ไม่พบผลการค้นหา
ส่องเสียง 'คนอีสาน' ในวันที่พวกเขายังไม่มีสิทธิเลือก 'ผู้นำประเทศ' อะไรคือสิ่งที่พวกเขาต้องการ ในสภาวะที่ไร้ประชาธิปไตย

ปากกาที่ผูกเชือกไว้เตรียมจรดบนกระดาษในคูหา พร้อมกับกล่องสีเขียวที่มักเป็นภาพชินตา หากเวลาล่วงเลยมาครบ 4 ปี ตามเทอมของนักการเมือง แต่ในปัจุบันประเทศไทยยังอยู่ในสภาวะเลื่อนลอยมาเกือบ 5 ปี แม้จะมีสัญญาณว่าจะเกิดขึ้นในเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2562 

แต่ก็ไม่มีใครมารับประกันว่าพวกเขาจะได้ใช้สิทธิออกเสียงตามครรลองระบอบประชาธิปไตยหรือไม่ แม้แต่ตัว 'ผู้มีอำนาจ' เอง ยังไม่กล้าการันตี 'วันเลือกตั้ง' 

ในโอกาสนี้ 'วอยซ์ ออนไลน์' ได้ลงพื้นที่ 'ร้อยเอ็ด' และ 'ยโสธร' 2 จังหวัดในภาคอีสาน ส่องเสียงสะท้อนประชาชนดูว่า ในภาวะที่พวกเขายังไร้สิทธิ พวกเขาต้องการผู้นำแบบใด

"แม่อยากได่ผู้นำที่มีจิตสำนึก มีประชาธิปไตย ฟังเสียงชาวบ้านทุกอาชีพ" นางมะลิจิตร เอกตาแสง ประชาชนในพื้นที่จังหวัดยโสธร แนวร่วมกลุ่มเครือข่ายอนุรักษ์ลุ่มน้ำลำเซบาย ที่ออกมาเคลื่อนไหวต่อต้านโครงการสร้างโรงงานน้ำตาล หล่นคำตอบหลังถูกยิงคำถาม

vlcsnap-2018-12-11-16h45m13s79.png

(มะลิจิตร เอกตาแสง)

ก่อน 'มะลิจิตร' เล่าต่อว่า อยากให้ผู้นำที่จะเข้ามาบริหารประเทศ ต้องศึกษาอาชีพทุกอาชีพ และให้คำนึงถึงประชาชนรากหญ้าและอยากให้ลงพื้นที่มาดู มิใช่เพียงแต่เอื้อผู้ประกอบการ เพราะโดยเนื้อแท้แล้วประชาชนไม่มีทุนมากพอที่จะต่อสู้กับสิ่งที่เกิดขึ้นในการคืบคลานเข้ามาในพื้นที่ของนายทุน 

แน่นอนว่าสิ่งสำคัญที่เป็นแผลใหญ่ให้รัฐบาลต้องคำนึงคือปัญหาปากท้อง แม้ว่าจะมีการประกาศว่าตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจจากทีมงานฝ่ายเศรษฐกิจของรัฐบาล แต่เสียงที่สะท้อนออกมาจากพวกเขากลับไม่เป็นเช่นนั้น

"มันแม่นอยู่บ่ หนูว่ามันบ่แม่น อยู่นี่ก็ยังทุกยากข์ปากแห้งคือเก่า ลำบากคือเก่า" น.ส.นวพร เนินทราย หนึ่งในแนวกลุ่มเครือข่ายอนุรักษ์ลุ่มน้ำลำเซบาย สะท้อนออกมาด้วยภาษาอีสาน ผ่านน้ำเสียงเย้ยหยันปนเศร้าต่อผลโพล ให้เห็นความขัดแย้งกับคำป่าวประกาศของรัฐบาล ผนวกกับค่าครองชีพที่สูงขึ้น

vlcsnap-2018-12-11-16h39m33s24.png

(นวพร เนินทราย)

แม้ว่าจะมี 'บัตรสวัสดิกาลแห่งรัฐ' แต่แท้จริงแล้วมันก็ไม่ได้ช่วยอะไรเลย หนำซ้ำยังทำให้ประชาชนไม่พัฒนาตัวเองรอเพียงการช่วยเหลือจากทางภาครัฐเพียงเท่านั้น 

"แม่นมันกะคือการหาเสียงนั่นล่ะ" มะลิจิตร กล่าวเสริม

ดังนั้นหากจะเรียกร้องอะไร 'นวพร' บอกว่าอยากให้ประชาชนมีสิทธิในการแสดงความคิดเห็น ได้สะท้อนความเป็นจริงที่ประชาชนกำลังเผชิญ ปัญหาเหล่านี้อยู่ อยากให้ผู้นำฟังเสียงของประชาชน เพราะตอนนี้เหมือนเสียงของพวกเขากำลังถูกทำให้หายไป มิใช่เพียงรับฟังแต่นายทุนเท่านั้น

ดังที่กล่าวไว้ข้างต้นครั้นกลับมามองกติกา ที่ผู้มีอำนาจวางไว้ ยิ่งสร้างความฉงนสงสัยให้กับประชาชนในการเลือกตั้ง เมื่อกรอบเหล่านั้นถูกมองว่าเป็นหมากในการสืบทอดอำนาจ

ผ่านเสียงที่สะท้อนออกมาจากประชาชนในพื้นที่จังหวัดร้อยเอ็ด ว่าพวกเขาอยากได้ผู้นำที่มีวิสัยทัศน์แบบใด และกำลังเผชิญปัญหาอะไรบ้าง

vlcsnap-2018-12-11-16h39m45s160.png

(บุญมี เฉลิมแสน)

"อยากได้คนมีวิสัยทัศน์ก้าวไกล เป็นนักบริหารให้ประเทศเดินหน้าได้ แก้ปัญหาปากท้องพี่น้องบ้านเฮา" บุญมี เฉลิมแสน บอกเล่าถึงสิ่งที่ประชาชนคนหนึ่งอยากได้ผู้นำที่ไฝ่หา ภายใต้กรอบกติกาและนโยบายเศรษฐกิจของคสช. ซึ่งผลลัพธ์ที่คนพื้นที่อีสานได้รับ มันช่างแตกต่างจากผลสำรวจที่ออกมาตลอดเกือบ 5 ปี ที่ผ่านมา

"ขอให้ซ่อยเหลือด้วยความจริงใจ ให้มันถึงพี่น้องอิหลีเด้อ" บุญมี กล่าวทิ้งท้ายไว้ด้วยความหวัง

เช่นเดียวกับ สมฤทธิ์ แสงอุโคตร พ่อค้าก๋วยเตี๋ยวในหมู่บ้านบนพื้นที่จังหวัดร้อยเอ็ด เล่าถึงภาวะกระเป๋าแบนของคนในหมู่บ้าน ว่า "เงินบ่คล่อง คนสิซื้อกินอิหยังกะต้องระวัง เพราะว่าเศรษฐกิจมันบ่ดี อยากให้คนที่บริหารเก่งๆมาซ่อยแก้ไข"

vlcsnap-2018-12-11-16h39m55s255.png

(สมฤทธิ์ แสงอุโคตร)

ก่อนเล่าต่อว่าสมัยก่อนมันไม่ใช่แบบนี้ สิ่งที่เกิดขึ้นตอนนี้คือประชาชนเดือดร้อนทุกหย่อมหญ้า การค้าขายที่ซบเซา กลายเป็นปัญหาเรื้อรังภายในครอบครัวของเขา ซึ่งที่ผ่านมาก็ยังไม่ได้รับการแก้ไข

"ผู้นำต้องมีภาวะวิสัยทัศน์กว้างไกลเนาะครับ โดยเฉพาะการค้าขายกับต่างชาติ มันสำคัญที่สุดเลย ถ้าค้าขายกับไผบ่ได้ สิไปเอาเงินมาแต่ไส" ประวัติ มณีจักร สะท้อนเสียงความเพรียกหาผู้นำที่สามารถต่อรองค้าขายกับนานาประเทศได้ หากมันเดินหน้าไปได้ดีผลประโยชน์ก็จะตกถึงมือของประชาชน ช่วยผ่อนเบาภาระเรื่องปากท้องได้ 

vlcsnap-2018-12-11-16h40m29s57.png

(ประวัติ มณีจักร)

เสียงสะท้อนของประชาชนเหล่านี้อาจเป็นเพียงส่วนน้อยที่ดังออกมา แต่ก็ไม่ควรถูกหมางเมินในฐานะประชาชนที่กำลังเผชิญกับปัญหา ดังนั้นในสภาวะเช่นนี้พวกเขาควรมีสิทธิมีเสียงและอิสระในการเลือก 'ผู้นำประเทศ' ตามครรลองประชาธิปไตย อย่างที่ประชาชนเพรียกหา

พิชิตศักดิ์ แก่นนาคำ
ผู้สื่อข่าว Voice Online
91Article
1Video
0Blog