คณะกรรมการตัดสินรางวัลโนเบลประกาศมอบรางวัลโนเบล สาขาสันติภาพแก่เดนิส มุคเวกี แพทย์ชาวดีอาร์คองโก และนาเดีย มูราด หญิงชาวยาซิดีในอิรักที่เคยถูกจับไปเป็นทาสทางเพศของกลุ่มก่อการร้ายไอเอส และหันมาเป็นนักเคลื่อนไหวยุติความรุนแรงทางเพศ ในฐานะที่ทั้งคู่นำความปลอดภัยส่วนตัวมาเสี่ยง เพื่อยุติการใช้ความรุนแรงทางเพศเป็นอาวุธในสงครามและความขัดแย้ง ต่อสู้กับอาชญากรรมสงครามและแสวงหาความยุติธรรมให้กับผู้รอดชีวิต
คณะกรรมการโนเบลแถลงว่า รางวัลนี้ต้องการจะสื่อสารว่า ผู้หญิงถูกใช้เป็นอาวุธในสงคราม และพวกเธอต้องการการคุ้มครอง และผู้กระทำความรุนแรงทางเพศจะต้องรับผิดชอบและถูกดำเนินคดีจากการกระทำของพวกเขา
คณะกรรมการรางวัลโนเบลระบุว่า มุคเวกีเป็นสัญลักษณ์ของความพยายามในการยุติความรุนแรงทางเพศในสงครามและความขัดแย้งแถวหน้าของคองโกและนานาชาติ ส่วนมูราดได้แสดงให้เห็นถึงความกล้าหาญมากในการบรรยายถึงความทุกข์ทรมานของตัวเอง และกลายมาเป็นปากเป็นเสียงให้กับผู้รอดชีวิตจากความรุนแรงทางเพศ อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการรางวัลโนเบลยังไม่สามารถติดต่อผู้ชนะรางวัลทั้งสองคนทางโทรศัพท์ได้
นพ.เดนิส มุคเวกี
นพ.เดนิส มุคเวกี เป็นศัลยแพทย์ชั้นนำของโลก ผู้ก่อตั้งและผู้อำนวยการทางการแพทย์ของโรงพยาบาลแพนซีในเมืองบูคาวู ของสาธารณรัฐคองโกหรือดีอาร์คองโก เขาได้ใช้เวลาส่วนใหญ่ของชีวิตการเป็นผู้ใหญ่ของเขาในการช่วยเหลือผู้รอดชีวิตจากความรุนแรงทางเพศ โดยเขาและทีมแพทย์ของเขาได้เยียวยารักษาผู้รอดชีวิตหลายพันคน ผู้หญิงจำนวนมากได้รับการรักษาอาการช่องคลอดทะลุ (vaginal fistula) จากการความรุนแรงทางเพศ รวมถึงได้รับคำปรึกษาและการรักษาอาการกระทบกระเทือนทางจิตใจ จนทำให้เขาได้รับฉายา "ชายผู้เยียวยาผู้หญิง" และกลายเป็นที่รู้จักไปทั่วโลก
มุคเวกีเคยให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวซีเอ็นเอ็นเมื่อปี 2009 ว่า การที่ผนังกั้นช่องคลอดกับอวัยวะภายในอื่นทะลุเป็นหนึ่งในอาการที่แย่ที่สุดที่ผู้หญิงคนหนึ่งจะประสบ บาดแผลนี้รุนแรงมากสำหรับผู้หญิง "ไม่ว่าเธอจะไปที่ไหนจะไม่มีใครต้องการเข้าใกล้เธอ ปฏิเสธเธอ โรคนี้ถึงว่าเลวร้ายยิ่งกว่าโรคเรื้อน"
นาเดีย มูราด
นาเดีย มูราดเป็นชาวยาซิดี คนกลุ่มน้อยเชื้อสายเคิร์ดในอิรักที่มีศาสนาเป็นของตัวเอง เธอเคยถูกจับไปเป็นทาสทางเพศของกลุ่มก่อการร้ายไอเอสพร้อมกับแม่และพี่น้องอีกหลายคน เธอเป็นหนึ่งในผู้หญิงและเด็กผู้หญิงชาวยาซิดีกว่า 3,000 คนถูกล่วงละเมิดทางเพศและถูกทำร้ายซ้ำๆ โดยกลุ่มก่อการร้ายไอเอสที่บุกยึดเมืองต่างๆ ในอิรักตั้งแต่เดือนส.ค. ปี 2014
เมื่อเดือนมิ.ย. 2016 มูราดได้ขึ้นให้การที่สภาคองเกรสของสหรัฐฯ โดยเล่ารายละเอียดว่าเธอและหญิงชาวยาซิดีหลายพันคนถูกจองจำและข่มขืนโดยนักรบไอเอส ส่วนพี่ชายน้องชายของเธอ 6 คน และแม่ของเธอถูกกลุ่มไอเอสสังหารภายในวันเดียวกัน
มูราดยังเล่าว่าเธอหลบหนีจากกลุ่มไอเอสไปยังเมืองโมซุล โดยมีครอบครัวชาวมุสลิมช่วยเหลือเอาไว้ เธอได้ทำบัตรประชาชนมุสลิมปลอมที่ช่วยให้เธอหลบหนีออกจากพื้นที่ยึดครองของไอเอสได้ นอกจากนี้ มูราดได้ย้ำกับสภาคองเกรสว่าสหรัฐฯ ต้อง "กำจัด" กลุ่มไอเอส และการก่อการร้ายทั้งหมด
มูราดในวัย 25 ปีถือเป็นเจ้าของรางวัลโนเบล สาขาสันติภาพที่อายุน้อยที่สุดเป็นอันดับ 2 รอบจากมาลาลา ยูซาฟไซ ซึ่งได้รับรางวัลขณะอายุ 17 ปีเมื่อปี 2014
ที่มา : CNN, The Guardian
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :