดอ่านคำสั่งศาลปกครองกลาง เมื่อวันที่ 30 ก.ย. 2557 ในคดีหมายเลขดำที่ 1430/2557 คดีหมายเลขแดงที่ 1397/2557 ตามที่ บิ๊กกี่ พล.อ.นพดล อินทปัญญา สมาชิก สนช. เพื่อนร่วมรุ่นบิ๊กป้อม พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หนึ่งในหัวหอก คสช. กับพวกรวม 28 คน ดอดฟ้องเงียบ ย้ำว่า สมาชิก สนช. ไม่ใช่นักการเมืองไม่ต้องชี้แจงและเปิดเผยบัญชีทรัพย์สินต่อ ป.ป.ช.

ก่อนถึงบางอ้อ ทำไมไม่ยินยอม สงสัยกลัวขโมยขึ��นบ้าน เหมือนที่พล.ร.อ.พลวัฒน์ สิโรโดม สมาชิก สนช. ระบุไว้ว่า 

"การเปิดเผยบัญชีทรัพย์สินถือเป็นดาบสองคม อาจทำให้สมาชิก สนช. บางคนกลัวว่าการเปิดเผยดังกล่าวจะเป็นการทำให้ผู้ไม่ประสงค์ดีรู้ว่าใครมีทรัพย์สินอะไรบ้าง สุ่มเสี่ยงต่อการก่อเหตุลักขโมยได้ หรืออาจจะนำไปสู่การปลอมแปลงเอกสารทางการเงินอีกด้วย แต่ผมอยากบอกสมาชิก สนช. ทุกคนว่าไม่ต้องกลัว เพราะ ป.ป.ช. มีมาตรการป้องกันปัญหาดังกล่าวไว้อยู่แล้ว"

  •  23 ม.ค. 2558 : เปิดสภาลงมติสอย 'ยิ่งลักษณ์'

ผ่านไป 5 เดือน สนช. ประเดิมผลงานชิ้นโบว์แดง สร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่การเมืองไทย ลงมติท่วมท้น 190 ต่อ 18 เสียงให้ถอดถอน น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่ คสช. ได้กระทำการยึดอำนาจไปหมาดๆเมื่อปีกลาย ฐานไม่ระงับยับยั้งความเสียหายโครงการรับจำนำข้าว 

ลบข้อครหากติกาสอยนักการเมืองไม่ได้ให้เป็นผลสำเร็จ โดยใช้เสียง 2 ใน 3 สภาแต่งตั้งโชว์ฟอร์มฟันเป็นตัวอย่าง  

แต่ที่เรียกเสียงฮือฮาหนีไม่พ้นอากัปกิริยา สมาชิกสภาผู้ทรงเกียรติ เรียงแถวดาหน้า ควักสมาร์ทโฟนแชะภาพ หน้ากระดานนับคะแนนออกอาการ เด่นชัดก็ต้อง ครูหยุย 'วัลลภ ตังคณานุรักษ์ ทำท่าชูนิ้วชี้ ตวัดปาดคอตัวเอง

ส่งผลโซเชียลร้อนทันควันก่อน ม.ล.มิ่งมงคล โสณกุล หรือ หม่อมเต่านา มอบทนาย ร้องสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา ตรวจสอบจริยธรรม วันที่ 9 ก.พ. 2558 

ถอดถอน ยิ่งลักษณ์ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ สนช 00_Hkg10135287.jpg

สอบไปสอบมา 5 เดือนผ่านไป 9 ก.ค. 58 ได้ฤกษ์สรุปผลถกลับครึ่งชั่วโมง ก่อนแจ้งผลเอกฉันท์ ครูหยุย ไม่ได้ฝ่าฝืน ไม่ขัดข้อบังคับจริยธรรม แต่อย่างใด

"แม้ว่าภาพลักษณ์ของผมก่อนหน้านี้ที่เคยขึ้นเวที กปปส.มาก่อน ก็ถูกมองว่าเป็นฝ่ายตรงข้ามกันแล้วก็ตาม ทั้งที่เรื่องนี้วิปฯมีมติให้ผมเป็นกรรมการซักถามคดีคุณยิ่งลักษณ์ ผมก็ปฏิเสธแล้ว ไม่ได้มีเจตนาไม่ดีอย่างนั้น ผมยืนยันว่าไม่ได้เยาะเย้ยถากถาง หรือสะใจใครทั้งนั้น แต่ถ้ามีคนเข้าใจผิด ผมต้องขออภัยจริงๆ ผมไม่ได้มีเจตนาที่จะทำให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์ในเรื่องของจริยธรรมอะไรเลย " วัลลภ กล่าว


วัลลภ สภา นิติบัญญัติแห่งชาติ Untitled.png
  •  27 ก.พ. 2558 : สนช. ตั้งเครือญาติรับเงินเดือน

