ไม่พบผลการค้นหา
'กฤษฎา' ตั้งเป้าแก้ปัญหาสหกรณ์ออมทรัพย์ทำผิดวัตถุประสงค์ภายใน 30 วัน หลังพบพฤติกรรมประชาชนใส่เงินฝากเพิ่มเพราะดอกเบี้ยสูงมากกว่าฝากแบงก์ ดันเงินฝากทั้งระบบสหกรณ์เพิ่มขึึ้นเป็น 2 ล้านล้านบาท อีกด้านสหกรณ์นำเงินไปลงทุนตลาดหุ้น ตลาดตราสารหนี้ ปล่อยกู้ พบ 51 แห่งมีข้อบกพร่องทางบัญชี ทุจริต ทำนอกวัตถุประสงค์

ตามรายงานข่าวจากเว็บไซต์ไทยรัฐและเว็บไซต์โพสต์ทูเดย์ ระบุว่า นายกฤษฎา บุญราช รมว.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยหลังเข้าร่วมประชุมคณะกรรมการที่ปรึกษาการบริหารจัดการและการกำกับดูแลสหกรณ์ออมทรัพย์ครั้งที่ 1/2561 ว่าจะเร่งพิจารณาแก้ไขปัญหาสหกรณ์ฯ ภายใน 30 วัน ตามนโยบายของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกฯ ที่ได้สั่งการไว้ จากความห่วงใยที่ปัจจุบันสหกรณ์ฯ มีการทำธุรกรรมทางการเงินผิดไปจากวัตถุประสงค์อย่างมาก

อีกทั้งที่ประชุมยังมีมติให้กำหนดหลักเกณฑ์การกำกับดูแล โดยตั้งอนุกรรมการศึกษาข้อมูล ประกอบด้วย ตัวแทนของกระทรวงเกษตรฯ ธปท. คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์ และสันนิบาตสหกรณ์แห่งประเทศไทย โดยให้เวลา 30 วัน เริ่มตั้งแต่วันที่ 28 ส.ค. เป็นต้นไป

ทั้งนี้ เมื่อได้ผลศึกษาให้นำมาเสนอคณะกรรมการชุดนี้ ก่อนเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) รับทราบเพื่อออกเป็นกฎกระทรวงเกษตรฯ โดยอาศัยอำนาจตามกฎหมายสหกรณ์ พ.ศ.2542 เน้นกำกับดูแลสหกรณ์ออมทรัพย์ ตั้งแต่การระดมเงินฝาก การนำเงินฝากไปลงทุน การให้สมาชิกกู้ การจ่ายเงินปันผล และการจ่ายโบนัส

กฤษฎา บุญราช

(กฤษฎา บุญราช รมว.เกษตรและสหกรณ์)

ส่วนคณะกรรมการที่ปรึกษาการบริหารจัดการและกำกับดูแลสหกรณ์ออมทรัพย์ มีกรรมการจากสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เข้ามาให้คำปรึกษา เสนอแนะมาตรการต่างๆ รวมทั้งตั้งคณะอนุกรรมการศึกษาการดูแลสหกรณ์ออมทรัพย์ เพื่อแก้ปัญหาหนี้สินสมาชิกสหกรณ์ที่มีสัดส่วนหนี้สินสูงมากและแนวโน้มสูงขึ้นต่อเนื่อง      

ทั้งนี้ ในปัจจุบันมีสหกรณ์จำนวน 1,461 แห่ง สมาชิกรวม 3.21 ล้านคน และกำลังมีปัญหาเรื่องการบริหารด้านการเงิน เนื่องจากในช่วงที่ผ่านมาประชาชนหันมาฝากเงินในระบบสหกรณ์มากขึ้นแทนการฝากเงินกับธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินอื่นๆมากขึ้น เพราะให้อัตราดอกเบี้ยสูงถึงร้อยละ 3-4 ส่งผลให้เงินฝากของระบบสหกรณ์มีมูลค่าสูงมากถึง 2 ล้านล้านบาท และสหกรณ์จะนำเงินเหล่านั้นมาแสวงหากำไร โดยการปล่อยเงินกู้ให้กับสมาชิก ให้สหกรณ์ออมทรัพย์กู้ และลงทุนในตลาดตราสารหนี้ อาทิ การซื้อพันธบัตรรัฐบาล ฯลฯ รวมจำนวนเงินให้กู้ทั้งหมด 1.9 ล้านล้านบาท ซึ่งเป็นตัวเลขที่ใกล้เคียงกับเงินฝาก ทำให้ภาครัฐกังวลว่าอาจทำให้สหกรณ์จะขาดสภาพคล่องได้   

สำหรับสถานะของสหกรณ์ทั้งระบบในขณะนี้ พบว่า มีการตั้งสำรองเผื่อหนี้สงสัยจะสูญในรอบ 5 ปี ระหว่าง 2556-2560 มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยปี 2556 มีค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญ 4,939.45 ล้านบาท หรือร้อยละ 0.36 ของหนี้ทั้งระบบ ขณะที่ปี 2560 ค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญเพิ่มขึ้นเป็น 11,601.10 ล้านบาท หรือร้อยละ 0.60 ของหนี้ทั้งระบบ

นอกจากนั้น ณ วันที่ 31 ก.ค.2561 พบข้อบกพร่องในสหกรณ์ออมทรัพย์และเครดิตยูเนียน 51 แห่ง จำนวน 80 รายการ วงเงิน 9,648.80 ล้านบาท แบ่งเป็น การทุจริต 13 แห่ง 373.11 ล้านบาท พบข้อบกพร่องทางบัญชี 6 แห่ง 34.39 ล้านบาท มีข้อบกพร่องทางการเงิน 11 แห่ง 144.36 ล้านบาท ดำเนินการนอกกรอบวัตถุประสงค์ 12 แห่ง วงเงิน 667.79 ล้านบาท และพฤติกรรมที่อาจจะก่อให้เกิดความเสียหายจำนวน 17 แห่ง 8,423.15 ล้านบาท

ด้านนายพิเชษฐ์ วิริยะพาหะ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ กล่าวว่า ที่ผ่านมากรมได้มีการออกเกณฑ์คุมสหกรณ์ไว้บางส่วนแล้ว แต่ยังมี 2-3 ด้านที่ยังเห็นไม่ตรงกัน เช่น การปันผล การดำรงสินทรัพย์สภาพคล่อง และการลงทุน ที่พบว่ามีการนำไปลงทุนในตลาดหลักทรัพย์มากกว่า 2 แสนล้านบาท จากการลงทุนทั้งหมด 4 แสนล้านบาท

ทั้งนี้ จะขอหารือกับคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ในการกำหนดสัดส่วนลงทุน เพราะเกรงว่าจะกระทบกับตลาดทุน โดยแนวทางที่กรมวางไว้ คือการลดการลงทุนแบบขั้นบันไดเพื่อไม่ให้กระทบมาก และต้องกลับมาเข้าในเกณฑ์ภายในระยะเวลาที่กำหนดเพราะหุ้นถือว่าเสี่ยงกับสมาชิกมาก

สำหรับเกณฑ์ที่จะออกมาคุมคือการระดมเงินฝาก การนำเงินไปลงทุน การปล่อยกู้ การปันผล การตั้งเผื่อหนี้สูญ ซึ่งบางเกณฑ์ บางหน่วยงานยังท้วงติงในเรื่องการดำรงสินทรัพย์ สภาพคล่องและการปันผล และสัดส่วนการลงทุน จึงให้ไปหารือร่วมกันคาดว่า 30 วันจะได้ข้อยุติ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :