นางเสาวณีย์ ไทยรุ่งโรจน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า ดัชนีสถานการณ์คอร์รัปชันไทย (CSI) สำรวจในเดือนมิถุนายน 2561 พบว่า สถานการณ์คอร์รัปชันไทยโดยรวมอยู่ที่ 55 ปรับดีขึ้นจากการสำรวจเดือนธันวาคม 2560 อยู่ที่ 52 ทั้งนี้ ดัชนีสถานการณ์คอร์รัปชั่นไทยในปัจจุบันอยู่ที่ 54 จากก่อนหน้าที่ 51 และดัชนีแนวโน้มสถานการณ์คอร์รัปชันไทยอยู่ที่ 56 จากเดิม 53
อย่างไรก็ตามแม้ดัชนีโดยรวมจะปรับดีขึ้น หากพิจารณารายละเอียด ดัชนีปัญหาและความรุนแรงการคอร์รัปชันพบว่าอยู่ที่ 48 โดยดัชนียังต่ำกว่าระดับ 50 ชี้ว่ายังมีความกังวลเรื่องนี้ ด้านดัชนีการป้องกันการคอร์รัปชั่นอยู่ที่ 54 โดยความโปร่งใสและประสิทธิภาพการทำงานของภาครัฐมีแนวโน้มดีขึ้น ขณะที่การปรับปรุงขั้นตอนและกฎระเบียบการดำเนินงานของภาครัฐยังทรงตัว ดัชนีการปราบปรามการคอร์รัปชัน อยู่ที่ 55 ซึ่งที่ดีขึ้นชัดเจนคือ การสร้างเครือข่ายต่อต้านคอร์รัปชัน ส่วนการตรวจสอบและลงโทษการคอร์รัปชันมีทิศทางดีขึ้น
ทั้งนี้ ดัชนีการสร้างจริยธรรมและจิตสำนึก อยู่ที่ 64 สูงที่สุดตั้งแต่มีการสำรวจในปี 2553 หรือช่วง 8 ปี และแนวโน้มดีขึ้นอย่างต่อเนื่องทั้งกลุ่มข้าราชการ ผู้ประกอบการธุรกิจเอกชน และประชาชน
สำหรับ สาเหตุสำคัญที่สุดของการเกิดการทุจริตคอร์รัปชันในไทย 5 อันดับแรก คือ ความล่าช้า/ยุ่งยากของขั้นตอนในการดำเนินงานของราชการ กฎหมายเปิดโอกาสให้ใช้ดุลยพินิจเอื้อต่อการทุจริต ความไม่เข้มงวดของการบังคับใช้กฎหมายและกฎระเบียบ กระบวนการทางการเมืองขาดความโปร่งใสและตรวจสอบได้ยาก ขาดกลไกการกำกับดูแลกิจการ/การตรวจสอบที่มีประสิทธิภาพ
ส่วนรูปแบบการทุจริตคอร์รัปชันในสังคมไทยที่เกิดขึ้นบ่อยที่สุดคือ การให้สินบน ของกำนัลหรือรางวัลต่าง ๆ รองลงมาคือ การทุจริตเชิงนโยบายโดยผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง การใช้ตำแหน่งทางการเมืองเพื่อเอื้อประโยชน์ต่อพรรคพวก การจ่ายเงินเพื่อให้ได้ประโยชน์ในภายหลัง และการใช้ช่องโหว่ของกฎหมายเพื่อเอื้อต่อประโยชน์ส่วนตัว เป็นต้น
นางเสาวณีย์ กล่าวด้วยว่า ความสามารถที่จะทานทนต่อการทุจริตคอร์รัปชันของไทยมีแนวโน้มปรับดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดอยู่ที่ 1.82 เป็นตัวเลขที่ลงมาต่ำกว่าระดับ 2.00 ในรอบ 8 ปี และถือเป็นระดับต่ำที่สุดจากการสำรวจที่ผ่านมา ซึ่งถือเป็นแนวโน้มที่ดี จะดีที่สุดหากสามารถลดระดับลงไปได้ถึง 0 คือเกลียดการทุจริตคอร์รัปชันและไม่สามารถทนต่อการทุจริตคอร์รัปชัน ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ตั้งเป้าหมายที่จะลดลงให้เหลือ 0
นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า เปอร์เซ็นต์การจ่ายสินบนใต้โต๊ะในโครงการลงทุนต่าง ๆ ของภาครัฐ มีแนวโน้มลดลงจากปีก่อนที่เคยได้รับทราบถึงตัวเลขที่มีการจ่ายสูงสุดถึงระดับร้อยละ 25-35 แต่จากข้อมูลเบื้องต้นที่เก็บได้พบว่าส่วนใหญ่มีสัดส่วนการจ่ายสินบนใต้โต๊ะที่ลดลงเหลือหรือตัวเลขสูง ๆ ที่มีการจ่ายก็จะต่ำกว่าร้��ยละ 20-25 จำนวนมากขึ้นถือว่าเป็นการส่งสัญญาณที่ดีในการ แก้ปัญหาการทุจริตคอร์รัปชั่น และการจ่ายสินบนใต้โต๊ะของประเทศ ไทย
อย่างไรก็ดี ค่าดัชนีความรุนแรงสถานการณ์คอร์รัปชันเดือน มิ.ย. 61 อยู่ที่ 48 แม้ว่าจะปรับตัวดีขึ้นจากครั้งก่อนที่อยู่ 42 แต่ก็ยังต่ำกว่า 50 จึงสะท้อนว่าประชาชนยังคงมีความกังวลอยู่ แต่ทั้งนี้ก็หวังว่าสถานการณ์ความรุนแรงจะคลี่คลายลงในปีหน้า สำหรับประสิทธิภาพต่อต้านคอร์รัปชัน พบว่าประชาชนมีความเชื่อมั่นต่อสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ความเชื่อมั่นต่อผู้ประกอบการในการช่วยต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชันอยู่ที่ 5.96 คะแนน