ไม่พบผลการค้นหา
ปภ.สั่ง 57 จังหวัดเตรียมพร้อมเฝ้าระวังสถานการณ์อุทกภัย จากอิทธิพล พายุ "มังคุด" จัดเจ้าหน้าที่ติดตามสภาพอากาศ และเฝ้าระวังตลอด 24 ชั่วโมง พร้อมตรวจสอบเขื่อน ฝาย อ่างเก็บน้ำ คันกั้นน้ำให้อยู่ในสภาพมั่นคงแข็งแรง

นายชยพล ธิติศักดิ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ในฐานะผู้อำนวยการกลางกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง (กอปภ.ก.) เปิดเผยว่า จากการตรวจสอบสภาพอากาศกับกรมอุตุนิยมวิทยา พบว่า พายุ "มังคุด" (MANGKHUT) จะส่งผลกระทบต่อประเทศไทย โดยช่วงวันที่ 18 – 19 กันยายน 2561 ภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จะมีฝนตกหนักเพิ่มมากขึ้น และช่วงวันที่ 18 – 20 กันยายน 2561 คลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทย คลื่นสูง 2 - 4 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 4 เมตร 

ทั้งนี้ ได้สั่งการจังหวัด 57 จังหวัด รวมถึงศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขตในพื้นที่เสี่ยงภัย เฝ้าระวังสถานการณ์อุทกภัย ดินโคลนถล่ม และคลื่นลมแรง ในช่วงวันที่ 18 – 20 กันยายน 2561 ดังนี้ เฝ้าระวังสถานการณ์อุทกภัย แยกเป็น ภาคเหนือ ได้แก่ แม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน ลำปาง พะเยา แพร่ น่าน ตาก กำแพงเพชร สุโขทัย อุตรดิตถ์ พิษณุโลก พิจิตร เพชรบูรณ์ นครสวรรค์ และอุทัยธานี 

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้แก่ เลย หนองบัวลำภู หนองคาย อุดรธานี บึงกาฬ สกลนคร นครพนม กาฬสินธุ์ และมุกดาหาร 

ภาคกลาง ได้แก่ กาญจนบุรี สุพรรณบุรี ราชบุรี นครปฐม ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา ลพบุรี สระบุรี นครนายก ปราจีนบุรี สระแก้ว ฉะเชิงเทรา ระยอง จันทบุรี ตราด เพชรบุรี และประจวบคีรีขันธ์ 

ภาคใต้ ได้แก่ ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช พัทลุง สงขลา ระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ ตรัง และสตูล 

พร้อมกันนี้ ได้สั่งเฝ้าระวังสถานการณ์คลื่นลมแรง ได้แก่ ชลบุรี ระยอง จันทบุรี ตราด ระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ ตรัง และสตูล เฝ้าระวังสถานการณ์ดินโคลนถล่มและน้ำป่าไหลหลาก ได้แก่ แม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ เชียงราย น่าน อุตรดิตถ์ นครนายก ปราจีนบุรี สระแก้ว จันทบุรี ตราด สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช ระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ ตรัง และสตูล 

โดยจัดเจ้าหน้าที่ติดตามสภาพอากาศ และเฝ้าระวังสถานการณ์ภัยตลอด 24 ชั่วโมง พร้อมจัดเตรียมชุดเคลื่อนที่เร็ว เครื่องมืออุปกรณ์ และเครื่องจักรกลด้านสาธารณภัยให้พร้อมใช้งาน กรณีเกิดสถานการณ์ภัยในพื้นที่ให้ประสานการปฏิบัติกับหน่วยทหาร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการเผชิญเหตุและช่วยเหลือผู้ประสบภัยอย่างทันท่วงที รวมถึงติดตั้งเครื่องสูบน้ำ เครื่องผลักดันน้ำ ประจำจุดเสี่ยงภัยตามแผนเผชิญเหตุอุทกภัยของจังหวัด เพื่อเพิ่มศักยภาพในการระบายน้ำ โดยเฉพาะที่ลุ่มริมฝั่งแม่น้ำ ที่ลาดเชิงเขา ชายฝั่งทะเล และจุดอ่อนน้ำท่วมขัง           

พร้อมตรวจสอบเขื่อน ฝาย อ่างเก็บน้ำ คันกั้นน้ำให้อยู่ในสภาพมั่นคงแข็งแรง สำหรับพื้นที่เสี่ยงคลื่นลมแรง ให้ประสานหน่วยงานเจ้าท่าประมง และตำรวจน้ำออกลาดตระเวนแจ้งเตือนการเดินเรือทุกประเภท ให้เดินเรือด้วยความระมัดระวังและงดการเดินเรือ หากทะเลมีคลื่นสูงและกำลังแรง รวมถึงเน้นย้ำให้มีการตรวจสภาพความพร้อมและความปลอดภัยก่อนออกเรือทุกครั้ง สำหรับประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัย ขอให้ติดตามพยากรณ์อากาศและประกาศเตือนภัยอย่างใกล้ชิด พร้อมปฏิบัติตามคำเตือนอย่างเคร่งครัด