ถึงกับผงะ เมื่อ 'สภาผัวเมีย' เคยถูกใช้เป็นวาทกรรมโจมตีดิสเครดิตสภาเลือกตั้ง กลายเป็นดาบนั้นคืนสนอง ย้อนเข้าตัวสภาลากตั้ง เมื่อพบคำสั่งแต่งตั้งสมาชิก สนช.กว่า 50 ราย คัดเลือกเครือญาติ คู่สมรส บุตร ธิดา นั่งเป็น ผู้เชี่ยวชาญ ผู้ชำนาญการ และผู้ช่วยดำเนินงาน กินเงินเดือน 24,000 บาท 20,000 บาท และ 15,000 บาทตามลำดับ 

แน่นอนไม่มีกติกาข้อห้ามคัดเลือกเครือญาติมาช่วยงานผู้ทรงเกียรติ แต่กลับถูกตั้งคำถามถึงความเหมาะสม เมื่อสมาชิก สนช. บางรายลูกก็ยังศึกษาอยู่ บางรายตั้งภรรยานั่งซ้อน 3 ตำแหน่งรวด

อึกอักตอบโต้ ชี้แจงกันอยู่พักใหญ่ สุดท้ายสุดต้านกระแสสังคมกระหน่ำหนักไม่ไหว วิป สนช.ต้องออกโรงแนะ สมาชิกส นช. ทยอยให้เครือญาติลาออก เมื่อวันที่ 1 มี.ค. 2558

"ยอมรับว่านำบุตรชายและน้องชายมาช่วยงาน บุตรชายได้ลาออกจากตำแหน่งผู้เชี่ยวชาญประจำตัวไปแล้วตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.ที่ผ่านมา ส่วนน้องชายที่มาดำรงตำแหน่งผู้ช่วยประจำตัว สนช. แม้ขณะนี้จะใช้งานอยู่ ก็จะให้ไปลาออกเช่นกัน เพื่อให้สังคมเกิดความสบายใจ" พล.อ.สมเจตน์ บุญถนอม กล่าว 

  • 7 เม.ย. 2559 : จัดให้คำถามพ่วงตั้ง ส.ว. ร่วมโหวตนายกฯ

ภายหลังคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) นำโดย ซือแป๋ 'มีชัย ฤชุพันธุ์' จัดทำร่างรัฐธรรมนูญแล้วเสร็จทั้งฉบับ ขึ้นแท่นรอฤกษ์ ออกเสียงประชามติขอความเห็นชอบจากประชาชน

สนช. ก็มีนัดประชุมหารือจะเอาอย่างไรกับคำถามพ่วง ที่รัฐธรรมนูญ ฉบับชั่วคราว 2557 เปิดช่องให้อำนาจไว้ร่วมกับสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ(สปท.) เสนอได้หนึ่งคำถาม 

หลังที่ประชุม สปท. ชงตั้งคำถาม เห็นด้วยหรือไม่ ในวาระแรกเริ่ม 5 ปี ให้ ส.ว.ร่วมโหวตนายกฯ ซึ่ง ส.ว. 250 คน ก็เปิดทางให้ คสช.เป็นผู้แต่งตั้งได้มีวาระ 5 ปี โดยอ้างว่ามาทำหน้าที่สานต่องานปฏิรูป เท่ากับว่า ส.ว.ลากตั้งทำคลอดโดย คสช.จะโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีได้ถึง 2 รอบ

ที่สุด สนช.ลงมติผ่านฉลุยกับประเด็นคำพ่วงดังกล่าวด้วยมติ 152 ต่อ 0 เสียง และงดออกเสียง 15 เสียง หวนถอยหลังกลับไปในยุคโมเดลประชาธิปไตยครึ่งใบ หลังรัฐธรรมนูญฉบับปี 2521 ทันที

"ความเห็นที่ส่งมา ส่วนใหญ่เสนอเรื่องเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ ส.ว. ให้ร่วมโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีในระยะเปลี่ยนผ่านได้หรือไม่ หลังจากรวบรวมความเห็นแล้ว กมธ.ฯ เห็นว่าควรเสนอคำถามโดยเน้นความเห็นของสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) เป็นหลักในการพิจารณา.......จึงควรถามว่าที่ประชุม สนช.เห็นชอบหรือไม่ว่าเพื่อให้การปฏิรูปประเทศต่อเนื่องตามแผน ยุทธศาสตร์ชาติ สมควรกำหนดใน บทเฉพาะกาลว่าระหว่าง 5 ปีแรกนับตั้ง" นายกล้านรงค์ จันทิก รองประธานคณะกรรมาธิการสามัญพิจารณาศึกษา เสนอแนะ และรวบรวมความเห็นเพื่อประกอบการพิจารณาจัดทำร่างรัฐธรรมนูญ กล่าว

  • 5 ก.พ. 2560 : ฉาวตรวจสอบ 7 สมาชิก สนช. โดดประชุม

ขึ้นชื่อปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง จะหย่อนยานลักไก่เสียบบัตรแทนกันแบบนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งคงไม่ได้ 

เมื่อรัฐธรรมนูญ ฉบับชั่วคราว 2557 มาตรา 9 วางกฎคุมเข้มสมาชิก สนช.คนไหน ไม่แสดงตนเพื่อลงมติในที่ประชุม ตามที่กำหนดไว้ในข้อบังคับให้พ้นสมาชิกภาพ ก่อนร่างข้อบังคับ ข้อ 82 ตีกรอบชัด สมาชิก สนช. รายใดไม่แสดงตนเพื่อลงมติ เกิน 1 ใน 3 ของการลงมติ ในรอบ 3 เดือน ต้องพ้นสมาชิกภาพ เว้นแต่ได้ลาประชุมต่อประธานแล้ว

โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน หรือ ไอลอว์ จัดการตรวจสอบ สมาชิก สนช.หลายรายสวมหมวกสองใบ ควบข้าราชการประจำอยู่ จะมีเวลาให้งานนิติบัญญัติแค่ไหน 

ป.ป.ช.รับสอบคำร้องลูก 'ปรีชา' รับงานกองทัพ

ค้นไปค้นมาก็พบว่า 7 สมาชิก สนช. ที่ขาดประชุมบ่อยจนอาจสิ้นสภาพ ฉายจับ บิ๊กติ๊ก พล.อ.ปรีชา จันทร์โอชา เป็นพิเศษ เพราะเป็นถึงน้องชายนายกรัฐมนตรี

ถึงขั้นข้าราชการฝ่ายประจำต้องหอบเอกสารแจง บทสรุปก็ตามคาด 7 สมาชิก สนช. ที่ถูกตั้งข้อหาจอมโดดร่ม มีใบลาครบ พร้อมลงมติเกิน 1 ใน 3 ตามที่กำหนดไว้

"ตอนนี้พี่เกษียณแล้ว ขออยู่อย่างสงบเถอะ จะมาเอาอะไรกับพี่นักหนา" พล.อ.ปรีชา จันทร์โอชา ระบุ

"ยืนยันว่าทุกครั้งที่ต้องขาดประชุมสนช. ได้มีการยื่นใบลาต่อประธาน สนช.อย่างถูกต้อง" นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน สนช. กล่าว 

  •  25 ม.ค. 2561 : แทคติกยื้อบังคับใช้กฎหมายเลือกตั้ง

ปลายปี 2557 ทิศทางการเมืองเริ่มชัดเจนขึ้นอีกครั้ง โรดแมปเลือกตั้ง คสช. ที่เจอโรคเลื่อนมาหลายครั้ง ทำท่าจะชัดเจนมากขึ้น เมื่อพล.อ.ประยุทธ์ ให้สัจจะวาจา ต่อประธานาธบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ที่ทำเนียบขาว ประเทศไทยจะกลับคืนสู่ประชาธิปไตย การเลือกตั้งจะเกิดขึ้นในเดือน พ.ย. 2561

ความหวังเลือกตั้งปลายปี 2561 ต้องดับสนิท เพราะเงื่อนไขกำหนดวันกาบัตร ต้องรอให้กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ 4 ฉบับที่สำคัญต่อการเลือกตั้งบังคับใช้ ขณะที่ล่าสุดยังเหลือกฎหมายเพียงแค่ 2 ฉบับ คือ ร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส. และร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว. 

รัฐสภา สภา G_4865.jpg

แต่ร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. เกิดอภินิหารด้วยแทคติกทางกฎหมาย เมื่อ กมธ.วิสามัญเสียงข้างมาก หนุนแปรญัตติ มาตรา 2 นาที่สุดท้าย ให้กฎหมายฉบับดังกล่าวมีผลบังคับใช้หลังประกาศในราชกิจจานุเบกษา 90 วัน โดยอ้างเหตุตามคำสั่งหัวหน้าคสช. ที่ 53/2560 จะได้ช่วยให้พรรคการเมืองมีเวลาเตรียมตัวทัน 

ก่อน สนช.จะเห็นชอบ ท่วมท้น 196 ต่อ 2 เสียง และงดออกเสียง 14 เตะถ่วงเลือกตั้งข้ามปีถึง ก.พ. 2562 ไปอย่างน้อยโดยปริยาย  

"ถ้าประเทศไทยไม่มีวันที่ 22 พ.ค. 2557 เราจะไม่มีประเทศไทยแบบทุกวันนี้ จะมีแต่การเผาบ้านเผาเมือง แบ่งแยกประเทศ จับอาวุธสงครามมากมาย....นักการเมืองทำอะไรเพื่อประเทศ และประชาชนบ้าง มีแต่ใช้วาทกรรมบิดเบือน ชักศึกเข้าบ้าน เรื่องการขยายเวลาบังคับใช้กฎหมายเป็นเรื่องเล็กน้อย แต่ทำให้เป็นเรื่องใหม่ ผมขอเสนอให้บังคับใช้กฎหมายหลังประกาศในราชกิจจานุเบกษา 60 เดือน หรือ 5 ปี เพื่อให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี" พ.ต.ท.พงษ์ชัย วราชิต สมาชิก สนช. ระบุข้อเสนอตัวเอง

  •  19 เม.ย. 2561 : คลิปลับสั่นสะเทือนโหวตคว่ำ กสทช.

อีกหนึ่งเหตุการณ์ที่ยังเป็นข้อสงสัย ก็ไม่พ้นคลิปเสียงชายปริศนา ความยาว 7.52 นาที อ้าง นายกฯไม่ปลื้ม 14 แคนดิเดต ชิงตำแหน่ง 7 ว่าที่ กสทช. ก่อนที่สนช.จะล้มกระดาน ไม่มีใครผ่านด่านนั่งแท่นผู้กำกับด้านโทรคมนาคม หลังประชุมลับกว่า 5 ชั่วโมง เมื่อวันที่ 19 เม.ย. 2561 

ทำให้ พรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน สนช. ต้องสั่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง หวังเอาผิดมือเผยแพร่ พร้อมทั้งยืนกรานหนักแน่น ไร้ใบสั่งคว่ำว่าที่ กสทช. 

ท้ายที่สุด เหตุการณ์ฉาวดังกล่าว ต้องถูกอำนาจพิเศษ มาตรา 44 ยกเลิกการสรรหาว่าที่ กสทช. โดยไฟเขียวบอร์ดชุดเดิมให้ทำหน้าที่ไปพลาง เมื่อวันที่ 24 เม.ย. 2561 

“ท่านนายกฯ ท่านไม่แฮปปี้กับผู้ที่สรรหามาทั้งหมดทั้ง 14 คน ท่านต้องการที่จะใช้อำนาจที่ท่านมีอยู่ยกเลิกพวกนี้ทั้งหมด” เสียงในคลิปลับ ระบุ
  •  7 มิ.ย. 2561 : สนช.งีบหลับระหว่างนายกฯ แถลง

อีกภารกิจสำคัญของ สนช. โดยเฉพาะการพิจารณาร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ ที่ สนช. เห็นชอบในรัฐบาล คสช. 5 ปี รวมกว่า 14 ล้านบาท

การประชุมพิจารณางบฯ ถูกช่างภาพบรรจงซูมไปเจอ สมาชิกสนช. บางรายงีบหลับระหว่างการแถลงของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

โลกโซเชียลก็รวดเร็วเหมือนเช่นเคย แชร์ภาพกระจายแตะหลักหมื่นภายในไม่ถึงหนึ่งชัวโมง วิจารณ์กันสนุกปาก ชนิดที่ นายสมชาย แสวงการ เห็นแล้วทนไม่ได้ ต้องลุกขึ้นตำหนิการทำหน้าที่ของสื่ออย่างดุเดือด

สภานิติบัญญัติแห่งชาติ สนช สภา รัฐสภา 0_Hkg10087413.jpg

ก่อนที่ นายพีระศักดิ์ พอจิต รองประธาน สนช.คนที่สอง ต้องแถลงขอโทษประชาชน พร้อมชี้แจงว่า สนช.บางรายมีอาการป่วย พร้อมทั้งยืนยันว่าไม่ได้ผิดจริยธรรม     

"ที่ผ่านมามีการบิดเบือน การทำงานของแม่น้ำ 5 สาย นอกจากนี้ยังมีการเผยแพร่ภาพ สนช.นั่งหลับทางโซเชียลมีเดีย ผมเห็นว่า ตลอด 4 ปีที่ผ่านมา มีสิ่งเดียวที่ไม่เคยปฏิรูปคือ สื่อมวลชน แม้ว่า ส่วนใหญ่กว่า 90 เปอร์เซ็นต์เป็นสื่อที่ดี แต่ยังมีส่วนหนึ่งบิดเบือนสร้างความขัดแย้ง" นายสมชาย แสวงการ เลขานุการ วิปสนช.กล่าว 

"ส่วนตัวไม่รู้สึกเสียใจกับสิ่งที่เป็นภาพข่าว และไม่อยากแก้ตัว ทั้งนี้ ยืนยันว่าจะปฏิบัติตามอำนาจ และหน้าที่ของสนช. อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาตนก็มาทำงานทุกวัน และเดือนที่ผ่านมาตนก็ไปทำบอลลูนหัวใจมา" พล.อ.อ.ชาลี จันทร์เรือง สมาชิกสนช. กล่าว 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง