ภายหลังการประชุมลับนานกว่า 3 ชั่วโมง ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีมติเสียงข้างมาก 118 คะแนน ต่อ 25 เสียง ไม่รับรองรายชื่อผู้สมควรได้รับเลือกเป็นกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ตามที่คณะกรรมการสรรหาเสนอมา โดยมีสมาชิกสนช. งดออกเสียงจำนวน 20 คน
นายสมชาย แสวงการ เลขานุการวิป สนช. กล่าวว่า จากการรับฟังรายงานของคณะกรรมาธิการสามัญเพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบประวัติ ความประพฤติและพฤติกรรมทางจริยธรรมของบุคคลผู้สมควรได้รับเลือกเป็นกรรมการกสทช. พบว่ามีปัญหาด้านคุณสมบัติและความประพฤติ รวม 8 คน ซึ่งอาจขัดกับมาตรา 7 ของ พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการ วิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2553 ซึ่งกำหนดลักษณะต้องห้ามว่า กสทช.ต้องไม่เป็นหรือเคยเป็นกรรมการ ผู้จัดการ ผู้บริหาร ที่ปรึกษา พนักงาน ผู้ถือหุ้นหรือหุ้นส่วนในบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนหรือนิติบุคคลอื่นใดบรรดาที่ประกอบธุรกิจ ด้านกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์หรือกิจการโทรคมนาคม ในระยะเวลาหนึ่งปีก่อนได้รับการคัดเลือก
ขณะที่สนช.ได้รับบัญชีรายชื่อบุคคลให้ดำรงตำแหน่งกสทช.ในแต่ละด้านมาจำนวน 2 เท่าก็จริง แต่เมื่อพบว่ามีบุคคลที่คุณสมบัติไม่ครบและมีลักษณะต้องห้ามถึง 8 คน หาก สนช.ลงมติเลือกไปอาจมีปัญหาในทางกฎหมายได้ จึงขอให้ สนช.ลงมติเพื่อไม่เลือกบุคคลตามบัญชีรายชื่อที่คณะกรรมการสรรหาเสนอทั้ง 14 คน เพื่อให้คณะกรรมการสรรหากลับไปแก้ไขข้อบกพร่อง ซึงเป็นไปตามมาตรา 17 วรรคสองของกฎหมายที่กำหนดไว้ว่าถ้าสนช.ไม่สามารถเลือกกสทช.ได้ภายใน 30 วันนับแต่วันที่ได้รับบัญชีรายชื่อให้คณะกรรมการดำเนินการสรรหาเพิ่มเติมต่อไป
ด้านสมาชิก สนช. ที่เห็นแย้ง อาทิ นายตวง อันทะไชย อภิปรายว่า เมื่อคณะกรรมการสรรหาได้เสนอบัญชีรายชื่อบุคคลที่สมควรได้รับเลือกเป็นกรรมการ กสทช.นั้น สนช.ก็ควรดำเนินการเลือกตามมาตรา 16 และมาตรา 17 ของพ.ร.บ.ดังกล่าว อีกทั้ง สนช.ไม่มีหน้าที่ในการไปวินิจฉัยว่าใครมีคุณสมบัติครบหรือไม่ เพราะบัญชีรายชื่อที่สนช.ได้รับมานั้นได้ผ่านกระบวนการคัดกรองมาแล้วชั้นหนึ่งจากคณะกรรมการสรรหาฯ และสนช.จะใช้มติเพื่อยกเว้นการใช้พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯไม่ได้ ซึ่งต่างจากการยกเว้นการใช้ข้อบังคับการประชุมสนช.ที่สนช.สามารถกระทำได้ตามกฎหมาย ดังนั้น สนช.ต้องดำเนินการตามกฎหมายเท่านั้น
สำหรับบุคคลที่ผ่านสรรรหาให้ดำรงตำแหน่ง กสทช.และให้สนช.ลงมติให้เหลือด้านละ 1 คน มีดังนี้ 1.ด้านกิจการกระจายเสียง จำนวน 2 คน ได้แก่ พ.อ.กฤษฎา เทอดพงษ์ และนายธนกร ศรีสุขใส
2.ด้านกิจการโทรทัศน์ จำนวน 2 คน ได้แก่ นายวสันต์ ภัยหลีกลี้ และ พล.อ.มังกร โกสินทรเสนีย์
3.ด้านกิจการโทรคมนาคม จำนวน 2 คน ได้แก่ นายอธิคม ฤกษบุตร และนายกิตติศักดิ์ ศรีประเสริฐ
4.ด้านวิศวกรรม จำนวน 2 คน ได้แก่ พล.อ.ต.ธนพันธุ์ หร่ายเจริญ และ พ.อ.อนุรัตน์ อินกัน
5.ด้านกฎหมาย จำนวน 2 คน ได้แก่ นายมนูภาน ยศธแสนย์ และ นายก่อกิจ ด่านชัยวิจิตร
6.ด้านเศรษฐศาสตร์ จำนวน 2 คน ได้แก่ ผศ.ภักดี มะนะเวศ และ นายณรงค์ เขียดเดช
7.ด้านการคุ้มครองผู้บริโภค หรือ ด้านการส่งเสริมสิทธิและเสรีภาพของประชาชน จำนวน 2 คน ได้แก่ นพ.สุริยเดว ทรีปาตี และนายวรรณชัย สุวรรณกาญจน์
117 เสียงโหวตคว่ำว่าที่ผู้ตรวจการแผ่นดินอีก 1 คน
นอกจากนี้ ที่ประชุม สนช. ยังมีมติ 117 เสียง ต่อ 64 เสียง ไม่เห็นชอบนางภรณี ลีนุตพงษ์ เป็นผู้ตรวจการแผ่นดิน ตามที่รายงานการตรวจสอบประวัติ ความประพฤติ และพฤฺติกรรมทางจริยธรรมนานกว่า 1 ชั่วโมงได้เสนอมา โดยคะแนนดังกลาวได้คะแนนเสียงเห็นชอบน้อยกว่ากึ่งหนึ่งของสมาชิกสนช. หรือ 124 คะแนน ทำให้นางภรณีไม่ได้รับความเห็นชอบให้เป็นผู้ตรวจการแผ่นดิน